รมว.สธ.จวกฝ่ายค้านอย่าเล่นการเมืองกับชีวิตคน

รมว.สธ.จวกฝ่ายค้านอย่าเล่นการเมืองกับชีวิตคน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายวิทยา แก้วภราดัย รมว. สาธารณสุข (สธ.) กล่าววันที่ 28 กรกฎาคมถึงการพบเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ในเด็กทารกผ่านครรภ์มารดา กล่าวถึงการจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ไปยังคลินิกต่างๆ เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ ว่าได้กระจายยาดังกล่าวไปยังโรงพยาบาลโดยทั่วถึงแล้ว ส่วนการกระจายยาไปยังคลีนิกต่างๆ นั้น คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข จะเป็นผู้กำหนดทิศทางของสธ. ในการกระจายยาให้คลินิกกว่าหมื่นแห่งทั่วประเทศ ต้องเฝ้าระวังเรื่องการดื้อยาด้วย ส่วนจะจ่ายยาให้คลินิกได้เมื่อรนั้น ขึ้นอยู่กับมติของคณะอนุกรรมการฯ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่คณะอนุกรรมการฯ ระบุว่ามีฝ่ายการเมืองกดดันให้นำร่องจ่ายยาต้านไวรัสให้คลีนิกในจ. ราชบุรีนั้น นายวิทยากล่าวว่า ไม่ใช่ แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่อยู่ภายใต้กรอบที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนดไว้อยู่แล้ว โดยมีเงื่อนไขที่ชัดเจน งไม่ทราบว่าฝ่ายการเมืองที่ว่าหมายถึงใคร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านระบุว่ามีหญิงชราจ. แพร่ ที่ติดเชื้อไข้หวัด 2009 เสียชีวิตจากการได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ นายวิทยากล่าวว่า คิดว่าฝ่ายค้านคงสับสน และพยายามดึงมาเป็นเรื่องการเมือง เพราะทั่วโลกยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัด 2009 มีแต่วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นไม่อยากให้สร้างความสับสนในกระบวนการทำงานของสธ. คนที่จะเล่นการเมืองต้องระวังเพราะทั้งหมดนี้เดิมพันด้วยชีวิตประชาชน ซึ่งสธ. พยายามทำงานภายใต้กรอบวิชาการ และขณะนี้กำลังรอรับรายงานถึงสาเหตุการเสียชีวิตของหญิงชราคนดังกล่าว จากสาธารณสุขจังหวัดอยู่ เพราะหญิงคนดังกล่าวอายุมากแล้ว อาจมีอาการอย่างอื่นแทรกซ้อน อีกทั้งโดยรายงานทางการแพทย์ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนนี้ก็ฉีดมาหลายปีแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่

ด้านนายมานิต นพอบดี รมช. สธ. กล่าวว่า อยากให้หญิงตั้งครรภ์ระวังโรคไข้หวัด 2009 ในช่วงนี้ เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีการติดเชื้อไปสู่เด็กในครรภ์ได้ ส่วนเด็กทารกที่ติดเชื้อไข้หวัด 2009 ในทางการแพทย์กำลังวิจัยอยู่ว่าติดเชื้อจากทางใด ทั้งนี้หากหญิงตั้งครรภ์คนใดมีอาการป่วยเป็นหวัด ขอให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพราะขณะนี้ตามคลินิกต่างๆ ยังไม่มีนโยบายกระจายยาต้านไวรัสโอเซลาทามิเวียร์ แต่มีการนำร่องจ่ายยาที่จ.ราชบุรีไปแล้ว ซึ่งแพทย์ที่คลินิกต้องควบคุมการจ่ายยา และติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มจ่ายยา จนถึงรักษาหายแล้ว เพราะนักวิชาการก็ห่วงเรื่องปัญหาการดื้อยา หากมีการใช้ยาแบบไม่ระมัดระวัง เช่นกรณีที่ยังไม่เป็นโรคไข้หวัด 2009 แต่ไปรับประทานยาก่อน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook