คุมเวลาร้านเกมห้ามโอเกะสาวดริงก์

คุมเวลาร้านเกมห้ามโอเกะสาวดริงก์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงวธ. จัดระเบียบร้านคาราโอเกะ ห้ามมีเด็กนั่งดริงก์หรือพนักงานอื่นใดนั่งร้องเพลงกับแขก พร้อมจัดแบ่งประเภทภาพยนตร์ 7 ประเภท ตั้งแต่ระดับคนดูทั่วไป คล้ายๆ เรตอาร์-เรตเอ็กซ์ในต่างประเทศ ขณะที่ร้านเกมกำหนดช่วงเวลาใหม่สำหรับเด็กที่จะเข้าไปเล่น ห้ามจำหน่ายบุหรี่ สารเสพติด รวมทั้งแอลกอฮอล์

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 28 ก.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล น.พ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.ว่า ครม.ได้พิจารณาร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ...และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตและการประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ พ.ศ...ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมเสนอร่างกฎกระทรวงทั้งสองที่สำนักงานกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้วรวมทั้ง 2 ฉบับเพื่อพิจารณา โดยเนื้อหาสาระของร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ...เป็นการกำหนดประเภทของภาพยนตร์ออกเป็น 7 ประเภท คือ 1.ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และส่งเสริมให้มีการดู 2.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป 3.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป 4.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 5.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป 6.ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ดูคล้ายๆ กับเรตอาร์ในต่างประเทศ และ 7.ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ได้แก่ เรตเอ๊กซ์ และรวมถึงภาพยนตร์ที่มีเนื้อหากระทบต่อสถาบัน การเหยียดหยาม กระทบต่อความมั่นคง ซึ่งครม.เห็นชอบในหลักเกณฑ์ร่างกฎกระทรวงฯดังกล่าว

น.พ.ภูมินทร์ กล่าวว่า สำหรับร่างกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตและการประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ พ.ศ..ซึ่งคำว่า วีดิทัศน์ หมายรวมถึงเกมออนไลน์ คาราโอเกะ โดยเนื้อหาของร่างฉบับนี้กำหนดเรื่องการขอออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาต กำหนดออกเป็น 2 ส่วน มีหลักเกณฑ์ต่างๆ จำนวนมาก แต่มีกำหนดไว้ใน หมวดที่ 2 การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ คือ ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ที่ให้บริการเกมการเล่นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่อไปนี้ 1.ให้เด็กต่ำกว่า 15 ปี เข้าใช้บริการได้ตั้งแต่เวลา 14.00-20.00 น.ในวันจันทร์-ศุกร์ และตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.ในวันหยุดราชการหรือปิดภาคเรียน 2.ให้เด็กอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 18 ปีเข้าใช้บริการได้ ตั้งแต่ 14.00-22.00 น.ในวันจันทร์-ศุกร์ และตั้งแต่เวลา 10.00-22.00 น.ในวันหยุดหรือปิดภาคการศึกษา นอกจากนี้ยังมีการกำหนดไว้ว่าผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจะต้องดูแลมิให้มีการจำหน่ายบุหรี่ สารเสพติด หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านวีดิทัศน์ ดูแลมิให้สูบบุหรี่หรือเสพสารเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์ ภายในร้านวีดิทัศน์ ดูแลมิให้มีการเล่นการพนัน ดูแลมิให้มีการจำหน่ายหรือฉายภาพยนตร์ที่ไม่เหมาะสม ดูแลไม่ให้มีสื่อลามกอนาจารในร้านวีดิทัศน์

ผู้ประกอบกิจการคาราโอเกะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ซึ่งคล้ายๆ กับร้านวีดิทัศน์ แต่มีเพิ่มขึ้นพิเศษก็คือ ดูแลมิให้มีผู้บริการขับร้องเพลงกับลูกค้า หรือให้พนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้าภายในร้านวีดิทัศน์ ก็หมายถึงห้ามไม่ให้มีเด็กนั่งดริงก์ตามคาราโอเกะต่างๆ ซึ่งทางครม.มีมติอนุมัติตามร่างฯ และให้ทางกฤษฎีกาไปดูเพิ่มเติมว่าจะสามารถมีวงเล็บเพิ่มเติมตามที่นาย อลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เสนอว่า ให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตดูแลไม่ให้มีการใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา ซึ่งทางสำนักงานกฤษฎีการับไปดูว่าจะเพิ่มได้หรือไม่ ถ้าเพิ่มได้จะเพิ่มเข้ามาเพื่อให้ครม.เซ็นในประกาศร่างฯ ทั้งสองฉบับ ส่วนที่มีการถกเถียงกันว่าควรจำกัดชั่วโมงการเล่นของเยาวชนที่อายุน้อยกว่า 18 ปีหรือไม่ ที่กำหนดว่าไม่ให้เล่นเกิน 3 ชั่วโมงนั้น ในที่ประชุมครม.ได้มีมติว่า ขอให้กระทรวงวัฒนธรรมไปดำเนินการเกี่ยวกับเซฟเวอร์กลางให้เรียบร้อยก่อนแล้วนำเสนอต่อครม.ในโอกาสต่อไป น.พ.ภูมินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ น.พ.ภูมินทร์แถลงด้วยว่า ครม.ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ฉบับที่พ.ศ...ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ซึ่งเนื้อหาอยู่ที่การแบ่งประเภทของเกมออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ 1.เกมที่เหมาะสมกับผู้เล่นทุกวัย 2.เหมาะสมกับผู้เล่นอายุ 3-5 ปี 3.เกมที่เหมาะกับผู้เล่นอายุ 6-12 ปี 4.เกมที่เหมาะสมกับผู้เล่นอายุ 13 ปีขึ้นไป 5.เกมที่เหมาะสมกับผู้เล่นอายุ 15 ปีขึ้นไป 6.เกมที่เหมาะสมกับผู้เล่นอายุ 18 ปีขึ้นไป และ 7.เกมที่ห้ามผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เล่น ทั้งนี้จะเป็นการแบ่งประเภทและกำหนดไว้ชัดเจนว่าผู้ที่จะนำเกมเข้ามาเล่น จำหน่าย จะต้องขออนุญาตเมื่อได้รับการพิจารณาอนุญาตต้องติดสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายไว้ที่เกมจึงจะสามารถนำมาเผยแพร่ได้ ในกรณีที่ยินยอมให้ผู้เล่นที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ 7 ประเภทเล่นจะมีบทลงโทษชัดเจน ซึ่งคิดว่าตรงนี้จะเป็นการคลายความห่วงใย ความกังวลของผู้ปกครองที่กลัวว่าบุตรหลานไปเล่นเกมที่มีลักษณะอันตราย ชักนำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ ครม.จึงอนุมัติในหลักการและส่งเรื่องให้สำนักงานกฤษฎีกาดูแลในเรื่องของกฎหมายต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook