กูรูย้ำทางรอดศก.ไทย จี้ดูแลค่าเงินบาท ชูโรงส่งออก-ท่องเที่ยว

กูรูย้ำทางรอดศก.ไทย จี้ดูแลค่าเงินบาท ชูโรงส่งออก-ท่องเที่ยว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2552 (FPO Symposium 2009) ซึ่งหัวข้อที่กำหนดในปีนี้ เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน คือ ทางรอดเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลก

โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัทแอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการ Sasin Institute for Global Affairs สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

**** ''โกร่ง'' ฟันธงศก.ไม่ฟื้นเร็ว

เริ่มต้นคนแรกด้วย ดร.วีรพงษ์ ฟันธงว่า อย่าหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็ว แต่คงกองกับพื้น พอขึ้นแล้ว ก็ลงมากองใหม่ โดยวัฏจักรเศรษฐกิจจะลง 6 ปี และขึ้นอีก 6 ปี ดังนั้นจึงอยากเห็นว่ารัฐบาลมองแนวโน้ม 4-5 ปีข้างหน้าไว้อย่างไร มีเป้าหมายจะทำอะไร โดยที่เป้าหมายต้องมีจำนวนน้อยกว่าเครื่องมือ หรือหากเป้าหมายมากกว่าเครื่องมือ ก็ต้องจัดลำดับความสำคัญและต้องบอกให้ธุรกิจรับทราบว่ารัฐบาลมียุทธวิธีอย่างไร

อยากเห็นจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนของรัฐบาล และแปรเป็นมาตรการที่ชัดเจน มีกรอบเวลาเพื่อแสดงว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง หรือปัญหาไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ ดร.วีรพงษ์กล่าว พร้อมกับชี้ว่าให้ลืมไปเลยว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะฟื้นตัวเร็วและดึงให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว เพราะแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯยังไม่สะท้อนความเป็นจริง และมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีก โดยขณะนี้ การเงินสหรัฐฯเข้าสู่กับดักสภาพคล่องแล้ว กรณีของไทยจึงต้องหันมาทางจีนมากขึ้น

****จี้ดูแลค่าเงินบาท

รวมทั้งค่อนข้างชัดว่า เรา (ไทย)ยังต้องพึ่งภาคส่งออกและท่องเที่ยว ซึ่งในส่วนของภาคส่งออกนั้นยังต้องใช้เวลา แต่ที่สำคัญ คือ ต้องแก้ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่า โดยขณะนี้เป็นเรื่องที่น่ากลุ้มใจมากที่ ธปท.บอกว่า ค่า เงินบาทไม่เกี่ยวกับส่งออกและท่องเที่ยวเลย

นอกจากนี้ ดร.วีรพงษ์ยังได้กล่าวว่า ยอมรับว่า วิกฤติครั้งนี้ไม่มีในตำราเศรษฐศาสตร์ เพราะที่สอนกันมาในอดีตนั้น ส่วนมากเป็นเศรษฐกิจปิด แต่โลกทุกวันนี้การเงินเปิด การค้าระหว่างประเทศมีอิทธิพลน้อยกว่าการเคลื่อนย้ายของเงินเพื่อเก็งกำไร

**** ''ศุภวุฒิ''ห่วงหนี้ภาครัฐพุ่งสร้างปัญหา

ทางด้าน ดร.ศุภวุฒิ แสดงความเป็นห่วงต่อแนวโน้ม 4-5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจโลกอาจขาดภูมิคุ้มกัน เพราะรัฐบาลของทุกประเทศเป็นหนี้เพิ่มขึ้นเหมือนกันหมด เป็นผลจากการที่สหรัฐฯชวนให้ประเทศต่างๆแก้ปัญหาโดยที่รัฐบาลเข้าไปแบกรับภาระหนี้แทนภาคเอกชน

ยกตัวอย่าง การประเมินตัวเลขโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์หนี้ของภาครัฐของประเทศพัฒนาแล้วจะเพิ่มขึ้น 17-20% ในแต่ละปี หรือหนี้สาธารณะของกลุ่มจี 20 ที่จะเพิ่มเป็น 100% ของจีดีพีในปี 2011 และปี 2012 เป็นต้น โดยที่แนวทางเหล่านี้อาจถือเป็นยุทธศาสตร์ของทางการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด The Great Depression แต่เป็นแค่ The Great Recession แต่รัฐบาลก็ต้องบริหารหนี้สินให้ดี ไม่เช่นนั้นจะเป็นต้นตอของความผันผวนในอนาคต

ดร.ศุภวุฒิ ยังได้ประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นลักษณะตัว W เพราะนอกจากหนี้สินภาครัฐที่อาจสร้างความผันผวนในอนาคตแล้ว การบริโภคยังฟื้นตัวช้ากว่าเดิมโดยต้องทำใจว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวลดลง 1% (ปี 2004-2007 เศรษฐกิจโลกโตที่ 4.9% ) หรือในอีก 4 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจโลกจะโตประมาณ 3.5% และการเปลี่ยนขั้วในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากประเทศที่พัฒนาแล้วมาเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีผลให้ต้องใช้

ดร.ศุภวุฒิตั้งข้อสังเกตในการมองภาพเศรษฐกิจโลก คือ 1. หลายประเทศเริ่มไม่แน่ใจว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะเป็นเงินสกุลหลักของโลกได้หรือไม่ เพราะมีเรื่องของผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง จากการที่สหรัฐฯมีภาระหนี้สูงมาก และ 2. ปัญหาของผู้สูงอายุในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในกลุ่มเบบี้บูมที่ยังเป็นภาระทางการคลังเพิ่มให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ประมาณการกันว่าภาระประกันสังคมและสวัสดิการที่จะให้แก่คนกลุ่มนี้คิดเป็น 200% ของจีดีพี ที่จะต้องเกลี่ยจ่ายไปจนถึงปี 2050 ทำให้ปัญหาการคลังของสหรัฐฯยังเป็นปัญหาไปอีก 30-40 ปีข้างหน้า

เช่นเดียวกับ ดร.สุวิทย์ ยอมรับว่า เป็นห่วงเศรษฐกิจไทย เพราะกำลังเจอวิกฤติซ้ำซากและอาจเจอวิกฤติอีก ซึ่ง 4 ประเด็นที่เป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจ คือ 1. ความมั่งคั่งหรืออำนาจถูกกระจายออกจากสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น 2. โลกเผชิญหน้ากันมากขึ้น ทำให้เมื่อเกิดความเสี่ยงภัยต่างๆแล้วถูกกระทบกันหมด 3. ทุนนิยมได้รับบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจ 4. ความขัดแย้งมีมากขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย

ดร.สุวิทย์ มีข้อเสนอว่า จากนี้ไปยุทธศาสตร์ของความเป็นรัฐบาลต้องลงไปในบทบาทใหม่ คือ 1. ลงในระดับ Micro Politic หรือเล่นกับประชาชน 2. ร่วมมือกับคนอื่นมากขึ้น (Global Politic)

ความเห็นจากประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กงกฤช หิรัญกิจ ชี้ปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในขณะนี้ คือ ความขัดแย้งทางการเมือง ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก และการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ซึ่งแม้ว่าในช่วง 6 เดือนแรก ตัวเลขนักท่องเที่ยวผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ (คิดเป็น 75% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด) จะลดลง 22% หรือลดจาก 14.1 ล้านคนเหลือ 10.8-11 ล้านคน แต่จากสถิติจะพบว่าในปีที่การท่องเที่ยวหดตัว ปีถัดไปจะเติบโตได้เป็น 2 หลัก

****สศค.ติงอย่าสร้างแต้มต่อให้คนอื่น

ด้านดร.สมชัย ให้ความเห็นสอดรับกับความเห็นของผู้ร่วมเสวนาคนอื่นๆ ว่า หากเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพิงการส่งออก ก็ต้องสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการเติบโตของภาคส่งออกให้มากกว่านี้ เช่น อย่าสร้างแต้มต่อให้คนอื่นโดยไม่จำเป็น ยกตัวอย่าง การอ่อนตัวของค่าเงินต้องสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ ซึ่งเชื่อว่าหากทางการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแล้ว ก็จะช่วยให้ภาคเอกชนลุยได้ ส่วนเรื่องสินเชื่อนั้น สั่งธนาคารเอกชนให้ปล่อยกู้ไม่ได้ แต่สั่งสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้ทำหน้าที่แทนกลไกที่ไม่ทำงานได้ แต่ไม่ได้สั่งให้เกิดความเสียหาย

เวทีสัมมนา ทางรอดเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งจัดขึ้นโดยสศค. เป็นอีกหนึ่งเวทีที่ช่วยชี้ภาพเศรษฐกิจในขณะนี้ และแนวโน้มในระยะต่อไป ซึ่งยังมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว โดยที่เหล่ากูรูต่างฝากความหวังไว้กับมาตรการของรัฐบาล และ ผู้ดูแลนโยบายโดยเฉพาะนโยบายด้านค่าเงิน เพราะถึงอย่างไรเศรษฐกิจไทยก็ยังต้องพึ่งภาคส่งออกและท่องเที่ยวเป็นตัวชูโรงเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook