ลักษณนาม

ลักษณนาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ช่วงนี้คนในประเทศไทยกำลังให้ความสนใจกับลูกแพนด้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่ เช่น เดียวกับที่ประเทศออสเตรเลียก็ให้ความสนใจกับลูกช้างซึ่งเป็นช้างไทยในสวนสัตว์ทารองก้า ทั้งแพนด้าและช้างเป็นสัตว์ที่ใช้ลักษณนามต่างกัน

แพนด้ามีลักษณนามเหมือนกับสัตว์ทั่วไปคือ ตัว แต่ ช้าง เป็นสัตว์ที่มีลักษณนามแตกต่างกันไป เช่น สมมุติว่าถ้าพบช้างป่า ลักษณนามที่ใช้กล่าวถึงจะเป็นพบช้าง ๑ โขลง (ไม่ใช้ว่า ฝูง) มีจำนวน ๙ ตัว เมื่อนำช้างเหล่านั้นมาใช้งานตามบ้าน ช้างจะมีลักษณนามเปลี่ยนเป็นช้าง ๙ เชือก แต่ถ้าช้างนั้นขึ้นระวางเป็นช้างหลวง ลักษณนามก็จะเปลี่ยนเป็นช้าง ๙ ช้าง

เช่นเดียวกันกับม้า ม้าป่าหรือม้าบ้านใช้ลักษณนามว่า ตัว แต่ถ้าเป็นม้าหวงที่ขึ้นระวางใช้ลักษณนามว่า ม้า

หลายคนยังอาจเข้าใจสับสนกับการใช้ลักษณนามของสิ่งต่าง ๆ โดยเข้าใจว่าการนับเป็นลักษณนาม จึงขอนำตัวอย่างจากคำถามที่มีผู้สอบถามมาว่าจะใช้ลักษณนามของตราประทับว่าอย่างไร ตราประทับที่ถามนี้คือการประทับเครื่องหมาย เช่น ตามร้านค้าหรือสถานบริการหลายแห่งจะมีบัตรที่ทำเป็นช่องตารางมอบไว้ให้ เมื่อเราซื้อของมีจำนวนเงินครบตามที่กำหนด ทางร้านจะประทับเครื่องหมายที่ทำไว้เฉพาะในช่องตารางนั้น การประทับตราจึงต้องแยกเป็นตราประทับที่ใช้เป็นเครื่องหมายมีลักษณนามเป็น อัน คือร้านค้าอาจทำตราประทับนี้หลายอัน ส่วนตำแหน่งของตราที่ประทับลงบนบัตรใช้ ลักษณนามว่า ช่อง หรือ แห่ง ส่วนจำนวนครั้ง ที่ประทับไม่ใช่ลักษณนามแต่เป็นกริยาจึงใช้เป็นจำนวนว่าประทับกี่ ครั้ง

ขอยกตัวอย่าง บุหรี่ อีก ๑ ตัวอย่างเพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น บุหรี่ใช้ลักษณนามได้ทั้ง ตัว และ มวน หรือเรียกตามลักษณะบรรจุภัณฑ์เป็น หีบ ซอง หรือ ห่อ ก็ได้ เมื่อสูบบุหรี่เป็นกริยาใช้เป็นจำนวนนับว่าจุดหรือสูบกี่ ครั้ง ครั้งละกี่ตัวหรือกี่มวน

สำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อข้องใจในการใช้ภาษาไทยติดต่อได้ที่ ราชบัณฑิตยสถาน โทร. 0-2356-0466-70 หรือทางอินเทอร์เน็ตที่ http://www.royin.go.th

พัชนะ บุญประดิษฐ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook