เศรษฐกิจหลัง The Great Recession

เศรษฐกิจหลัง The Great Recession

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คอลัมน์ เศรษฐกิจต้องรู้

โดย ศุภวุฒิ สายเชื้อ

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากการล่มสลายของวาณิชธนกิจ Lehman Brothers เกือบนำความล่มสลายมาสู่ระบบสถาบันการเงินของสหรัฐและยุโรป ซึ่งหากผู้นำกลุ่มจี 7 ไม่สามารถกอบกู้สถานการณ์ได้ในที่สุดเมื่อต้นปีนี้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่สภาวะตกต่ำอย่างรุนแรงเช่นที่ได้เกิดขึ้นในช่วงปี 1929-1938 หรือ the great depression แต่แม้จะหลีกเลี่ยงมหันตภัยดังกล่าวได้ แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความถดถอยทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ จึงถูกเรียกว่าเป็นสภาวะ the great recession

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มมีเสถียรภาพในระดับหนึ่ง และความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ แต่ก็ยังมีปัญหาคาใจอยู่ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นจะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงและรวดเร็วเพียงใด นอกจากนั้นก็ยังต้องประเมินว่าเศรษฐกิจโลกหลัง the great recession จะแตกต่างจากเศรษฐกิจสมัยก่อนวิกฤตในลักษณะใด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถประเมินได้โดยง่าย แต่เสียงส่วนใหญ่สงสัยว่าการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นอย่างเชื่องช้าและขาดความต่อเนื่อง สำหรับเศรษฐกิจหลัง the great recession นั้นผมเชื่อว่ามีประเด็นที่ควรคำนึงถึง 7 ประเด็น ดังนี้

1.ผู้บริโภคในประเทศร่ำรวยจนลง ดังนั้นกำลังซื้อในโลกที่ได้ปรับลงอย่างมากจะฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า เพราะผู้บริโภคในสหรัฐและยุโรปสูญเสียความมั่งคั่งและมีโอกาสตกงานสูง จึงไม่น่าจะกล้าบริโภคเช่นแต่ก่อนได้ ตัวอย่างเช่น หากครอบครัวอเมริกันมีบ้านราคา 4 แสนเหรียญ โดยเป็นหนี้ธนาคาร 350,000 เหรียญ แต่พบว่าราคาบ้านลดลง 25% (ซึ่งราคาบ้านได้ลดลงมากเช่นนี้จริงในเมืองใหญ่ที่มีการเก็งกำไรกันมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา) ดังนั้นจึงมีทรัพย์สินมูลค่าเหลือ 3 แสนเหรียญ แต่ยังเป็นหนี้ธนาคารอยู่ 350,000 เหรียญ นอกจากนั้นอัตราการว่างงานยังเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 10% และหากคำนวณว่าได้มีการลดชั่วโมงทำงานลงอีกก็จะทำให้เชื่อได้ว่าผู้บริโภคมีรายได้ลดลง 15-20% ในขณะเดียวกันธนาคารของสหรัฐได้รับความเสียหายอย่างมาก ทำให้เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อ แปลว่าผู้บริโภคขาดรายได้ กลัวตกงาน หาสินเชื่อยาก และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย ซึ่งน่าจะทำให้การบริโภคฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าใน 4-5 ปีข้างหน้า

2.ผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาจะต้องเพิ่มการบริโภคเพื่อทดแทนการบริโภคของประเทศพัฒนาแล้วที่ปรับลดลง แต่เป็นเรื่องที่ทำได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และหากประเทศกำลังพัฒนายังพยายามที่จะแก้ปัญหาระยะสั้นโดยการกดค่าเงินของตนให้อ่อนตัวลง ก็จะทำให้การขยายขนาดของตลาดภายในทำได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก

3.เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลโดยความร่วมมือของธนาคารกลางที่จะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเป็นจำนวนมากจะมีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง แต่ในขณะนี้นักลงทุนกำลังเริ่มขาดความมั่นใจในศักยภาพของภาครัฐ เพราะการขาดดุลงบประมาณและสร้างหนี้สินเป็นจำนวนมากจะเป็นภาระทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง แม้ปัญหารัฐบาลล้มละลายก็อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ทำให้เกิดการต่อต้านขึ้นมาในระดับหนึ่ง นอกจากนั้นนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษโดยการเพิ่มปริมาณเงินในระบบโดยไม่อิงกับอัตราดอกเบี้ย (quantitative easing) กำลังทำให้เกิดความกังวลในความน่าเชื่อถือของเงินดอลลาร์และทำให้ความเสี่ยงของเงินเฟ้อในอนาคตเพิ่มขึ้น ผลคือความมั่นใจในนโยบายการเงินการคลังจึงกำลังถดถอยลงพร้อมไปกับความมั่นใจว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและมั่นคง

4.ความผิดพลาดของนายธนาคารที่ทำความเสียหายอย่างร้ายแรง ทำให้นักการเมืองมีความชอบธรรมที่จะเข้ามายึดกิจการที่ล้มเหลว ตลอดจนเพิ่มมาตรการควบคุมดูแลกล่าวคือ รัฐบาลจะเข้ามาเป็นเจ้าของและแทรกแซงในธุรกิจต่างๆ มากขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยง 3 ประการ คือ 1.จะบริหารธุรกิจโดยมีนัยทางการเมือง (เช่น สั่งจีเอ็มไม่ให้ขยายโรงงานในต่างประเทศ แม้ว่าต้นทุนการผลิตจะถูกกว่าในสหรัฐ) 2.นักการเมืองจะไม่อยากลดบทบาทและคืนธุรกิจให้กับเอกชน เพราะธุรกิจทำให้นักการเมืองมีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้น 3.อาจมีกระแสให้รัฐบาลออกกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดในการควบคุมและดูแลธุรกิจ ทำให้ขาดความยืดหยุ่น ทำให้ไม่สามารถบริหารธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพได้ในระยะยาว

5.ธนาคารได้รับความเสียหายอย่างมาก แต่ยังไม่ได้รับรู้ความเสียหายทั้งหมด เพราะหากรับรู้ความเสียหายทันทีก็จะเป็นภาระให้กับรัฐบาลต้องนำภาษีประชาชนมาเพิ่มทุน ดังนั้นจึงต้องซ่อนความเสียหายเอาไว้ก่อน (โดยแก้กฎเกณฑ์การประเมินราคาสินทรัพย์ไม่ให้ต้องตั้งราคาตามราคาตลาดปัจจุบัน) และปล่อยให้ธนาคารค่อยๆ เพิ่มทุนผ่านส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อในขอบเขตที่จำกัดไปอีกหลายปี แปลว่าสินเชื่อจะหายากและขาดแคลน

6.วิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาจะเป็นบทเรียนสำคัญ ทำให้นักการเงินและนักธุรกิจกล้าที่จะรับความเสี่ยงลดลง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของธุรกิจและเศรษฐกิจลดลงไปพร้อมกับความต้องการรับความเสี่ยงที่ลดลง

7.หากประเทศกำลังพัฒนาจะต้องเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแทนประเทศพัฒนาแล้ว ก็จะทำให้โครงสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่สิ้นเปลืองกว่าเดิม เช่น ประเทศสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น นั้นใช้น้ำมัน 1 บาร์เรล เพื่อผลิตรายได้ประชาชาติประมาณ 1,500-2,500 เหรียญ แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน นั้นน้ำมัน 1 บาร์เรล สามารถผลิตรายได้ประชาชาติได้เพียง 800 เหรียญ (ประเทศไทยผลิตได้ไม่ถึง 600 เหรียญ) ดังนั้นการฟื้นตัวโดยอาศัยประเทศกำลังพัฒนาจึงน่าจะทำให้ราคาน้ำมันและทรัพยากรอื่นๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ทั้ง 7 ประเด็นที่กล่าวข้างต้นนั้นน่าจะทำให้การฟื้นตัวกระท่อนกระแท่นและเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ช้าลงกว่าแต่ก่อนกล่าวคือ เศรษฐกิจโลกขยายตัวสูงถึง 4.9% ในช่วงปี 2004-2007 ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราสูงติดต่อกันยาวนานที่สุดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ทั้งโดยเฉลี่ยเศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.6% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 1970-2008 ดังนั้นจึงน่าจะเชื่อได้ว่าเศรษฐกิจโลกที่เคยขยายตัว 4.9% ก่อนช่วง the great recession น่าจะขยายตัวเพียง 3.5% หรือต่ำกว่านั้นใน 4-5 ปีข้างหน้าครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook