ญี่ปุ่นดันบิ๊ก ASEAN+3 เติมข้าวคลังสำรอง ปิดประชุม รมต.ต่างประเทศส่งไม้ต่อ AEM

ญี่ปุ่นดันบิ๊ก ASEAN+3 เติมข้าวคลังสำรอง ปิดประชุม รมต.ต่างประเทศส่งไม้ต่อ AEM

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายคาซึโอ โคดามา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน+3 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ได้มีการกล่าวถึงการเพิ่มการสำรองข้าวในโครงการนำร่องระบบสำรองข้าวฉุกเฉินเอเชียตะวันออก หรือ EAERR (East Asia Emergency Rice Reserve) ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 โดยครั้งนี้จีนได้ประกาศสนับสนุนข้าวในสต๊อกกลางเป็นจำนวน 3 แสนตัน

หลังจากก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นได้ประกาศสนับสนุนข้าวตามโครงการดังกล่าวแล้วจำนวน 2.5 แสนตัน และประเทศอาเซียนทั้งหมดรวมกันจำนวน 8.7 หมื่นตัน อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้เกาหลีใต้ยังไม่ได้ประกาศปริมาณการสนับสนุนข้าวเข้ามาอยู่ในคลังสำรองตามโครงการ

โครงการนี้เกิดจากความต้องการทราบถึงจำนวนข้าวสำรองในคลังของแต่ละประเทศ และเพื่อสร้างความมั่นใจว่า ในแต่ละประเทศสมาชิกจะมีข้าวเพียงพอสำหรับกรณีฉุกเฉิน โดยอาจให้การสนับสนุนตามกรณีรายประเทศ เช่น ขณะนี้ญี่ปุ่นบริจาคข้าว 9.5 แสนตันให้ฟิลิปปินส์เก็บไว้ พร้อมกับมอบให้กัมพูชา 380 ตัน และอินโดนีเซีย 380 ตัน

ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน+3 ครั้งที่ 10 วันที่ 22 กรกฎาคม 2552 จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย ระบุว่า รัฐมนตรีต่างประเทศยินดีต่อความคืบหน้าในการดำเนินการตามโครงการนำร่องระบบสำรองข้าวฉุกเฉินเอเชียตะวันออก (East Asia Emergency Rice Reserve-EAERR) และรับทราบข้อตกลงของที่ประชุมรัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้อาเซียน+3 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2551 ที่เวียดนาม ที่เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาของโครงการนำร่องระบบสำรองข้าวฉุกเฉินเอเชียตะวันออกออกไปถึงวันที่ 28 กุมภาพธ์ 2553 และความพยายามที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนากลไกสำรองข้าวฉุกเฉินเอเชียตะวันออกให้เป็นกลไกถาวรภายใต้โครงการ ระบบสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียน+3 (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve-APTERR) และแสดงความยินดีที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศจะสนับสนุนข้าวจำนวน 300,000 ตันสำหรับโครงการ EAERR เพิ่มจากที่ญี่ปุ่นสนับสนุนข้าวจำนวน 250,000 ตัน

ด้านผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและคู่เจรจา (PMC) ครั้งที่ 42 อาเซียนได้หารือกับคู่เจรจาแยกรายประเทศ (PMC+1) และได้ออกแถลงการณ์ของประธาน ระบุว่า ในการหารือระหว่างอาเซียนและจีน ที่ประชุมเห็นพ้องถึงการกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกันในทุกมิติ โดยเฉพาะเอฟทีเออาเซียน-จีนที่ครอบคลุมทุกสาขา และการลงนามในข้อตกลงด้านการลงทุนระหว่างอาเซียน-จีน ที่จะเกิดขึ้นในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ระหว่างวันที่ 12-16 สิงหาคม 2552 ที่กรุงเทพฯ

โดยจีนมีแผนงานจัดเตรียมสินเชื่อทางการค้ามูลค่า 15 พันล้านดอลลาร์ รวมถึงการปล่อยกู้ด้วยเงื่อนไขพิเศษมูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์แก่สมาชิกอาเซียนภายใน 3-5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ที่ประชุมแสดงความชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของจีนในการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการขนส่งระหว่างอาเซียนและจีน รวมถึงการจัดตั้งกองทุนความร่วมมือด้านการลงทุนอาเซียน-จีนมูลค่า 10 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค

ด้านการหารือระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ได้มีการหารือถึง ข้อริเริ่มเพื่อการเจริญเติบโตที่จะนำไปสู่การเพิ่มขนาดเศรษฐกิจในเอเชีย เพื่อเสริมศักยภาพการเติบโตของเอเชียและเพิ่มความต้องการภายในผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (ODA) ที่อยู่ที่ 20 พันล้านดอลลาร์ และการอำนวยความสะดวกด้านการค้าเพิ่มเติมอีก 22 พันล้านดอลลาร์เป็นเวลา 2 ปี นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้สนับสนุนทางการเงิน 62 ล้านดอลลาร์ ในกองทุนบูรณาการญี่ปุ่น-อาเซียน (JAIF) ซึ่งจะช่วยเหลือเร่งด่วนแก่สมาชิกอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ

ส่วนการหารือระหว่างอาเซียนและสหรัฐ ที่ประชุมยินดีที่สหรัฐจะกลับมาโฟกัสอาเซียน รวมถึงการประกาศภารกิจสู่อาเซียนผ่านเอกอัครราชทูตประจำอาเซียนในจาการ์ตา รวมถึงความพยายามที่จะจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐสมัยพิเศษในอนาคต และยินดีที่สหรัฐลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือ (TAC) กับอาเซียน และทบทวนความร่วมมือต่างๆ ระหว่างกัน รวมถึงการดำเนินการเพื่อพัฒนาความตกลงในกรอบการค้าและการลงทุน (TIFA)

ส่วนการหารือกับอินเดียก็เน้นถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างกัน ด้านการหารือกับสหภาพยุโรปได้เน้นถึงการสนับสนุนกระบวนการเข้าร่วมเป็นภาคีใน TAC และที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook