Twitter & Facebook โลกไซเบอร์ ทักษิณเลือกโผล่''เงา''

Twitter & Facebook โลกไซเบอร์ ทักษิณเลือกโผล่''เงา''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ถึงตอนนี้ต้องบอกว่าอิทธิพลของสื่อใหม่ (New Media) กลายเป็นอาวุธลับของโลกไซเบอร์ไปเสียแล้วโดยเฉพาะ You tube, Twitter และ Facebook กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในทั่วโลก เพราะสามารถเชื่อมโยง ข้อมูล และ เครือข่าย เพียงแค่คลิกเดียวก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว

และยิ่งตอนนี้ทั้ง FaceBook หรือ เฟซบุ๊ก www.facebook.com และ Twitter www.Twitter.com ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวขานกันมากขึ้นเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฉลองวันเกิดครบรอบ 60 ปีเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา เปิดช่องทางการสื่อสารผ่านทั้ง FaceBook และ Twitter ภายใต้ชื่อ Thaksin Shinawatra-Thailand/Facebook เท่ากระตุ้นความอยากรู้บทบาทสื่อสารใหม่นี่ แก่สาวกเสื้อแดงของเขา เกินกว่าการขัดขวางของฝ่ายตรงข้าม

เว็บไซต์เฟซบุ๊ก และ ทวิตเตอร์ ต่างก็เป็นเว็บไซต์ชนิดที่เรียกกันว่า เว็บไซต์เครือข่ายสังคม หรือ Social networking side หมายถึงศูนย์รวมของคนที่มีความคิด ความเห็น ความชอบ ไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับใช้เป็นจุดแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

/////เฟซบุ๊ก

สำหรับเว็บไซต์เฟชบุ๊ก ก่อตั้งขึ้นในปี 2547 โดยนายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเว็บไซต์นี้ถึง 250 ล้านคนแล้วเบียดแซงเว็บไซต์ Myspace ของ บริษัท นิวส์ คอร์เปอเรชั่นฯ

เฟซบุ๊ก เกิดก่อนทวิตเตอร์ ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศสหรัฐฯที่เป็นต้นกำเนิด เป็นที่นิยมกันในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยก่อนกระจายไปสู่แวดวงอื่นๆ ในเวลาต่อมา และ กลายเป็นต้นแบบของ เว็บไซต์ประเภทเดียวกันที่เกิดขึ้นตามมามากมาย รวมทั้ง ไฮไฟว์ และ ทวิตเตอร์ ซึ่งกลายเป็น 3 เว็บไซต์เครือข่ายสังคมยอดฮิตที่มีสมาชิกลงทะเบียนนับร้อยล้านคนทั่วโลกอยู่ในเวลานี้

สำหรับ เฟซบุ๊ก ของแต่ละบุคคล สามารถอัพโหลดภาพถ่าย ข้อความ หรือวิดีโอ และอื่นๆ ขึ้นไปเก็บไว้ได้ตามต้องการ เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกของไซต์ หรือที่เรียกว่า กลุ่มเพื่อน เข้าไปติดตามดูได้ทุกที่ และ ทุกเวลา

ไม่เพียงเท่านี้ เฟซบุ๊ก สามารถกำหนดให้เป็นแบบจำกัดกลุ่ม คือให้สามารถเปิดดูได้เฉพาะผู้ที่สมัครเข้ามาเป็น กลุ่มเพื่อน และได้รับการกลั่นกรองและ ยอมรับ จากเจ้าของเว็บไซต์ หรือจะเป็นแบบเปิดกว้าง ให้ทุกคนสามารถเห็นได้ และ แสดงความคิดเห็นตอบได้

เฟซบุ๊ก ถูกนำมาใช้ในทางการเมืองหลายครั้ง ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน ก็คือ เฟซบุ๊ก ของ บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเปิดใช้งานระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2008 ที่ผ่านมา และจนกระทั่งถึงขณะนี้มี กลุ่มเพื่อน มากถึงกว่า 6 ล้านคน

นอกจากนี้ เฟซบุ๊ก ยังถูกนำมาใช้เพื่อการเคลื่อนไหวรณรงค์ด้านต่างๆ อาทิ การรณรงค์เพื่อสร้างกระแสให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่าเป็นอิสระ เช่นเดียวกับกรณีไว้อาลัย ไมเคิล แจ็คสัน เสียชีวิตผ่านสื่อทั้งสองช่องทางเช่นเดียวกัน

///ทวิตเตอร์

ทวิตเตอร์ เป็นเว็บไซต์เครือข่ายสังคมขนาดเล็ก หรือที่เรียกกันว่า มินิ โซเชียล เน็ตเวิร์กกิ้ง ไซต์ หรือ ไมโครบล็อก เปิดใช้งานมาหลายปีแต่เพิ่งโด่งดังเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายเมื่อต้นปีนี้Twitter ก่อตั้งโดยบริษัท Obvious Corp, San Fransico, US เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2549 โดยถูกออกแบบให้เป็น Micro Bloging หรือ Social Network ที่มีลูกเล่นแตกต่างจากเว็บใหญ่ๆ อย่าง Facebook, Myspace หรือ Hi5 สำหรับในบ้านเราคนไทยเริ่มรู้จักและนิยมใช้เมื่อปีที่ผ่านมา

ทวิตเตอร์ เป็นเว็บไซต์ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก บอกเล่า ถึงความเคลื่อนไหวของตนเอง เหตุการณ์ปัจจุบัน และความคิดเห็น ได้ด้วยข้อความสั้นๆ ไม่เกิน 140 ตัวอักษร และ เปิดโอกาสให้ ผู้ติดตาม หรือ ฟอลโลว์เออร์ สามารถติดตามได้ตลอดเวลาตามเวลาจริงที่มีการอัพโหลดข้อความ ด้วยการคลิก อัพเดต นอกจากนั้นยังสามารถกำหนดตัวเองให้เป็นผู้ติดตาม หรือ ฟอลโลว์อิ้ง ทวิตเตอร์ ไซต์อื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน

ข้อดีประการหนึ่งของ ทวิตเตอร์ ก็คือ การสามารถอัพเดตข้อมูลได้ตามเวลาจริง นอกจากนั้นมันยังสามารถใช้ได้กับสื่อหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์มือถือ ที่สามารถใช้ในการอัพโหลดข้อความ หรือติดตามอัพเดต ได้ในทุกสถานที่ ทุกเวลา

ข้อจำกัดของทวิตเตอร์ นอกจากจะเป็นขนาดสั้นๆ ของข้อความแล้ว ยังจำกัดอยู่เพียงแค่รูปแบบของข้อความเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถอัพโหลดภาพหรือวิดีโอ ไปเก็บไว้ในไซต์ได้ อย่างไรก็ตาม ทวิตเตอร์ ไซต์ สามารถใช้เป็นประโยชน์ในการเก็บ ลิงก์ เพื่อเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ที่เก็บภาพหรือวิดีโอได้เช่นกัน

และทั้งหมดคืออาวุธลับของ Twitter & Facebook นิวมีเดียใหม่บนโลกออนไลน์ และ คาดว่าในโลกออนไลน์จะมีสื่อใหม่ๆเกิดขึ้นอีกอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ เพราะบนโลกออนไลน์ ไม่มีขีดจำกัดในการติดต่อสื่อสาร!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook