เลือก กทช. รอบสอง ประเด็น''คุณสมบัติ'' ดับฝันล็อบบี้ยีสต์

เลือก กทช. รอบสอง ประเด็น''คุณสมบัติ'' ดับฝันล็อบบี้ยีสต์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
แม้การสรรหาคณะกรรมการ กทช. รอบสองจะปิดรับสมัครไปตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีผู้สมัครจำนวนทั้งสิ้น 54 คน แบ่งเป็นผู้สมัครกรณีกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติพ้นตำแหน่งโดยการจับสลากออกจำนวน 43 คน และ กรณีกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติพ้นตำแหน่งโดยการลาออกจำนวน 11 คน

แต่ทว่าการรับสมัครคณะกรรมการ กทช. รอบสองเริ่มมีการตั้งคำถาม ขึ้นมาแล้วว่ากระบวนการสรรหาไม่โปร่งใส เช่นเดียวกับการสรรหาคณะกรรมการ กทช.รอบแรกที่วุฒิสภาโหวตคะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งพร้อมกับตีกลับให้เริ่มกระบวนการนับหนึ่งใหม่อีกหรือไม่ !

*** รายชื่อผู้สมัครซ้ำซ้อน

หากถอดรหัสคำพูดของ นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที และ ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า คณะกรรมการเริ่มมีความกังวลกับ การสรรหา กทช. อาจจะมีปัญหาอีกครั้ง หลังจากพบว่ามีผู้สมัคร กทช. ใน ชุดที่ลาออกและจับสลากออกซ้ำกัน 4 คน

และเมื่อพลิกดูรายชื่อผู้สมัครทั้งสองชุดปรากฏว่ารายชื่อที่ซ้ำซ้อนกันจริง คือรศ.นิพันธ์ จิตะสมบัติ ,นายเฉลิมพร อุ่นแก้ว และ นายยนต์ นันทิวรรณกุล

ไม่เพียงเท่านี้ยังมีมีบุคคลที่สมัครซ้ำซ้อน 2 กรณี คือ ลำดับที่ 11 นายอายุทธ์ จิรชัยประวิทย์ (กรณีการลาออก) กับลำดับ 2 นายอายุทธ์ จีรชัยประวิตร (กรณีการจับสลาก) เป็นบุคคลคนเดียว ที่สมัครสองตำแหน่ง แต่ต่างตรงที่นามสกุล

แต่ทว่ากรณีรายชื่อซ้ำซ้อนเหมือนกับการสรรหาคณะกรรมการ กทช. ในครั้งที่แล้ว ที่มีผู้สมัครซ้ำกัน 2 คน และถูกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตีกลับมา

แม้นายธานีรัตน์ จะออกมายืนยันว่าผู้สมัครซ้ำกันนั้นไม่ถือเป็นความผิดของผู้สมัคร และคณะกรรมการสรรหาทั้ง 17 คน มีสิทธิเลือกทุกรายชื่อพร้อมประชุมเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครทั้งหมด ก่อนจะเปิดให้แสดงวิสัยทัศน์เพื่อนำเสนอรายชื่อให้ ส.ว. พิจารณาก่อนเดือนส.ค.นี้

รายชื่อผู้สมัครซ้ำซ้อนเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหาแต่ละท่านเรา(นายธานีรัตน์ ศิริปะชนะ)ไม่สามารถคัดชื่อผู้สมัครออกได้ นั่นคือคำให้สัมภาษณ์ของนายธานีรัตน์ ที่บอกกับ ฐานเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม นายธานีรัตน์ ยังบอกเพิ่มเติมว่า ภายในวันศุกร์ (24 กรกฎาคม 2552) คณะกรรมการชุดที่ผู้สมัคร กทช. ลาออกจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาคุณสมบัติรายชื่อผู้สมัครที่ส่งประวัติให้กับกรรมการสรรหาทำการพิจารณา

*** คณะกรรมการขาดคุณสมบัติ

เรื่องของรายชื่อผู้สมัครซ้ำซ้อนกลายเป็นข้อกังวลใจของคณะกรรมการสรรหา กทช. แต่ข้อสงสัยยังไม่จบเพียงเท่านี้ เมื่อ แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า สำหรับคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กรณีจับสลากออก) ในส่วนของผู้แทนสมาคมวิชาชีพด้านโทรคมนาคม นายสุชัย รอยวิรัตน์ ผู้แทนสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ กรณีจับสลากออก ผู้แทนสมาคมวิชาชีพด้านโทรคมนาคม นายวุฒิพร เดี่ยวพานิช ซึ่งเป็นผู้แทนสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้แทนองค์กรเอกชนฯ นายภูเบศ แย้มเกสร ผู้แทนสมาคมนักวิทยุสันติภาพ อาจมีปัญหาในเรื่องของคุณสมบัติ และความโปร่งใส

เพราะคณะกรรมการดังกล่าวมีปมบาดหมางระหว่างผู้แทนสมาคมโทรคมนาคม คือ นายสุชัย รอยวิรัตน์ อดีตอุปนายกสมาคมโทรคมนาคมฯ ชุดที่ 9 ซึ่งคณะกรรมการบริหารชุด 9 มีมติแต่งตั้งให้รักษาการนายกสมาคมแทน นายวุฒิพร เดี่ยวพานิช

แหล่งข่าวยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ส่วนนายวุฒิพร เดี่ยวพานิช หากปัจจุบันไม่มีสถานภาพการเป็นกรรมการ รวมทั้งนายกสมาคม ก็ต้องสิ้นสภาพการเป็นผู้แทน แต่หากนายวุฒิพร เดี่ยวพานิช ไม่สิ้นสภาพการเป็นกรรมการบริหารชุดที่ 10 และสิ้นสภาพจากตำแหน่งนายกสมาคมโทรคมนาคมฯ ก็มีผลให้นายสุชัย รอยวิรัตน์ เป็นอันสิ้นผล เพราะกรรมการบริหารชุดที่ 10 ของนายวุฒิพร เดี่ยวพานิช ไม่มีชื่อนายสุชัย รอยวิรัตน์ เป็นกรรมการบริหาร

สรุปคือ ผู้แทนสมาคมโทรคมนาคมทั้งสองมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ และ ปมขัดแย้งยังลามไปถึง นายภูเบศ แย้มเกสร ผู้แทนสมาคมนักวิทยุสันติภาพ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารสมาคมโทรคมนาคมฯ ชุดที่ 10 และรักษาการเลขาธิการสมาคมโดยการแต่งตั้งของนายวุฒิพร เดี่ยวพานิช ไม่เพียงเท่านี้กรณีดังกล่าวยังลามไปถึงผู้สมัครอีก 1 คน คือ นายธรรมนูญ จุลมณีโชติ ซึ่งรั้งตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารชุดที่ 10 ของนายวุฒิพร เดี่ยวพานิช

ซึ่งเรื่องนี้ ฐานเศรษฐกิจ ได้รับคำชี้แจงจากนายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ ประธานคณะกรรมการสรรหา กทช. ออกมาการันตีว่านายวุฒิพร เดี่ยวพานิช ยังไม่ขาดคุณสมบัติเพราะขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาทางด้านกฎหมาย เพราะนายวุฒิพร เป็นตัวแทนของสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ

***รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ

แหล่งข่าวยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากมีการจัดตั้งคณะกรรมการ กทช.ชุดใหม่เท่ากับว่าคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จแม้ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ยังไม่ได้ถูกจัดตั้ง หากแต่คณะกรรมการ กทช. ชุดนี้มีอำนาจบริหารจัดการเท่ากับ กสทช.สามารถอนุญาตและกำกับดูแลตามมาตรา 80 พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ฉบับเฉพาะกาล เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายในช่วงที่เกิดสุญญากาศยังไม่มี กสช. นั้นได้มีการมอบหมายให้ กทช. ทำหน้าที่ไปก่อนโดยทำการแต่งตั้งอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จัดระเบียบวิทยุชุมชน 7 พันคลื่น เข้าสู่ระบบระเบียบทางราชการ ในระหว่างที่กฎเกณฑ์ทางกฎหมายยังไม่ออก ทุกคลื่นทุกสถานีต้องมาแสดงตนเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นวิทยุชุมชน แล้วจะได้รับสิทธิทดลองออกอากาศเป็นเวลา 300 วัน ใครไม่ขึ้นทะเบียนต่อไปจะถูกดำเนินการทางกฎหมายเฉียบขาด ใครขึ้นทะเบียนมีสิทธิได้รับใบอนุญาตวิทยุชุมชนชั่วคราว 1 ปี

กรรมการชุดใหม่ถือว่าสมบูรณ์ทุกประการเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ประเทศชาติเท่ากับว่า กสทช.เมื่อถูกจัดตั้งขึ้นมาไม่รู้จะทำอะไรแล้วเพราะมีการมอบอำนาจล่วงหน้า และ ขณะนี้มีโต้โผตั้งโต๊ะเจรจาของงบสนับสนุนว่าที่กทช.แล้วแหล่งข่าวกล่าว

และเชื่อได้ว่ากระบวนการสรรหา กทช.จะถูกจับตาโดยเฉพาะเรื่องคุณสมบัติผู้สมัคร และ คุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหา ที่สุดแล้วจะ ซ้ำรอย เหมือนครั้งแรกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook