อภิสิทธิ์ขอบคุณชาวภูเก็ต ร่วมใจทำเวทีอาเซียนเรียบร้อย

อภิสิทธิ์ขอบคุณชาวภูเก็ต ร่วมใจทำเวทีอาเซียนเรียบร้อย

อภิสิทธิ์ขอบคุณชาวภูเก็ต ร่วมใจทำเวทีอาเซียนเรียบร้อย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกรัฐมนตรีขอบคุณชาวภูเก็ต ชาวไทย และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ที่ทำให้การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและเวทีความมั่นคงผ่านไปด้วยความเรียบร้อย เผยจากการเดินทางไปจีนทำให้ส่งนักท่องเที่ยวมาไทย

(26ก.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ เช้านี้ว่า ขอบคุณชาวภูเก็ต และชาวไทย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ที่ทำให้การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และเวทีความมั่นคงในภูมิภาคผ่านไปด้วยความเรียบร้อย เป็นการสร้างความเชื่อมั่นรวมทั้งการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัว หลังเกิดเหตุการณ์ที่พัทยาเมื่อเดือนเมษายน

สำหรับสาระการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีความคืบหน้าไปมาก โดยเป้าหมายสำคัญ คือ การเดินหน้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน การจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชน กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างสมาชิก ส่วนเวทีความมั่นคงในภูมิภาคนั้น ไม่ได้คาดหวังว่าทุกฝ่ายจะต้องเห็นพ้องกันทั้งในเรื่องพม่าและเกาหลีเหนือ แต่การจัดเวทีนี้ ทำให้หลายประเทศที่เกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน โดยมีเสียงสะท้อนจากรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ และรัสเซียซึ่งทั้งสองพอใจบทบาทการทำหน้าที่ประธานจัดการประชุมของไทย และยืนยันการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี รวมทั้งให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชีย

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า หลังกลับจากเดินทางไปเยือนประเทศจีน ขณะนี้นักท่องเที่ยวจีนเริ่มได้รับการสนับสนุนจากทางการให้ส่งนักท่องเที่ยวมาไทยได้ และในสัปดาห์หน้า นักธุรกิจจีนจะเดินทางมาไทยเพื่อดูลู่ทางการลงทุน

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ วันนี้ (26 ก.ค.) เวลา 09.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล เผยแพร่ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ดังนี้

ช่วงที่ 1

สวัสดีครับพี่น้องประชาชนที่เคารพรักทุกท่านครับ สัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ทำหน้าที่สำคัญในการเป็นเจ้าภาพในการจัดการ ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนและเวทีความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งนอกเหนือจากการเป็นเจ้าภาพแล้ว ประเทศไทยยังคงทำหน้าที่เป็นประธานของอาเซียนด้วย ในการจัดการประชุมที่ภูเก็ตที่มีขึ้นครั้งนี้ นอกเหนือจากประเทศในกลุ่มอาเซียน ประเทศซึ่งเป็นคู่เจรจาสำคัญ ๆ ซึ่งมีทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย และอีกหลายประเทศแล้ว ก็ยังมีประเทศอื่น ๆ เข้ามาร่วมในการประชุมเวทีความมั่นคงด้วย

สิ่งแรกที่ผมอยากจะต้องขอบคุณคือพี่น้องประชาชนชาวภูเก็ต และพี่น้องประชาชนคนไทย ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพที่ดี ทำให้การประชุมนั้นผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการที่จะสร้างความเชื่อมั่นในแง่ของภาพลักษณ์ของ ประเทศไทย และโดยเฉพาะสำหรับพี่น้องชาวภูเก็ตเอง ก็น่าจะเป็นข่าวดีในแง่ของการที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยวให้เกิดความเชื่อ มั่น และมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น หลังจากที่เราประสบกับปัญหาการสะดุดลงตั้งแต่เดือนเมษายน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่พัทยา นอกจากนั้นคงต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งในส่วนของฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยความมั่นคงทั้งหลายที่ได้ทำงานกันอย่างหนักตลอด 1 สัปดาห์ และทำให้การประชุมผ่านพ้นไปด้วยดี ในแง่ของความราบรื่นของการจัดการ

นอกจากในส่วนนั้นแล้ว เนื้อหาสาระของการประชุมเองก็มีความคืบหน้าไปมาก การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญคือในการเดินหน้าที่จะไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งก็มีความคืบหน้าในเรื่องของการที่จะมีการจัดตั้งกลไกเกี่ยวกับเรื่องของ สิทธิมนุษยชน กลไกที่จะเป็นกลไกที่ระงับข้อพิพาทในกรณีที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน และในส่วนของเวทีความมั่นคงในภูมิภาคเอง แม้ว่าปัญหาเรื่องยากๆ อย่างเช่นเรื่องเกาหลีเหนือ เรื่องพม่า เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะให้ทุกฝ่ายมีความเห็นพ้องต้องกัน แต่ว่าอย่างไรก็ตาม การที่เราได้จัดเวทีนี้ขึ้นมาทำให้หลายประเทศที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทั้งหลาย เหล่านี้ ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ซึ่งเป็นสิ่งซึ่งไม่ได้มีโอกาสมาก่อนหน้านี้

สิ่งที่เป็นเสียงสะท้อนที่ดีคือว่าในระหว่างการประชุม หรือว่าก่อนและหลังการประชุมนั้น ผมได้มีโอกาสพบกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสหรัฐ อเมริกาและทั้งรัสเซีย ซึ่งทั้งสองประเทศได้แสดงความพึงพอใจต่อบทบาทของประเทศไทยในการดำเนินการใน การจัดการประชุม หรือการทำหน้าที่เป็นประธานในครั้งนี้ แล้วยังได้มายืนยันในเรื่องของการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี อย่างสหรัฐฯ ท่าทีที่ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศ นางฮิลลารี คลินตัน ได้แสดงออกตลอดระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทยชัดเจนมากว่า ทางสหรัฐอเมริกานั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็กำลังให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียอย่างเต็ม ที่ และคาดหวังประเทศไทยในฐานะที่เป็นพันธมิตรหรือเป็นมิตรประเทศมายาวนานกว่า 175 ปี ที่จะกระชับความร่วมมือทางด้านต่างๆ ด้วย และในส่วนของความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ นั้น ปลายเดือนนี้ท่านประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ก็เดินทางไปที่สหรัฐอเมริกา เนื่องจากฟิลิปปินส์เองนั้นเป็นผู้ประสานงานในส่วนของอาเซียนกับ สหรัฐอเมริกาด้วย ท่านประธานาธิบดีฟิลิปปินส์โทรศัพท์มาหาผมเมื่อวานนี้พูดคุยกัน ก็ได้แสดงความพึงพอใจกับบทบาทของเราในการประชุมที่ภูเก็ต แล้วได้สอบถามความคิดเห็น ซึ่งผมได้ให้ความเห็นและสรุปเรื่องราวต่างๆ ที่ได้มีการพูดคุยกัน เพื่อประโยชน์ในการที่ทางฟิลิปปินส์เองจะนำไปใช้ในการพูดคุยกับสหรัฐฯ และจะผลักดันความร่วมมือของอาเซียนกับสหรัฐฯ ต่อไปด้วย ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าจะเป็นผลดีอย่างมาก ทั้งในส่วนของประเทศไทย ทั้งในส่วนของอาเซียนโดยรวม

เช่นเดียวกันนะครับการพบปะกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ รัสเซีย ก็มีการพูดถึงการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งกลไกต่างๆ ที่จะทำงานเร่งรัดผลักดันให้เกิดการค้าการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ในฐานะที่รัสเซียก็เป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และกำลังเติบโต ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะเป็นประโยชน์กับธุรกิจไทย กับประชาชนคนไทยไม่น้อยเลยนะครับ การดำเนินงานทางด้านการต่างประเทศตรงนี้ ผมคิดว่ากำลังมีส่วนสำคัญในการที่จะทำให้ความเชื่อมั่นและในเรื่องของการ ท่องเที่ยว สามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

สัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นเดียวกันนะครับ มีเรื่องราวของการเข้ามาเยี่ยมเยียนประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนของจีนเองหลังจากที่ผมเดินทางกลับมาจากจีนนั้น ปรากฏว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา นักท่องเที่ยวจีนเริ่มได้รับการสนับสนุนจากทางการให้สามารถที่จะส่งนักท่อง เที่ยวกลับเข้ามาได้ สัปดาห์ที่ผ่านมาผมยังได้มีโอกาสพบกับชาวจีนซึ่งไปอยู่ในประเทศอาเซียน คือทั้ง 10 ประเทศ รวมทั้งในจีนเองส่วนหนึ่ง ซึ่งเดินทางมาประชุมร่วมกันในประเทศไทยก็หลายร้อยคน และสัปดาห์หน้าผมยังจะมีโอกาสได้พบกับกลุ่มนักธุรกิจจีนอีกกลุ่มใหญ่ ซึ่งหลังจากที่ผมได้เดินทางไปเยือนประเทศจีน ก็ได้ตัดสินใจที่จะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อมาดูลู่ทางในการลงทุนมากยิ่ง ขึ้น เพราะฉะนั้น ตรงนี้ผมคิดว่ากำลังเป็นส่วนสำคัญในการที่จะทำให้เศรษฐกิจของเรานั้น มีโอกาสที่จะฟื้นตัวขึ้นมา โดยแรงผลักดันของการท่องเที่ยว ซึ่งจะกระเตื้องขึ้นมาด้วย

เมื่อพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ก็อยากจะถือโอกาสรายงานนะครับว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกับหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งในส่วนของผู้แทนขององค์กรระหว่างประเทศ ทั้งในส่วนของการที่ผมได้เชิญประชุมหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานสำคัญ ๆ ทางด้านเศรษฐกิจ คือได้มีการประชุมร่วมกับทางกระทรวงการคลัง กับท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และมาดูตัวเลขทางเศรษฐกิจ ผมคิดว่าเราเริ่มเห็นแนวโน้มที่ดี คือนอกเหนือจากเศรษฐกิจโลกเองมีแนวโน้มที่จะมีความเข้มแข็งเติบโตขึ้นในช่วง ครึ่งปีหลัง ปรากฏว่าเรามาไล่ดูตัวเลขเศรษฐกิจที่เป็นตัวเลขรายเดือน สิ่งที่น่าดีใจคือพบว่าหลังจากที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ถ้าเทียบเดือนต่อเดือนมีลักษณะของการติดลบมาต่อเนื่อง หลังจากที่เกิดวิกฤตตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว มาในเดือนมิถุนายนนี้ปรากฏว่าตัวเลขต่าง ๆ ถ้าเทียบกับเดือนพฤษภาคมเริ่มเป็นบวก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดัชนีการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นดัชนีทางด้านการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการส่งออกเอง ถ้าเทียบเดือนต่อเดือน ก็กลับมาเป็นบวก

นอกจากนั้นการสำรวจความเชื่อมั่นทั้งของผู้บริโภค ทั้งของธุรกิจ ก็มีแนวโน้มที่จะขยับตัวสูงขึ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าขณะนี้เราเริ่มเห็นสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งก็ดูจากทั้งเรื่องของตัวเลขการเติบโตต่าง ๆ ที่ได้พูดมาแล้ว การใช้กำลังการผลิต ซึ่งตรงนี้เป็นผลดีกับเรื่องของการสร้างงานด้วย เพราะว่าก่อนหน้านี้คงจำกันได้ว่าเราวิตกกังวลกันมากว่าตัวเลขการจ้างงาน หรือปัญหาการว่างงานจะเป็นปัญหาที่รุนแรงมาก แต่ว่าในขณะนี้ถ้าหากว่าเรามองเห็นชัดเจนนะครับว่าเศรษฐกิจไม่น่าที่จะตกต่ำ ไปมากกว่านี้ และเริ่มที่จะทรงตัวหรือเริ่มขยับตัวขึ้น ก็จะทำให้แรงกดดันในเรื่องของปัญหาการจ้างงานลดลงไป ทั้งหลายทั้งปวงนี้ยืนยันนะครับว่าสิ่งที่ผมได้เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจที่จะติดลบ 3 ไตรมาสแรก น่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 4 ขณะนี้การประมาณการของหน่วยงานต่าง ๆ ก็ยังเป็นไปตามแนวทางนี้ จริงอยู่ครับในช่วงกลางสัปดาห์มีการบอกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นปรับลดตัว เลขเศรษฐกิจทั้งปีลง แต่ว่าท่านผู้ว่าการฯ ได้คุยกับผมว่า ปัจจัยที่ปรับลง เพราะว่าในไตรมาสแรกเศรษฐกิจติดลบมากกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยคาดการณ์ ไว้ แต่ว่าถ้าดูตัวเลขในแง่ของเดือนมิถุนายนแล้วก็ยังมีความมั่นใจว่าการชะลอตัว ของเศรษฐกิจจะค่อย ๆ ลดลงโดยลำดับ และจะกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 4

ช่วงที่ 2

ผู้ดำเนินรายการ (นายประสาน อิงคนันท์) สวัสดีครับกลับเข้าสู่รายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ นะครับ วันนี้ผมได้รับเกียรติจากท่านนายกฯ มาทำหน้าที่สัมภาษณ์ดำเนินรายการทั้งช่วงนี้และช่วงหน้าด้วยนะครับในการลง พื้นที่กับท่านนายกฯ สวัสดีครับท่านนายกฯ ครับ

นายกรัฐมนตรี สวัสดีครับ

ผู้ดำเนินรายการ ครบรอบ 6 เดือนของรัฐบาล มีคนใกล้ชิดทักท่านนายกฯ ไหมครับว่า 6 เดือนที่ผ่านมาเหมือนเดิมหรือว่าแก่ขึ้นหรือเปล่าครับ

นายกรัฐมนตรี คนเราก็ต้องแก่ขึ้นนะครับ คงไม่สามารถหยุดเวลาได้ แต่ว่ารู้สึกว่าอ้วนขึ้นครับ

ผู้ดำเนินรายการ อ้วนขึ้นนะครับแสดงว่ายังกินได้อยู่นะครับ ยังรับประทานได้อยู่

นายกรัฐมนตรี ได้ครับ แต่ว่าไม่ค่อยมีเวลานะครับ จริงๆ ก็ยังแปลกใจว่าทำไมอ้วนขึ้นมา เพราะว่าจริงๆ บางวันมื้อกลางวันก็ไม่ได้ทาน ข้าวเช้าปกติก็ไม่ได้ทานอยู่แล้ว

ผู้ดำเนินรายการ ถ้าเปรียบว่าเหมือนท่านนายกฯ เป็นกัปตันเรือ พาเรือลงทะเลในช่วงที่คลื่นลมกำลังเยอะ ๆ 6 เดือนที่ผ่านมามองทะเลรอบๆ ข้างเป็นอย่างไรครับ มองสถานการณ์บนเรืออย่างไร มองว่า...

นายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าดีที่สุดก็คือลองนึกย้อนกลับไปนะครับ ประมาณปลายปีที่แล้ว ที่บ้านเมืองก็เรียกว่ายุ่งเหยิงวุ่นวายพอสมควร และก็ขณะเดียวกันเราก็กำลังตกใจกันว่าเศรษฐกิจโลกเข้ามากระแทกเศรษฐกิจไทย แรง ผมเข้ามานี้ผมว่า 2 สิ่งที่อยู่ในใจคนคืออยากเห็นบ้านเมืองสงบ และอยากเห็นเศรษฐกิจสามารถที่จะฟื้นตัวได้ ในแง่ว่าบ้านเมืองสงบนี้แน่นอนครับ 6 เดือนผ่านมาก็ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ แต่ในขณะนี้ก็คงจะรู้สึกได้ว่าบ้านเมืองเราก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น แต่ว่าผมไม่ได้ประมาทและก็ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่รู้ว่ายังมีปมความขัดแย้งต่างๆ อยู่ ก็จะเดินหน้าค่อยๆ คลี่คลายไป แต่ในแง่ของเศรษฐกิจนี้อย่างที่เมื่อสักครู่นี้ที่เล่าให้ฟัง เราก็พูดตั้งแต่ต้นว่าจะพยายามให้มันกลับมาเป็นบวกปลายปี ขณะนี้การประเมินทุกอย่างก็เป็นอย่างนั้นอยู่ และหลายเรื่องซึ่งคนเคยกลัวกันเมื่อตอนที่ผมเข้ามา บอกว่าการว่างงานจะพุ่งขึ้นไปถึง 2 ล้านคนถึงอะไรนี้ ผมคิดว่าขณะนี้ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นแล้วนะครับ แต่แน่นอนก็ยังมีงานบางเรื่องที่เป็นงานทางด้านเศรษฐกิจในเชิงนโยบาย ที่ต้องทำเพิ่ม

ผมเกริ่นไว้แล้วก่อนหน้านี้มีเรื่องสินเชื่อ ซึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา ท่านรองนายกฯ กอร์ปศักดิ์ฯ ท่านรัฐมนตรีฯ กรณ์ฯ ก็ได้เชิญธนาคารรัฐต่างๆ มา แล้วก็เริ่มกำหนดเป้าหมายในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ เพราะว่าตอนนี้พอเศรษฐกิจเริ่มทรง หรือว่าตัวเลขต่าง ๆ เริ่มเป็นบวกมากขึ้น ความกังวลวิตกกังวลเรื่องหนี้เสียมันจะลดลง เพราะฉะนั้นการเร่งเป้าหมายตรงนี้ก็จะทำได้มากขึ้น เรื่องที่สองคือเรื่องของค่าเงิน ซึ่งเราก็บ่นกันว่ามันแข็งจนทำให้กระทบการส่งออกหรือไม่ แต่ว่าเราก็ต้องยอมรับว่าขณะนี้ 6 เดือนผ่านไป การเกินดุลการค้ามันเกินดุลเยอะมากนะครับ เพราะว่าส่งออกลด แต่ว่านำเข้าลดมากกว่า ก็เลยทำให้มีแรงกดดันให้ค่าเงินแข็ง ซึ่งตรงนี้ก็ได้มีการทำความเข้าใจกันพูดคุยกับทางกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ว่าการบริหารจัดการในเรื่องของเงินโดยเฉพาะเรื่องของเงินกู้ต่าง ๆ นี้ก็จะใช้วิธีการซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินไม่ให้แข็งขึ้น เช่น ขณะนี้กำลังไล่ดูครับว่าหลายโครงการซึ่งจะต้องกู้เงินต่างประเทศเข้ามาก็ เปลี่ยน กู้ในประเทศ เพราะมีเงินในประเทศอยู่เยอะ แล้วก็ค่อยไปแลก หรือว่าถ้ากู้ต่างประเทศเข้ามาก็มาพักไว้ก่อน เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการที่จะลดแรงกดดันต่อค่าเงิน

เพราะฉะนั้นถามผมในภาพรวมนี้นะครับ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมือง ก็เป็นไปในแนวทางซึ่งเราได้วางไว้ แต่จะบอกว่าพอใจไหม บอกพอใจไม่ได้ ผมจะไม่พอใจจนกว่าเศรษฐกิจกลับมาเป็นบวก ผมจะไม่พอใจจนกว่าเรามีความสบายใจว่าความขัดแย้งทางการเมืองได้คำตอบสุดท้าย แล้ว ซึ่งมันยังไม่ได้ เราก็อยู่ในช่วงของการพิจารณารายงานของคณะกรรมการของสภาฯ มา ขณะเดียวกันก็ต้องบอกว่าแม้ว่ามีวิกฤตสองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ 6 เดือนที่ผ่านมาเราก็ทำอีกหลายเรื่อง ซึ่งคนพูดกันมานานว่าอยากให้ทำ หลายคนบอกจะทำแต่ก็ไม่ได้ทำ เช่น เรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เช่น เรื่องของการเรียนฟรี เช่น เรื่องของการที่จะให้ขวัญกำลังใจ อสม. อย่างนี้เป็นต้น พูดกันมานานแต่ไม่ได้ทำ ตอนนี้ทำแล้ว นอกจากนั้นที่สำคัญก็คือว่า การปูทางไปสู่การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจสังคมในระยะยาว ก็ไม่ได้มีการ พูดง่าย ๆ ว่าลืมไป ปฏิรูปการศึกษาก็เดิน ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทำเรื่องของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ Creative Economy ก็ทำ กำลังทำระบบสวัสดิการ ระบบการออม แก้ปัญหาเรื่องที่ทำกิน ด้วยการเอาระบบใหม่เข้ามา และก็ที่อยู่อาศัยที่เราไปลงพื้นที่กัน พวกนี้ก็เดินหมด

แล้วนอกจากนั้นครับปรากฏว่า คือมีคนบอกว่าเห็นข่าวผมไปเปิดงาน ไปปาฐกถาเยอะ ที่จริงผมอยากจะบอกนะครับว่าผมทำงานแต่ละวันนี้ ไม่ได้ไปละเลยเรื่องอื่นครับ ผมยืนยันได้เลยว่าการประชุม การสั่งการ การติดตามข้อมูล ผมยืนยันได้ว่าทำไม่น้อยกว่าผู้นำท่านอื่น ๆ แน่นอน เพียงแต่ว่า คนที่ติดตามผมทำงาน ทราบนะครับว่าผมเริ่มทำงานเช้า เพราะฉะนั้นการที่ไปงานเปิดงาน ในอดีตอาจจะ 1 งาน ผมก็ทำให้ได้สัก 2 แต่ว่าเช้าก็ประชุมได้ บ่ายก็ประชุมได้ ช่วงกลางวันก็เชิญผู้เกี่ยวข้องมา ทำได้ตลอดเวลาครับ และยังมีแรงที่จะทำอยู่ ก็ตั้งใจจะทำ ผมยกตัวอย่างนะครับว่า กรรมการที่ในอดีต นายกรัฐมนตรีไม่เข้ามาดูแลด้วยตัวเอง ผมเข้ามาดูเยอะ เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ เด็กเยาวชน กรรมการบางกรรมการไม่ประชุมมา 2 ปี ผมก็ต้องมารื้อฟื้น เช่น กรรมการโรคเอดส์ เพิ่งประชุมกันไปนี้ เพราะว่า 2 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์เรื่องเอดส์ของเราก็แย่ลง เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็จำเป็นจะต้องเข้าไปดูแลแก้ไข เพราะฉะนั้นก็อยากจะให้ความมั่นใจว่าผมทุ่มเททำงานเต็มที่ แต่ว่าปัญหานี้ผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชนเข้าใจอยู่แล้วว่า สถานการณ์หนักหน่วงพอสมควร ผมก็จะเดินหน้าทำอย่างเต็มที่ต่อไป และก็ยินดีรับฟังเสียงสะท้อนต่าง ๆ เพื่อที่จะปรับปรุงการทำงาน

ผู้ดำเนินรายการ ผมอยากจะถามท่านนายกฯ ในฐานะประชาชนคนหนึ่งในประเทศไทย ผมเข้าใจว่างานทางเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องก็เดินหน้าต่อไป แต่ในเชิงคนที่ตื่นมาแล้วอ่านหนังสือพิมพ์ตอนเช้าๆ ก็จะเห็นบนหน้าหนังสือพิมพ์มีแต่เรื่องของความขัดแย้งบ้าง มีเรื่องการเมืองบ้าง ผมเลยอยากจะรู้ว่าจริงๆ แล้ว ทุกวันนี้ที่ผ่านๆ มา 3 ปีที่ผ่านมา การเมืองเป็นความขัดแย้งร่วมของคนในชาติ ท่านนายกฯ มองว่าในอนาคตข้างหน้า อะไรจะเป็นจุดศูนย์รวมร่วมกันสำหรับคนทั้งประเทศในการที่จะจัดเข้ามา เห็นในสิ่งที่เหมือนกันและนำพาประเทศไปในทิศทางเดียวกันได้ครับ

นายกรัฐมนตรี คือผมคิดว่าพอมันมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งแตกต่างรุนแรงนี้ ผมคิดว่าเราก็ทำให้หลายคนมีจุดยืนหรือท่าที ซึ่งค่อนข้างที่จะกร้าวใส่กันอยู่นะครับ และหลายเรื่องพอยิ่งเดินไปๆ คล้ายๆ มันตอกย้ำความแตกต่างความขัดแย้งตรงนี้ สิ่งที่ผมพยายามทำคืออย่างนี้ครับ ประการแรก ผมต้องขีดวงก่อน ขีดวงก็คือว่าผมยืนยันว่าความขัดแย้งจะต้องเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการ เมือง อย่าได้ลุกลามไปถึงเรื่องของสถาบันหลักของชาติ อย่าได้ลุกลามไปถึงเรื่องของสถาบันที่จะต้องดำรงความเป็นกลางเช่นศาลอะไรต่างๆ ก็พยายามอย่างเต็มที่ตรงนี้ที่จะขีดวง และหลังเมษายนมาก็ดูว่าน่าจะดีขึ้นมาระดับหนึ่งนะครับ

ประการที่สอง ผมคิดว่าคนไทยต้องทำความเข้าใจเหมือนกันว่า ที่จะหวังว่าอยู่ดี ๆ ทุกคนมาเห็นพ้องต้องกัน อย่าเรียกว่ารักกันไม่รักกันนะครับ แต่ว่าบอกว่าเห็นเหมือนกันนี้ ในเรื่องหลายเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าสังคมอื่นๆ ก็เหมือนกันนะครับ ไม่ใช่ว่าเขาจะเห็นดีเห็นงามเห็นพ้องต้องกันเหมือนกันในทุกเรื่อง แต่สิ่งที่เรา ผมพยายามจะทำคือว่า ผมเป็นคนที่อยู่ในฝ่ายที่บอกว่ามีอำนาจ ผมยอมรับความแตกต่าง คือในอดีตนี้ความขัดแย้งที่มันรุนแรงขึ้นส่วนหนึ่งก็เพราะว่า มันมีความพยายามที่จะไปปิดกั้น ไปข่มขู่ ไปคุกคาม ฝ่ายที่อาจจะอยู่ตรงข้าม อันนี้จะไม่มี ผมยืนยันว่าไม่มีการทำเด็ดขาด แล้วขณะเดียวกันนี้ก็ต้องค่อยๆ ทำให้ทุกฝ่ายเริ่มมายอมรับว่าเวลาที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างนี้ มันต้องมีวีการที่เหมาะสม ว่าจะคลี่คลายความแตกต่างนั้นได้อย่างไร ถ้าผมกับคุณจะมาเถียงกันว่าคนนั้นทำถูกหรือทำผิด ถ้ามันเป็นเรื่องกฎหมายนี้ ก็ต้องปล่อยให้กระบวนการของกฎหมายแล้วทำตรงไปตรงมา ตำรวจ อัยการ ศาล จะต้องเป็นคนว่า แล้วเราต้องยอมรับ แต่ว่าถ้าหากว่ากระบวนการตรงไหนมันบิดเบี้ยว ฝ่ายบริหารก็จะเข้าไปดูแล อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ว่าถ้าเรามาเถียงว่าถูกหรือผิดกฎหมาย แล้วเรามาใช้บอกว่าฝ่ายใครมีพวกมากกว่า อย่างนี้สังคมก็จะอยู่ไม่ได้

ในทางกลับกันเรื่องทางการเมือง เรื่องนโยบาย เรื่องอะไรต่างๆ ก็ว่ากันไปตามกระบวนการของสภาฯ สภาฯ ก็มีเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อย ลงมติกันไป จะผลักดันกฎหมาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook