เผยปชช.ค้านรบ.ล้มคุมเวลาต่ำกว่า18เล่นเกมไม่เกิน3ชม.

เผยปชช.ค้านรบ.ล้มคุมเวลาต่ำกว่า18เล่นเกมไม่เกิน3ชม.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ว่า การสำรวจ "เอแบคเรียลไทม์โพล (ABAC Real-Time Survey) เรื่อง การไม่จำกัดเวลาเล่นเกมคอมพิวเตอร์ของเด็ก กับปัญหาเด็กติดเกม โดยศึกษาประชาชน 17 จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ลพบุรี ขอนแก่น สงขลา จำนวน 1,775 ครัวเรือน เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา พบกลุ่มตัวอย่าง 71.2% สามารถเดินทางไปถึงร้านเกมคอมพิวเตอร์ได้ภายใน 30 นาทีจากที่พักอาศัย ซึ่งส่วนใหญ่ 96.9% เชื่อว่า การปล่อยให้เด็กเล่นเกมแบบไม่จำกัดเวลา จะทำให้เด็กติดเกมมากขึ้น และ 96.6 % บอกว่า การติดเกมทำให้การเรียนตกต่ำ

ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการฯกล่าว กล่าวต่อส่า กลุ่มตัวอย่าง เกือบ 90% ยืนยันว่า การติดเกมทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง รวมถึง มีการมั่วสุม ที่อาจไปสู่การประพฤติผิด และ 78% บอกว่า การเล่นเกมนำไปสู่การพนัน อีก 80% บอกว่า อาจลักเล็กขโมยน้อย และ 71.6% คิดว่าจะไปข่มขู่รีดไถคนอื่น ที่สำคัญ 84.3% เชื่อว่า เด็กที่ติดเกม จะสนใจช่วยเหลือสังคมและเห็นใจผู้อื่นน้อยลง นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 86% ระบุว่า รัฐบาลไม่ควรอนุญาต ให้ร้านเกมเปิดบริการให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เล่นเกมในร้านเกมได้นานกว่าวันละ 3 ชม. และ 87.% ไม่เห็นด้วยที่จะมีการยกเลิกมาตรการควบคุมเวลาเล่นเกมของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ให้เกินวันละ 3 ชม.

นายนพดล กล่าวด้วยว่า กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด จากการยกเลิกคุมเวลาเล่นเกมของเด็กต่ำกว่า 18 ปี นั้น 60.1% เชื่อว่าคือ เจ้าของร้านเกม ในขณะที่ประชาชนครึ่งหนึ่ง 50.7% มองว่ารัฐบาลกำลังรู้เห็นเป็นใจให้ยกเลิกการควบคุมเวลาเล่นเกมของเด็กอายุ ต่ำกว่า 18 ปี และ 49.3% คิดว่ามีกลุ่มข้าราชการแอบบรรจุวาระซ่อนเร้นให้รัฐบาลประกาศยกเลิกมาตรการ ดังกล่าว ซึ่งงานวิจัยนี้สะท้อนชัดว่า ร้านเกมคอมพิวเตอร์กำลังแพร่กระจายไปทั่วประเทศ หากกลุ่มนักการเมืองและข้าราชการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้องที่ได้ จากร้านเกม ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมที่รุนแรง การศึกษาในอดีตทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยืนยันว่า การไม่คุมเวลาเล่นเกมของเด็ก จะส่งผลเสียต่อคุณภาพเด็กและเยาวชนแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook