ธงทองชี้พระราชทานอภัยโทษไม่ใช่การกลับคำพิพากษา

ธงทองชี้พระราชทานอภัยโทษไม่ใช่การกลับคำพิพากษา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คณะนิติศาสตร์จัดการเสวนาเรื่อง " เมื่อราษฎร์ถวายฎีกา กฎหมายและระเบียบปฏิบัติ วันที่ 28 กรกฎาคม โดยรศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวถึง ฎีกาในประวัติศาสตร์ไทยว่า ฎีกาในความหมายที่เป็นหนังสือที่ยื่นเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษและฎีการ้องทุกข์ การถวายฎีกาจึงเป็นสายสัมพันธ์ที่ยึดโยงพระมหากษัตริย์กับประชาชนที่คงอยู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นช่องทางให้ผู้ต้องโทษอาญาได้ขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ช่องทางการถวายฎีกานี้ต้องไม่ใช่ศาลชั้นที่ 4 การพระราชทานอภัยโทษจึงไม่ใช่การกลับคำพิพากษาของศาล

โดยผู้ที่ถวายฎีกาจะอ้างถึงคุณงามความดีในอดีตหรือการเจ็บป่วยทุกข์ยากต่าง ๆ โดยกรมราชทัณฑ์จะทำหน้าที่รวบรวมและนำเสนอฎีกาของผู้ต้องขังให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ประมวลเรื่อง และทำความเห็นประกอบฎีกาต่าง ๆ ก่อนนำขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ โดยทุกครั้งที่เปลี่ยนรมว.ยุติธรรม สำนักพระราชวังจะส่งเรื่องการถวายฎีกากลับมาให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาความเห็นประกอบเกี่ยวกับการถวายฎีกาอีกครั้ง

ในทางจารีตประเพณีนอกเหนือจากการอภัยโทษทางอาญาแล้ว ยังมีการอภัยโทษทางวินัยและโทษทางแพ่งด้วย อย่างไรก็ตาม ในระบอบประชาธิปไตยพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจค่อนข้างจำกัด ทรงปกเกล้าไม่ได้ทรงปกครอง แม้การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจ แต่อยากฝากข้อคิดว่า การเมืองควรแก้ปัญหาด้วยการเมือง การทำให้การเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ สมควรต้องตรึกตรองด้วยความรอบคอบ เพราะในหลายประเด็นพระมหากษัตริย์ไม่สามารถชี้แจงหรือปกป้องตัวเองได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์นี้หรือเหตุการณ์ใด พยายามอย่าให้พระมหากษัตริย์ต้องมาเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยที่ต้องช่วยกันคิด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook