มาร์คชี้แก้รธน.ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ปัดดองข้อเสนอคกก.สมานฉันท์ฯ เพื่อแผ่นดินหนุนแก้ 4 ประเด็น

มาร์คชี้แก้รธน.ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ปัดดองข้อเสนอคกก.สมานฉันท์ฯ เพื่อแผ่นดินหนุนแก้ 4 ประเด็น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อภิสิทธิ์เปรยแก้รธน.ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด โต้วิทยาเปล่าดองเรื่อง ยันยังไม่คุยส.ส.พรรคร่วมรบ. 4 ส.ค.นี้ พรรคเพื่อแผ่นดินหนุนปรับ 4 ประเด็น มาตรา 190-237-265-266 ที่หอประชุมกองทัพเรือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังได้รับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ให้ทุกพรรคการเมืองไปพิจารณาวิธีการ ขั้นตอน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 3 (ส.ส.ร.3) นายกฯกล่าวว่า เรื่อง ส.ส.ร.ต้องหารือกันอีกครั้ง และจะทำอย่างไรให้ทุกเรื่องเดินได้โดยไม่ไปสร้างปมความขัดแย้งใหม่ขึ้นมา

เมื่อถามว่า นายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสาน (วิป) พรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวหาว่ารัฐบาลดองเรื่องเอาไว้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่มีการดองเรื่องเอาไว้แน่ ตนรับรายงานจากคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม วันที่ 21 กรกฎาคมนำเรื่องเข้าหารือในคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยขอให้นำไปหารือกันในวิปรัฐบาล เพื่อนำกลับมาหารืออีกครั้งก่อนเปิดสมัยประชุมสภาสามัญ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการหารือกับพรรคเมืองได้เมื่อไหร่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้แต่ละพรรคต้องกลับไปพิจารณาก่อน เมื่อเปิดสมัยประชุมสภา ในส่วนของวิป แกนนำพรรคคงมีการมาพูดคุยกัน เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่จะต้องมีคำตอบที่เป็นเหตุและผลในความคิดเห็นทางการเมือง ตนพูดมาตั้งแต่ต้นแล้ว ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านประชามติว่าจะต้องมีการแก้ไข แต่จะแก้ในประเด็นใดและเรื่องไหนที่มีความละเอียดอ่อนจะต้องพยายามเดินหน้าโดยไม่ให้เกิดความขัดแย้งใหม่ขึ้นมา

เมื่อถามว่า ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ จะมีการนัดพูดคุยกับ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและจัดเลี้ยงสังสรรค์ จะถือโอกาสทำความเข้าใจเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่ได้ลงลึกไปถึงขนาดนั้น และไม่ทราบรายละเอียดของงาน

ด้านนพ.อลงกต มณีกาศ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) รองประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ก่อนผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯจะออกมา พรรค พผ.เคยหารือร่วมกันและเห็นว่าควรเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น บางส่วนตรงกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ อาทิ 1.มาตรา 190 เรื่องสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ควรแยกประเด็นให้ชัดเจนว่าเรื่องไหนต้องเสนอต่อรัฐสภา 2.มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรค คิดว่าควรลงโทษเฉพาะกรรมการบริหารพรรคที่กระทำความผิด 3.มาตรา 265 และมาตรา 266 เรื่องการห้าม ส.ส. เป็นเลขานุการรัฐมนตรี ทำให้ขาดการประสานงานระหว่างฝ่ายบริหารกับงานในพื้นที่ และ 4.มาตรา 111 และมาตรา 113 เรื่องที่มา ส.ว. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook