ดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมมิ.ย.ติดลบน้อยลงเหลือ6.76

ดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมมิ.ย.ติดลบน้อยลงเหลือ6.76

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยวันที่ 27 กรกฎาคม ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมไทยปัจจุบันถือว่ามีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน แม้ว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังติดลบ โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย.ติดลบร้อยละ 6.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เริ่มติดลบน้อยลงจากเดือน พ.ค.ที่ติดลบร้อยละ 12.39 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี คาดว่าภายในสิ้นปีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะสามรถกลับมาเป็นบวกได้

หลายกลุ่มอุตสาหกรรมมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง หลังจากได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดย Hard disk drive เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 ขณะที่การจำหน่ายลดลงเล็กน้อยร้อยละ 3.8 เนื่องจากผู้ผลิตสินค้ากลุ่มนี้มีการปรับเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีผลิตภัณฑ์ใหม่สอดคล้องกับการใช้งานนำเสนอให้ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการผลิตที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง และมีคำสั่งซื้อล่วงหน้ากลับเข้ามาจำนวนมากขึ้น ผู้ผลิตจึงเร่งผลิตเพื่อสามารถส่งมอบสินค้าได้ทันตามกำหนด ส่งผลให้ระดับสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นสูงร้อยละ 187.7 ขณะที่การผลิตและการจำหน่าย 6 เดือนแรกปีนี้ ยังคงติดลบร้อยละ 7.6 และ 9.0 ตามลำดับ เนื่องจากฐานการผลิตและการส่งออกเมื่อปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง จึงทำให้อ เดือนแรกปีนี้ยังติดลบ สำหรับช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะฟื้นตัวในทิศทางที่เป็นบวก เนื่องจากประเทศไทยมีความแข็งแกร่งจากการเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกที่สำคัญแห่งโลก ซึ่งจะช่วยให้ภาวะการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้กลับมาฟื้นอีกครั้ง

นายอาทิตย์ กล่าวว่า ส่วนอาหารทะเลแปรรูป เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายมีทิศทางการขยายตัวดีขึ้น ร้อยละ 11.11 และ 5.77 ตามลำดับ แม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ขณะที่การขยายตัว 6 เดือนแรกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 และ 8.0 ตามลำดับ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามามากขึ้น สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลังคาดว่าจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะทูน่ากระป๋องและกุ้งแช่แข็ง ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญจะได้รับคำสั่งซื้อมากขึ้น เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าตามไปด้วย

ขณะที่กลุ่มการผลิตผงซักฟอกและสบู่ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่าย เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 และ 11.5 ตามลำดับ เนื่องจากผู้บริโภคมีความเข้าใจสถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบันมากขึ้น จึงมีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคที่มีความจำเปต่อการดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติ สำหรับแนวโน้มช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะยังมีทิศทางที่ขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาปัจจัยด้านราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากส่งผลกระทบได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อราคาสินค้า

ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวถึงภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 2552 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 170.14 ลดลงร้อยละ 6.76 จากระดับ 182.48 ดัชนีผลผลิต (มูลค่าผลผลิต) อยู่ที่ระดับ 166.27 ลดลงร้อยละ 12.06 จากระดับ 189.08 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 165.41 ลดลง ร้อยละ 13.60 จากระดับ 191.45 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 110.89 ลดลงร้อยละ 4.74 จากระดับ 116.41 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 136.43 ลดลงร้อยละ 4.07 จากระดับ 142.22 ขณะที่ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 176.99 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.45 จากระดับ 167.85 ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 55.70

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook