รฟม.ออกพ.ร.บ.เวนคืนตามแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน ธุรกิจ-ตระกูลดังโดนระนาว คลิกอ่านประกาศรายชื่อแนบท้าย

รฟม.ออกพ.ร.บ.เวนคืนตามแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน ธุรกิจ-ตระกูลดังโดนระนาว คลิกอ่านประกาศรายชื่อแนบท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้สื่อข่าว ประชาชาติออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (28 ก.ค.) พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ในท้องที่เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตห้วยขวาง เขตดินแดง เขตราชเทวี เขตวัฒนา เขตคลองเตย เขตปทุมวัน และเขตสาทร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2552 ได้มีผลบังคับใช้

เหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ สืบเนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน แห่งประเทศไทยได้ทำการสำรวจที่ที่จะต้องเวนคืนเพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตห้วยขวาง เขตดินแดง เขตราชเทวี เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตปทุมวัน เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางรัก เขตสาทร และเขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2549 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตวัฒนา เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ และเขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2549 เสร็จแล้ว สมควรเวนคืนอสังหาริมทรัพย์กล่าวต่อไป

ทั้งนี้ มีรายชื่อผู้ที่จะต้องถูกเวนคืน จำนวน 59 ราย ล้วนเป็นบริษัทขนาดใหญ่และผู้มีชื่อเสียง เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย บริษัท ซีพี พลาซ่า นายเจตน์ ล่ำซำ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริษัท พี.ที .คอมเพล็กซ์ ธนาคารนครหลวงไทย อาคารชุดอาร์เอสทาวเวอร์ บริษัท เครดิต ฟองซิเอร์เอเชีย นางอัปสร จาติกวณิช

ผู้สื่อข่าว ประชาชาติธุรกิจ ได้สอบถามไปยังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถึงการออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ในท้องที่เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตห้วยขวาง เขตดินแดง เขตราชเทวี เขตวัฒนา เขตคลองเตย เขตปทุมวัน และเขตสาทร กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2552 ว่า เป็นการดำเนินการตามกฎหมาย หลังจากที่ รฟม.ได้ออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินเวนคืน พ.ศ.2549 จำนวน 2 ฉบับ และได้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เสร็จสิ้นลงแล้ว

ทาง รฟม.จึงจำเป็นต้องดำเนินการ ตามมาตรา 15 ของ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ด้วยการออก พรบ.ฉบับนี้ออกมา เพื่อสร้างความชัดเจน และให้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

มาตรา 15 ระบุว่า เมื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอนแล้ว ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว โดยให้ระบุที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น ที่ต้องเวนคืน พร้อมทั้งรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฏหมาย

ให้มีแผนที่ หรือแผนผังแสดงเขตอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนอย่างชัดเจน ไว้ท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และให้ถือว่าแผนที่ หรือแผนผังนั้น เป็นส่วนหนึ่งแห่งพระราชบัญญัตินั้น

เขตอสังหาริมทรัพย์นั้น ต้องปักหลักหมายเขตไว้โดยชัดเจน ก่อนที่จะออกพระราชบัญญัติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook