หนุนใช้การคลังกระตุ้นอุปสงค์ฟื้นศก. ประธานสภาวิจัยแห่งชาติ ''นริศ''อวยรัฐเดินถูกทาง ครม.ไฟเขียวลดขั้

หนุนใช้การคลังกระตุ้นอุปสงค์ฟื้นศก. ประธานสภาวิจัยแห่งชาติ ''นริศ''อวยรัฐเดินถูกทาง ครม.ไฟเขียวลดขั้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
(ประธานสภาวิจัยแห่งชาติ นริศ ชัยสูตร หนุนใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศเพื่อแก้ปัญหาดีมานด์จากต่างประเทศหด ชี้รัฐบาลเดินถูกทางแล้ว

พร้อมเสนอเร่งแก้ปัญหาเบิกจ่ายช้าและอี-ออกชัน ด้านครม.ไฟเขียวลดขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างผ่านอี-ออกชัน รมช.คลัง พฤฒิชัย เผยช่วยเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้เร็วขึ้นถึง 57 วัน

ดร.นริศ ชัยสูตร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานสภาวิจัยแห่งชาติ เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจ ถึงนโยบายหรือมาตรการที่รัฐบาลควรดำเนินการในภาวะที่เศรษฐกิจโลชะลอตัวว่า นโยบายการเงินคงทำได้ยาก และคงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวเป็นตัวกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ โดยคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการมาถือว่าถูกทางแล้ว

โดยเฉพาะในภาวะที่ความต้องการ (ดีมานด์)จากต่างประเทศหายไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการทันทีคือ ออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจหรืองบประมาณกลางปี 1.67 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้ประมาณ 50% ของงบที่เพิ่มขึ้นได้เริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว เมื่อบวกกับมาตรการลดภาษีอสังหาริมทรัพย์และลดภาษีด้านการลงทุน จะบรรเทาภาวะผลกระทบจากเศรษฐกิจ

โลกที่ถดถอยอย่างรวดเร็วได้ระดับหนึ่ง และมาตรการระยะกลางจากงบโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 (SP2) วงเงิน 1.43 ล้านล้านบาท จะเสริมการลงทุนภายในและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาวได้

แม้ว่าข้อวิจารณ์กับโครงการนี้คือ ผลของโครงการต่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เพราะอาจต้องมีการนำเข้า แต่ก็ยังคุ้มค่ากว่าไม่มีมาตรการอะไร รวมทั้งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 43% ขึ้นไปอยู่ที่ 60% ของจีดีพีในปี 2556 แต่ก็ยังเป็นระดับที่จัดการได้ และหนี้สาธารณะจะลดลงได้เองเมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว

ดร.นริศ ยังได้เสนอแนะว่า โครงการไทยเข้มแข็ง ที่มีวงเงิน 1.43 ล้านล้านบาทนั้น ถือเป็นโครงการลงทุนของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นกระทรวงการคลังต้องมีบทบาทหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐที่มักมีปัญหาเบิกจ่ายล่าช้า รวมทั้งระเบียบต่างๆของกระทรวงการคลัง เช่น การทำอี-ออกชัน ควรจะมีการทบทวนเพื่อทำให้สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนให้ดีขึ้น แต่ต้องไม่ให้เกิดการรั่วไหลของเงิน

นอกจากนี้บทบาทของกระทรวงการคลังในด้านการแข่งขันของไทยและการส่งออก จากที่ภาคส่งออกคิดเป็น 70% ของจีดีพี แม้ว่ากระทรวงการคลังจะไม่ได้รับผิดชอบโดยตรงเหมือนกระทรวงพาณิชย์ แต่กระบวนการส่งออกผ่านกรมศุลกากรสามารถเข้าไปให้บริการในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพิธีทางศุลกากรให้ง่ายและสะดวกขึ้น ถือเป็นการลดต้นทุนให้ผู้ส่งออกได้อีกทางหนึ่ง

ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย บางประเทศอาจหันไปหาวิธีการปกป้องสินค้าที่ผลิตภายในประเทศของตน ด้วยการกีดกันการค้า ผ่านวิธีกีดกันโดยไม่ใช้ภาษี หรือnon-tariff barrier ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ และมีคนทำ เช่น สหรัฐฯมีโครงการ Buy American อินโดนีเซียมีโครงการ Buy Indonesia ซึ่งกรมศุลกากรต้องเป็นผู้นำในการเจรจาปกป้องสินค้าไทยที่อาจถูกมาตรการกีดกันทางการค้าผ่านพิธีการศุลกากรประเทศต่างๆ

ทางด้าน นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 28 กรกฎาคม 2552 ว่า กระทรวงการคลังได้เสนอแนวทางเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 สำหรับโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณามีมติเห็นชอบแล้ว โดยแนวทางดังกล่าวจะเป็นการลดขั้นตอนการดำเนินงานในการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีอี-ออกชัน สำหรับโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว คล่องตัว แต่ยังคงหลักการ ตามเจตนารมณ์ของระเบียบฯ พ.ศ. 2549 ในเรื่องของความโปร่งใส มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ประหยัดงบประมาณของแผ่นดิน

การลดขั้นตอนดังกล่าว คือ 1. ยกเว้นไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการร่างขอบเขตของงาน รวมถึงการนำร่างขอบเขตของงานและเอกสารประกวดราคาประกาศทางเว็บไซต์เพื่อให้สาธารณชนเสนอแนะ วิจารณ์ 2. ยังคงเปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์ทั้ง 2 ขั้นตอน คือการอุทธรณ์ผลการพิจารณาคัดเลือกเบื้องต้น และอุทธรณ์ผลการพิจารณาการเสนอราคา โดยหน่วยงานที่จัดหาพัสดุ และคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) ยังคงต้องพิจารณาข้ออุทธรณ์อยู่ แต่ระหว่างที่พิจารณาข้ออุทธรณ์นั้น หน่วยงานไม่ต้องระงับการดำเนินการ สามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้

นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลดขั้นตอนดังกล่าวทำให้สามารถร่นระยะเวลาในการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ได้ประมาณ 57 วัน คือ ช่วงเวลาที่แต่งตั้งคณะกรรมการร่างขอบเขตของงาน (TOR) และร่างเอกสารประกวดราคา การนำสาระสำคัญของร่าง TOR และเอกสารประกวดราคาประกาศทางเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางและของหน่วยงานเพื่อให้สาธารณชนเสนอแนะ วิจารณ์ จำนวน 14 วัน และช่วงการพิจารณาอุทธรณ์ ทั้ง 2 ขั้นตอน ประมาณ 43 วัน จากเดิมกระบวนการอี-ออกชัน จะใช้เวลาประมาณ 85 วัน เมื่อได้รับการยกเว้นดังกล่าวจะเหลือระยะเวลาดำเนินการเพียง 28 วัน

เงินงบประมาณจะสามารถเบิกจ่ายได้เร็วขึ้นถึง 57 วัน ช่วยการเบิกจ่ายการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปีงบประมาณ 2552 - 2553 ประมาณ 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อ ครม. แจ้งเวียนมติแล้วหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับจัดสรรกรอบวงเงิน สามารถดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบรอไว้ก่อนได้เลย เมื่อได้รับจัดสรรเงินแล้วจะได้ทำสัญญาได้ทันที ซึ่งสามารถช่วยการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก และในส่วนของการเบิกจ่าย และการดูแลความโปร่งใสได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอุปสรรค นายพฤฒิชัย กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook