ARF - การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ARF - การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หนึ่งในการประชุมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 17-23 กรกฎาคม 2552 นี้ก็คือ การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 16 หรือ ARF ซึ่งนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมด้วย สำนักข่าวแห่งชาติ จึงได้นำข้อมูลเกี่ยวกับ ARF มาเสนอ เพื่อให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจและตระหนักถึงการประชุมในครั้งนี้ ARF คืออะไร การประชุม ARF คือ การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ASEAN Regional Forum เป็นการประชุมด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค เอเชีย-แปซิฟิก อันประกอบด้วยสมาชิก 26 ประเทศและอีก 1 กลุ่มประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน (Dialogue Partners) 9 ประเทศกับอีก 1 กลุ่มประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี รัสเซีย อินเดีย สหภาพยุโรป ศรีลังกา ผู้สังเกตการณ์พิเศษของอาเซียน (Special Observer) 1 ประเทศ ได้แก่ ปาปัวนิวกินี และประเทศอื่นในภูมิภาค ARF เป็นผลสืบเนื่องจากมติของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 4 ที่สิงคโปร์ เมื่อปี 2535 โดยผู้นำรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนได้ ประกาศเจตนารมณ์ที่จะแสวงหาเวทีในการนำรัฐสมาชิกเข้ามาเกี่ยวพันในกรอบความร่วมมือทางด้านความมั่นคง และส่งเสริมการหารือด้านความมั่นคงกับประเทศคู่เจรจาหรือ Dialogue Partners (ซึ่งขณะนี้มี 10 ประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และรัสเซีย) โดยการขยายกรอบการหารือที่มีอยู่แล้วระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา ได้แก่ การประชุม ASEAN Post ministerial Conferences (PMC) ซึ่งหารือปัญหาต่างๆ ทั้งในด้านการเมืองและ เศรษฐกิจในระดับโลกออกไปเป็นอีกเวทีหนึ่งสำหรับการหารือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ARF มีการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2537 เป้าประสงค์ของไทยในการประชุม ARF ครั้งที่ 16 สิ่งที่ไทยต้องการจากการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ คือ ให้ที่ประชุมมีมติให้การเจรจาร่าง ARF Strategic Guidance for Humanitarian Assistance สำเร็จลุล่วงภายในเดือนพฤษภาคม 2553 เพื่อให้ที่ประชุม ARF ครั้งที่ 17 ให้การรับรองที่เวียดนาม นอกจากนี้ ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนและ ARF จะทำให้เลขาธิการอาเซียนเป็นผู้ประสานงานอาเซียนสำหรับภูมิภาค ไทยต้องการให้มีการหารือเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาความร่วมมือระหว่างทหารและพลเรือน และการพัฒนาข้อตกลงระหว่างรัฐในการปกป้องสิทธิของกองกำลังของรัฐผู้ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังอ่อนไหวในเวที ARF (เอกสาร Model Arrangement ที่สหรัฐฯ เป็นผู้เสนอ) บทบาทของอเมริกาทื่เพิ่มขึ้นในอาเซียน หลังจากที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งลุกลามจากในสหรัฐอเมริกา สิ่งที่สังเกตอย่างเห็นได้ชัดก็คือ บทบาทของจีนในเวลาด้านต่าง ๆ ของโลก รวมทั้งบทบาทของจีนในอาเซียนด้วย ที่ผ่านมา อเมริกาอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาเซียนมากนัก แต่หลังจากที่เกิดเหตุการณ์นานาประการ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ และสถานการณ์การเมืองภายในพม่าที่สหรัฐแสดงความเป็นห่วงอย่างเห็นได้ชัด แต่ในขณะเดียวกันก็ยังไม่สามารถเข้าไปจัดการปัญหาในพม่าได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นอาเซียนจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สหรัฐหวังว่าจะเข้าไปมีบทบาทให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าได้ ในการนี้นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม ARF ครั้งที่ 16 ณ จังหวัดภูเก็ต อันเป็นการประชุมด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยทางสหรัฐกำลังวิตกเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างเกาหลีเหนือกับพม่า จนกลายเป็นประเด็นที่มีอิทธิพลในการประชุมครั้งนี้ ประเด็นที่น่าจับตามองใน ARF 1. บทบาทของสหรัฐ การประชุม ARF ครั้งที่ 16 นี้ มีประเด็นอีกหลายประการที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับสหรัฐ ในการนี้ สหรัฐแสดงความพร้อมในการสนับสนุนส่งเสริมอาเซียนแก้ปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ ปัญหาเกาหลีเหนือ และปัญหาสถานการณ์ในพม่า และขอให้ไทยมั่นใจในสหรัฐ ที่ยังคงยืนยันดำรงความสัมพันธ์ต่อไปอย่างเข้มแข็ง เพราะเห็นว่าไทยมีศักยภาพที่โดดเด่นในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งคาดว่าต่อไป สหรัฐจะมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเด็นด้านความมั่นคง และยังคงต้องรอดูท่าทีของสหรัฐในด้านการค้ากับทั้งไทยและอาเซียนต่อไป 2. การเมืองในพม่า เป็นประเด็นที่นานาชาติกำลังให้ความสนใจและแสดงความเป็นห่วง โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสถานการณ์ประชาธิปไตยในพม่า ประเทศไทยถูกตั้งความคาดหวังไว้เกี่ยวกับการเข้าไปประสานให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพม่าอยู่พอสมควร เนื่องจากประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพม่ามาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์พายุนาร์กีสถล่มพม่า ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ดำเนินการต่าง ๆ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงทีที่สุด 3. ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับพม่า ถูกจับตามองจากสหรัฐเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความวิตกว่า เกาหลีเหนือจะให้การสนับสนุนพม่าในการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งสองประเด็นมีลักษณะร่วมกันหลายประการในการต่อต้านประชาธิปไตย เช่น การไม่ใช้ระบอบประชาธิปไตยในการปกครองประเทศ ท่าทีแข็งกร้าวต่อนานาประเทศ การเมินเฉยต่อคำเตือนจากทั้งในและนอกประเทศ ฯลฯ ทั้งนี้ แม้ประเทศไทยจะมีความสัมพันธ์อันดีกับพม่า แต่ก็ยังไม่อาจละเลยประเด็นเกี่ยวกับนิวเคลียร์ไปได้ เนื่องจากกระทบต่อประเทศใกล้เคียงพม่าในหลาย ๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจการค้า หรือแม้กระทั่งการกระทบกระทั่งที่อาจเกิดขึ้นได้ 4. เหตุวินาศกรรมในอินโดนีเซียซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ก่อนที่จะมีการประชุม สร้างความตกใจให้กับนานาประเทศทั่วโลก เนื่องจากเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ากลุ่มก่อการร้ายยังไม่หมดหรือเบาบางไปจากอินโดนีเซีย หรือจากโลกนี้เลย แม้ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน ของอินโดนีเซีย สามารถควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศให้สงบได้ แต่เหตุการณ์วินาศกรรมโรงแรมหรูทั้งสองแห่งกลางกรุงจาการ์ต้า จะกลายเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการกลับมาอีกครั้งของกระบวนการก่อการร้าย คาดว่าการประชุม ARF ในวันนี้ เป็นที่น่าสนใจสำหรับนานาชาติ และผลการประชุม ARF ในครั้งนี้น่าจะมีหลายประเด็นที่แตกต่างจากการประชุมแต่ละครั้งที่ผ่านมา อันเป็นภาพสะท้อนศักยภาพอาเซียน และประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนในปัจจุบัน ทั้งนี้สำนักข่าวแห่งชาติจะติดตามผลการประชุม ARF และการประชุมอาเซียนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมานำเสนอต่อไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook