ยังถมไป ''โทรฯแล้วขับ''

ยังถมไป ''โทรฯแล้วขับ''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
''อุบัติเหตุฤดูฝน'' ''หลับใน'' ก็ร้ายมาก!!

อาจเพราะเกิดบ่อย-เกิดประจำจนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติ สังคมไทยจึงรู้สึกเฉย ๆ กับ อุบัติเหตุทางรถยนต์ ในช่วง ฤดูฝน ที่เกิดขึ้นมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนหน้านี้ จากที่เป็นข่าวในสื่อแขนงต่าง ๆ แต่ละกรณีที่เกิดขึ้นล้วนส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตคราวละเป็นจำนวนมาก จุดนี้ชี้ชัดถึงภัยที่ถูกละเลย

อุบัติเหตุทางรถยนต์ ในช่วงฤดูฝนไม่กลัวไม่ได้...

และต้องระวัง ปัจจัยเสี่ยง นอกเหนือจากเมาด้วย

กล่าวสำหรับการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยในช่วงฤดูฝนนั้น คำแนะนำจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสรุปคือ... เตรียมสภาพรถให้พร้อม, ตรวจสอบระบบสัญญาณไฟต่าง ๆ อุปกรณ์ปัดน้ำฝน ให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี, เติมลมยางรถยนต์ให้มีแรงดันลมมากกว่าปกติ 2-3 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เพื่อให้หน้ายางรีดน้ำได้ดี ใช้ดอกยางละเอียดที่ยึดเกาะถนนได้ดี, ตรวจสอบระบบเบรกให้สามารถหยุดรถได้ทันท่วงที

กับการขับรถในขณะฝนตกนั้น การเปิดที่ปัดน้ำฝนในระดับความเร็วที่สัมพันธ์กับสภาพฝนที่ตกและกดปุ่มไล่ฝ้ากระจกหลัง เป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่ควรเปิดน้ำฉีดกระจกขณะขับรถด้วยความเร็วสูงเพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ, ไม่ขับรถเร็ว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุรถลื่นไถลหรือหยุดรถไม่ทันจากสภาพถนนเปียกลื่น โดยใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม. และควรเว้นระยะห่างรถจากรถคันหน้ามากกว่าสภาพปกติ 10-15 เมตร

ไม่หยุดรถ-ไม่เปลี่ยนช่องทางกะทันหันโดยไม่จำเป็น, เลี่ยงการเปิดไฟกะพริบ-ไฟฉุกเฉิน เพราะอาจทำให้รถคันอื่นเข้าใจผิด และทำให้ไม่มีสัญญาณไฟเลี้ยวใช้งานตามปกติ, เปิดไฟหน้ารถแบบต่ำเพื่อให้เห็นเส้นทางชัดเจนขึ้น ไม่เปิดไฟสูงเพราะจะทำให้คนขับรถที่สวนมาตาพร่ามัวจนอาจเกิดอุบัติเหตุ เปิดไฟตัดหมอกในช่วงกลางคืนที่ฝนตกหนักหรือถนนเปียก เพื่อลดการสะท้อนของไฟหน้ารถกับน้ำจนเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน, ถ้าทัศนวิสัยไม่ดีให้จอดพักรถในที่ปลอดภัย เช่น จุดพักรถริมทาง ปั๊มน้ำมัน รอจนฝนยุดตกหรือเห็นทางได้ดีขึ้นจึงไปต่อ

หากเจอถนนน้ำท่วมขัง ยิ่งต้องบังคับพวงมาลัยให้มั่นคง ขับในช่องทางตนเอง ใช้ความเร็วต่ำ เมื่อขับสวนรถคันอื่นให้ชะลอความเร็วเพื่อป้องกันคลื่นน้ำทำเครื่องยนต์ดับ อย่าเหยียบเบรกกะทันหัน เมื่อขับผ่านน้ำท่วมแล้วให้ค่อย ๆ แตะเบรกย้ำ ๆ ไล่ความชื้นออกจากผ้าเบรกเพื่อให้เบรกทำงานดีขึ้น

ทั้งนี้ กับเรื่องการใช้ความเร็วรถให้เหมาะสม-ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งขณะฝนตก หรือแม้แต่สภาพอากาศปกติ ก็ควรให้ความสำคัญ เพราะจากสถิติถือเป็นปัจจัยที่สำคัญอันดับ 1 ในการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์

นอกจากนี้ ทั้งในสภาพอากาศปกติ โดยเฉพาะช่วงฝนตก นอกจากปัจจัย เมาไม่ขับ ที่มีการรณรงค์ เช่น โดย สสส.-สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และพูดถึงกันมากแล้ว กับปัจจัย โทรฯไม่ขับ ก็ไม่ควรมองข้าม ซึ่งปัจจุบันในไทยก็มี พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2551 มาตรา 43 (9) ห้ามไว้ เว้นแต่ใช้อุปกรณ์เสริมโดยไม่ถือโทรศัพท์มือถือ ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับ 400-1,000 บาท แต่ ปัจจุบันผู้ขับรถยังโทรฯขณะขับโดยไม่ใช้อุปกรณ์เสริมกันทั่วไป ยังเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุเพราะปัจจัยนี้กันเกลื่อน !!

จากข้อมูลของอนุกรรมการด้านการให้ความรู้ การประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วม ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ระบุชัดว่า... การโทรศัพท์ขณะขับรถทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 2-4 เท่า, ทำให้เสียสมาธิ ทำให้เบรกช้าลง 0.5 วินาที, ทำให้พลาดการมองเห็นป้ายสัญลักษณ์และไม่สามารถจดจำรายละเอียดได้แม้ว่าจะจ้องป้ายนั้น และที่สำคัญการโทรศัพท์ขณะขับรถมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุมากกว่าผู้ขับขี่ที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 80 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

และเมื่อพูดถึงประเด็น...มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากกว่ามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด ง่วงไม่ขับ ก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ แต่มักถูกมองข้าม อย่างฤดูฝนนี่บรรยากาศก็ชวนหลับ ทั้งนี้ ข้อมูลของ โครงการง่วงอย่าขับ มูลนิธิรามาธิบดีในพรอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งมี นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ เป็นประธานกรรมการ ก็บ่งชี้ว่า... ง่วงแล้วขับ...อันตรายมาก !!

ย้อนดูสถิติอุบัติเหตุรถยนต์ที่เกิดขึ้น 310 ครั้ง ในช่วงสงกรานต์ปี 2552 นี้ ที่มีผู้เสียชีวิต 373 ราย สาเหตุหรือปัจจัยอันดับ 1 คือขับรถเร็ว อันดับ 2 คือเมา และ หลับใน เป็นอันดับ 3 ขณะที่การวิเคราะห์เจาะลึกของฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุใหญ่ในช่วงสงกรานต์ปีนี้ 39 ครั้ง มีผู้เสีย ชีวิต 69 ราย บาดเจ็บ 116 ราย พบว่า... ขับรถเร็ว เป็นปัจจัยหรือสาเหตุอันดับหนึ่ง ร้อยละ 61.54 ขับรถประมาท แทรกเข้ามาเป็นอันดับ 2 ร้อยละ 58.97 และ หลับใน เป็นอันดับ 3 ร้อยละ 25.64 แซงหน้า เมา ที่เป็นเพียงอันดับ 4 ร้อยละ 17.95

ทางโครงการง่วงอย่าขับได้เคยสำรวจคนขับขี่รถ ทั้งมอเตอร์ไซค์, รถเก๋ง, รถกระบะ, รถเมล์ ขสมก. รถ บขส.-รถทัวร์, รถบรรทุก ซึ่งกลุ่มตัวอย่างคนขับรถยอมรับว่า... เคยง่วงขณะขับรถ ร้อยละ 80-90 และที่สำคัญเคย หลับใน ขณะรถวิ่ง ถึงร้อยละ 20-50 ซึ่งก็น่าคิดว่า...ที่ผ่านมาขณะที่คนไทยพร่ำพูดถึงปัจจัยอื่นปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเป็นหลัก ที่เจ็บ-ตาย ที่ทำให้คนอื่นเจ็บ-ตาย เพราะ ง่วงแล้วขับ เกิดขึ้นไปมากเท่าไหร่แล้ว ??

อุบัติเหตุรถยนต์ เกิดขึ้นได้จากหลาย ๆ ปัจจัยเสี่ยง

ก็ควรจะต้องเน้นการระวังอย่างครอบคลุมทุก ๆ ปัจจัย

โดยเฉพาะในช่วง ฤดูฝน ที่ยิ่งชนกันเกลื่อน !!!!!.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook