กมธ.ปปช.สภาจี้''กอร์ปศักดิ์'' สอบทุจริตตู้น้ำหยอดเหรียญ

กมธ.ปปช.สภาจี้''กอร์ปศักดิ์'' สอบทุจริตตู้น้ำหยอดเหรียญ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สพช.เจ้าของโครงการชุมชนพอเพียงยอมรับพบทุจริต3รูปแบบ มีไอ้โม่งทำโครงการให้ชาวบ้านเซ็นชื่อ เมื่อได้รับงบประมาณกลับไปใช้ผิดวัตถุประสงค์และไม่ผ่านการทำประชาคม ด้านประธานกรรมาธิการป.ป.ช.สภา เร่งรองนายกฯกอร์ปศักดิ์ ตั้งกรรมการสอบสวนทันที ไม่ต้องรอข้อมูลฝ่ายค้าน

กรณีที่ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย เคลื่อนไหวจะยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสของตู้น้ำหยอดเหรียญพลังงานแสงอาทิตย์ ตามโครงการชุมชนพอเพียงในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมานั้น

แหล่งข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาชุมชน (สพช.) แจ้งว่าได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสุ่มตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนความไม่โปร่งใสในการดำเนินโครงการชุมชนพอเพียงทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดแล้วพบปัญหาเกิดขึ้นจริง 3 รูปแบบ คือ 1. ปรากฏมีกลุ่มคนบางกลุ่มเข้ามาทำหน้าที่จัดทำโครงการในขั้นตอนเสนอโครงการแทนชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วมแค่ลงชื่อรับรอง 2.มีหลายชุมชนเสนอโครงการเข้ามาแบบหนึ่ง พอได้รับอนุมัติงบประมาณแล้วกลับนำงบประมาณไปใช้อีกแบบหนึ่ง และ 3.การเสนอโครงการไม่ผ่านการทำประชาคมอย่างแท้จริง แต่เป็นแค่การหารือเฉพาะกลุ่ม

จากนี้ไป สพช.จะตรวจสอบเชิงลึกว่าใครเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ ในส่วนชาวบ้านซึ่งมีทั้งถูกหลอก และจงใจร่วมทุจริตด้วยนั้น ในกลุ่มแรก สพช.จะหาทางช่วยเหลือหากมีคดีความฟ้องร้องเกิดขึ้นและสิ่งที่เราเป็นห่วงขณะนี้คือชุมชนที่ยังไม่เสนอโครงการขึ้นมา และอาจมีกลุ่มคนเข้าไปสวมรอย ดังนั้น สพช.จะระดมคนเข้าไปให้ความรู้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทั้ง 3 ลักษณะขึ้นอีก

ด้านนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ประธานคณะกรรมาธิการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขณะนี้ส.ส.พรรคเพื่อไทยยังไม่นำข้อมูลมาให้ กมธ. ป.ป.ช.ตรวจสอบงบโครงการชุมชนพอเพียงทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ขณะเดียวกันมองว่าหากนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี จริงใจที่จะแก้ไขปัญหา ทุจริตจริงก็ควรตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว ไม่ใช่รอให้ฝ่ายค้านส่งข้อมูลมาอย่างเดียว

ขณะที่แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า ได้รับข้อมูลว่ามีกลุ่มอิทธิพลกดดันชุมชนทั่วประเทศในลักษณะบังคับซื้อสินค้าซึ่งไม่มีความจำเป็น สำหรับชุมชน และเป็นสินค้าไม่มีประสิทธิภาพ มีราคาสูง เช่น เครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องผลิตปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ เตาเผาขยะ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ล้วนแล้วแต่มาจากบริษัทในกลุ่มเดียวกัน หากข้อมูลดังกล่าวเป็นความจริง ถือเป็นการกระทำที่บิดเบือนวัตถุประสงค์โครงการอย่างร้ายแรง เพราะโครงการต้องการให้ประชาชน คิดเอง-ทำเอง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น แน่นอนว่ารายได้ส่วนนี้ไม่ได้ตกอยู่กับเศรษฐกิจระดับฐานราก

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ยอมรับเช่นเดียวกันว่าการทุจริตตามโครงการชุมชนพอเพียง ในหลายๆจังหวัดมีลักษณะที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกัน จากเดิมที่ตั้งใจจะยื่นหนังสือให้มีการตรวจสอบโครงการชุมชนพอเพียงเฉพาะกรุงเทพฯนั้น จึงต้องการจะยื่นให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสทั้งโครงการ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวมเอกสาร หลักฐานและข้อมูลต่างๆเพื่อชี้แจงและให้ง่ายต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานมากที่สุด โดยคาดว่าจะสามารถยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. และดีเอสไอ ได้ในสัปดาห์หน้า

ความไม่โปร่งใสที่เห็น ยกตัวอย่างเช่น ใน 10 ชุมชน โครงการที่เกิดขึ้นประมาณ 7-8 ชุมชนเป็นโครงการเหมือนๆกัน ซึ่งหากเหมือนกันแค่ 2-3 ชุมชนคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และส่วนใหญ่ก็ไม่มีการทำประชาคมก่อนและการทุจริตก็ไม่ได้มีแค่นักการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่แทบจะทุกพรรคทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook