ศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษา

ศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เร่งสร้างเนื้อหารองรับ 3 จี

โครงการต้นแบบศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาชนบท เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ภาคเหนือ เป็นความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

โดยวางโครงสร้างไอทีพื้นฐานครอบคลุมการใช้งาน 21 โรงเรียนใน จ.เชียงราย สมบูรณ์ตั้งแต่ ต.ค.51

นาวาอากาศเอก ดร.ธงชัย อยู่ญาติวงศ์ คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.แม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า โครงการต้นแบบศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาชนบท กทช.สนับสนุนงบ ประมาณให้ ม.แม่ฟ้าหลวงดำเนินงาน 3 ปี (พ.ศ. 2551-2553) รวม 70 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงสร้างไอที 30 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการลงทุนพัฒนาเนื้อหา ขณะนี้ 21 โรงเรียนใน จ.เชียงราย เข้าสู่อินเทอร์เน็ตด้วยเทคโนโลยี เอดีเอสแอล ไอพีสตาร์ และไวแมกซ์ ความเร็วในการเชื่อมต่อ 3 เมกะบิตต่อวินาที เป็นเทคโนโลยี 2.5 จี และ 3จี (ไวแมกซ์)

เนื้อหาที่นำเสนอส่วนใหญ่เป็นการจัดทำอีบุ๊กของคุณครูกว่า 300 คน ในรูปแบบสื่อผสมระหว่างแอนิเมชั่นและข้อความ มีแบบทดสอบไว้ท้ายเรื่อง เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ขณะเดียวกันนักเรียนระดับมัธยมต้น-ปลาย ก็จัดทำเนื้อหาการเรียนรู้ขึ้นเอง โดยส่วนใหญ่เป็นการทำอีบุ๊กและภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทการทำขนม และข้าวของเครื่องใช้ สามารถดูได้ในเว็บไซต์ www.thaitelecenter.net

เทคโนโลยีที่มีอยู่เพียงพอต่อการเรียนรู้ในโครงการต้นแบบศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาชนบทแล้ว เพราะไวแมกซ์ถือว่าเป็นเทคโนโลยี 3จี แต่ถ้าพูดถึงเทคโนโลยี 3จี สำหรับโทรศัพท์มือถือ ถ้าเกิดขึ้นในประเทศไทยก็เป็นเรื่องดี เพราะหมายถึงการเข้าสู่เนื้อหาความรู้ผ่านโทรศัพท์มือถือ และจะเป็นประโยชน์มากกับการท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวมา จ.เชียงราย ก็สามารถเข้าเว็บไซต์ผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อดูวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ที่นักเรียนจัดทำขึ้น ดร.ธงชัย กล่าว

ดร.ธงชัย กล่าวต่อว่า นอกจากสื่อการเรียนรู้ที่เกิดจากฝีมือคุณครูและนักเรียนแล้ว ขณะนี้ ม.แม่ฟ้าหลวง ร่วมกับ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์ปาร์ค) ทำแอพ พลิเคชั่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยให้ผู้ประกอบการสามารถถ่ายภาพโรงแรม หรือสถานที่ท่องเที่ยวแล้วนำขึ้นเว็บไซต์ เมื่อมีเทคโนโลยี 3จี นักท่องเที่ยวสามารถโหลดภาพและข้อมูลดูในโทรศัพท์มือถือได้

รวมทั้งร่วมกับบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทย สนับสนุนให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีใน จ.เชียงราย เป็นผู้ประกอบการสร้างเนื้อหาบนเว็บไซต์ โดยเน้นเรื่องการท่องเที่ยวและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นสำคัญ ขณะที่สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟตวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ร่วมกันทำดิจิทัลคอนเทนต์ท่องเที่ยวเมืองเชียงแสน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภาคเหนืออีกทาง

พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธาน กทช. กล่าวระหว่างงานสัมมนาเรื่อง การพัฒนาเทคโนโลยีไร้สาย และ 3จี เพื่อเป็นสื่อการศึกษาทางไกล เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า แม้เทคโนโลยี 3จี จะเริ่มใช้ในประเทศไทยมานานแล้ว แต่การใช้เชิงพาณิชย์ยังไม่มี เนื่องจากยังไม่มีการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 3จี ซึ่งคาดว่า ปลายปีนี้ กทช.จะให้ใบอนุญาตได้ เช่นเดียวกับการใช้งานคลื่นความถี่ไวแมกซ์ที่จะให้ใบอนุญาตได้ปลายปีนี้เช่นกัน

สำหรับเทคโนโลยีไวแมกซ์ที่ใช้ในโครงการต้นแบบศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาชนบท เป็นการอนุญาตให้ใช้เพื่อทดสอบและเป็นบริการเพื่อสังคม ไม่ใช่ใช้ในเชิงพาณิชย์.

น้ำเพชร จันทา

namphetc@dailynews.co.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook