กรมที่ดินจับมือ15หน่วยงานราชการ ลดขั้นตอน-เวลาบริการประชาชนเร็วขึ้น

กรมที่ดินจับมือ15หน่วยงานราชการ ลดขั้นตอน-เวลาบริการประชาชนเร็วขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า จากที่ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) มีนโยบายให้หน่วยงานราชการต่างๆ ลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติงานเพื่อบริการประชาชนลง 30-50% จากปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงงานบริการที่ต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงเดียวกัน หรือข้ามกระทรวง ล่าสุด ก.พ.ร.และกรมที่ดินได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ 15 หน่วยงานราชการ เพื่อลดระยะเวลาการปฏิบัติงานลงเหลือ 45-90 วัน จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลา โดยครอบคลุมงานบริการประชาชน 3 ส่วนได้แก่

1)งานการขอถอนสภาพที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อให้ทบวงการเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน

2)งานการขอสัมปทานตามมาตรา 12 และ

3)งานเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา 9 ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดินของรัฐที่ห้ามบุคคลใดเข้าไปยึดครอบครอง ทำลาย หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นอันตรายแก่การทรัพยากรในที่ดิน โดยทุกหน่วยราชการมีความพร้อมดำเนินการได้ทันที

นอกจากนี้ กรมที่ดินได้วางแผนลดระยะเวลาการให้บริการประชาชนในงานส่วนอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1)งานบริการขออนุญาตจัดสรรที่ดิน และ 2)งานบริการขอจดทะเบียนอาคารชุด เป้าหมายคือทุกหน่วยงานจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 45 วัน จะเริ่มดำเนินภายในปี 2553 เหตุผลเนื่องจากเชื่อมโยงกับหลายหน่วยงาน อาทิ งานพิจารณาขอเชื่อมทางจะเกี่ยวข้องกับ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ

ในการพิจารณาจึงอาจเกิดความล่าช้า แม้ปัจจุบันตามระเบียบกำหนดให้กรมที่ดินต้องดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วันอยู่แล้ว แต่มีข้อยกเว้นกรณีที่หน่วยงานอื่นๆ ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ สามารถชี้แจงเหตุผลกลับไปยังผู้ยื่นขออนุญาต เพื่อยืดระยะเวลาการพิจารณาได้

อธิบดีกรมที่ดินกล่าวด้วยว่า ส่วนความคืบหน้าภายหลังกระทรวงมหาดไทยได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน โดยผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจัดทำสาธารณูปโภคสำหรับโครงการที่ขออนุญาตจัดสรรที่ดินในเขตกรุงเทพฯ เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล หรือเมืองพัทยา ได้แก่ 1)โครงการจัดสรรที่มีแปลงย่อยไม่เกิน 20 แปลง และเนื้อที่จำหน่ายไม่เกิน 2 ไร่ และ 2)การจัดสรรที่ดินในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ที่มีแปลงย่อยไม่เกิน 30 แปลง และเนื้อที่จำหน่ายไม่เกิน 4 ไร่ จะได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำระบบสาธารณูปโภคเช่นเดียวกับโครงการจัดสรรทั่วไป ถึงขณะนี้มีโครงการที่ยื่นขออนุญาตจัดสรรเข้ามากว่า 100 รายแล้ว ตรงตามเป้าหมายที่กรมที่ดินต้องการให้โครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ เข้าสู่ระบบการขออนุญาตจัดสรรที่ดินเพิ่มขึ้น

อนึ่ง 15 หน่วยงานราชการที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ ประกอบด้วย 1)สำนักงาน ก.พ.ร. 2)กรมการปกครอง 3)กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 4)กรมโยธาธิการและผังเมือง 5)กรมพัฒนาที่ดิน 6)กรมทางหลวง 7)กรมทางหลวงชนบท 8)สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 9)สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 10)กรมศิลปากร 11)กองทัพไทย 12)กรมป่าไม้ 13)กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 14)สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 15)สำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook