อีสานโพลเผยคนอีสานพลัดถิ่นอยากกลับบ้านมาค้าขายแต่ติดปัญหาเรื่องเงินทุน

อีสานโพลเผยคนอีสานพลัดถิ่นอยากกลับบ้านมาค้าขายแต่ติดปัญหาเรื่องเงินทุน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อีสานโพลเปิดผลสำรวจเผยคนอีสานพลัดถิ่นอยากกลับบ้านเกิดเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องการประกอบอาชีพธุรกิจค้าขายในท้องถิ่นไม่ใช่ทำการเกษตรเหมือนแต่ก่อน ยอมรับถ้ากลับบ้านอาจประสบปัญหาขาดเงินทุนในการประกอบอาชีพ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ผศ.ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม ผู้รับผิดชอบ อีสานโพล โดย ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง ความคิดเห็นของแรงงานชาวอีสานต่อการกลับมาทำงาน ณ ภูมิลำเนาของตนเอง โดยเก็บแบบสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างคือ แรงงานชาวอีสานที่ทำงานต่างถิ่น รวม 580 คน ใช้การสุ่มแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบพบตัวระหว่างวันที่ 6 17 กรกฎาคม 2552 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีอายุ 20 29 ปี มากที่สุด (53.4%) การศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีมากที่สุด (52.70%) โดยผู้ตอบแบบสอบถามเป็นอาชีพผู้ใช้แรงงานในโรงงานมากที่สุด (53.8%) และ รายได้ระหว่าง 5,001 10,000 บาทมากที่สุด (44.8%)

ผลสำรวจพบว่าเกือบ 70 % อยาก เมือ (กลับ) บ้าน โดยจากการสอบถามแรงงานอีสานว่าต้องการจะกลับมาทำงานในภูมิลำเนาหรือไม่ ส่วนใหญ่เห็นว่า ต้องการที่จะกลับมาทำงาน ณ ภูมิลำเนา คิดเป็น 68.4% ไม่ต้องการ คิดเป็น 31.6% กลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์ให้เหตุผลว่าอยากกลับมาทำงานในภูมิลำ เพราะ ต้องการกลับมาอยู่กับครอบครัวมากที่สุดคิดเป็น 57.7% รองลงมาคือ ค่าครองชีพถูกกว่า (20.4%) เหตุผลอื่นๆ คือ มีช่องทางในการประกอบอาชีพใหม่ การอยู่ในเมืองใหญ่ไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพ และ กลับมาที่บ้านมีความสะดวกสบายในการเดินทาง

เมื่อถามความคิดเห็นของผู้ให้สัมภาษณ์ว่าหากกลับมาแล้วอยากจะประกอบอาชีพอะไร พบว่าผู้ให้สัมภาษณ์จะกลับมาทำอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว มากที่สุด คิดเป็น 39.3% รองลงมาคือ รับราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ 26.9% ผิดจากความเชื่อเดิมที่ว่าจะกลับมาทำการเกษตร ทำไร่ไถนา เหมือนเมื่อครั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 โดยกลุ่มตัวอย่างให้ความเห็นว่าจะกลับมาทำการเกษตรเพียง 18.2% เท่านั้น สำหรับความสนใจในอาชีพอื่นๆก็มีเช่น รับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน และพนักงานบริษัทเอกชน/ลูกจ้าง

สำหรับผู้ให้สัมภาษณ์ในกลุ่มที่ไม่ต้องการจะกลับมาทำงาน ณ ภูมิลำเนานั้น ให้เหตุผลว่า รายได้ที่ทำอยู่ในปัจจุบันสูงกว่าที่บ้านเกิด คิดเป็น 55.7% รองลงมาคือ ภูมิลำเนาไม่มีงานที่ต้องการ 21.9% ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า หากกลับมาค้าขายก็ต้องการเงินลงทุนที่มีจำนวนไม่น้อย หรือต้องประกอบอาชีพที่มีการรับทำงานค่อนข้างจำกัดและเป็นอาชีพที่มีการแข่งขันกันเข้าทำงานสูง คืออพข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ส่วนความเห็นอื่นๆ เห็นว่า ตนมีครอบครัวในพื้นที่ที่ทำงานแล้ว และมีความสะดวกสบายในที่ทำงานปัจจุบัน

สุดท้ายเมื่อถามว่ามีปัจจัยใดในภาคอีสานที่ควรเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นแรงจูงใจให้กลุ่มคนอีสานที่ไม่ต้องการกลับมาทำงานที่บ้าน กลับมาทำงานในภูมิลำเนา พบว่ากลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์ให้เหตุผลว่า การหาแหล่งเงินทุนในการประกอบธุรกิจ เป็นปัจจัยที่ควรมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคิดเป็น 24.4% ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่ได้นั้นเชื่อมโยงกับอาชีพที่กลุ่มตัวอย่างอยากกลับมาทำ ณ บ้านเกิดคือ ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ส่วนปัจจัยที่ควรเปลี่ยนแปลงรองลงมาคือ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 22.6% เพื่อช่วยในการลดภาระค่าครองชีพที่สูงในภาวะปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆคือ เพิ่มสวัสดิการ เพิ่มเงินช่วยเหลือ และมีการประกันราคาพืชผล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook