บัวแก้ว โต้พธม.อ้างเขมรให้สัมปทานฝรั่งเศสเจาะน้ำมันในอ่าวไทย

บัวแก้ว โต้พธม.อ้างเขมรให้สัมปทานฝรั่งเศสเจาะน้ำมันในอ่าวไทย

บัวแก้ว โต้พธม.อ้างเขมรให้สัมปทานฝรั่งเศสเจาะน้ำมันในอ่าวไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงการต่างประเทศโต้พันธมิตรเปิดประเด็นอ้างมีการลงนามรบ.ไทย-กัมพูชาสมัย"แม้ว"ทำให้ไทยเสียสิทธิประโยชน์ทางทะเลแหล่งก๊าชและน้ำมันในทะเลอ่าวไทยบริเวณเกาะกูด ยันทั้งสองฝ่ายจะยังไม่มีการเข้าไปหาประโยชน์ใดๆ จนกว่าจะมีการเจรจาปักปันเขตพื้นที่ทางทะเลเสร็จสิ้นตกลงตั้งแต่ปี 2518

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม น.ส.วิมล คิดชอบ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เปิดประเด็นอ้างว่ามีการลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชาในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2544 ซึ่งอาจทำให้ไทยเสียสิทธิประโยชน์ทางทะเล โดยเฉพาะแหล่งก๊าชและน้ำมันในทะเลอ่าวไทยบริเวณเกาะกูด จ.ตราด ของไทยว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องเก่าที่ไทยปฏิบัติตามการลงนามความร่วมมือการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวระหว่างกันของกัมพูชากับไทยตั้งแต่เมื่อปี 2518 มีข้อตกลงกันว่า ทั้งสองฝ่ายจะยังไม่มีการเข้าไปหาประโยชน์ใดๆ จนกว่าจะมีการเจรจาปักปันเขตพื้นที่ทางทะเลเสร็จสิ้น และจนถึงขณะนี้ยืนยันว่ายังไม่มีฝ่ายใดเข้าไปดำเนินการเอาประโยชน์ตามข่าวทั้งสิ้น กระทรวงการต่างประเทศจะชี้แจงและทำความเข้าใจต่อไป เพราะข่าวที่เกิดขึ้นมีการนำไปเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดความสับสน

น.ส.วิมล ยังกล่าวถึงข้อเรียกร้องและแถลงการณ์ของภาคีเครือข่ายติดตามสถานการณ์กรณีปราสาทเขาพระวิหารให้ยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่เรียกร้องให้ยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ว่า ตามข้อเท็จจริงกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการให้คำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวสิ้นผลไปแล้ว และขณะนี้ถือว่าไทยกับกัมพูชาไม่มีพันธกรณีระหว่างกันตามแถลงการณ์ร่วมฯดังกล่าวอีก

"นอกจากนี้กระทรวงการยังได้แจ้งให้ประเทศสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกรับทราบถึงการระงับและการสิ้นผลของแถลงการณ์ร่วมฯแล้วในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 32 ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 2-10 กรกฎาคม 2551 คณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยระบุในข้อ 5 ของข้อมติว่า คำแถลงการณ์ร่วม ต้องไม่นำมาใช้ในการพิจารณา" น.ส.วิมลกล่าว

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีก็ยังได้มีมติเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่อนุมัติให้นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นลงนามในแถลงการณ์ร่วมด้วย

"แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่ได้ยกเลิกไปแล้ว ไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่เขตทางทะเลที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนกันแม้แต่น้อย ส่วนข่าวที่ว่ากัมพูชาให้สิทธิสัมปทานกับบริษัทฝรั่งเศสนั้น กระทรวงการต่างประเทศกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ อย่างไรก็ตามการ ให้สิทธิสัมปทานใดๆของรัฐบาลกัมพูชาจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของไทยตามที่ได้มีข้อตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้" น.ส.วิมลกล่าว

น.ส.วิมล กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่พัฒนาร่วม 1.5 ล้านไร่ รัฐบาลไทยก็ยังไม่มีแผนที่จะเสนอให้มีการผนวกพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของไทยในพื้นที่ดังกล่าวเข้ากับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชาแต่อย่างใด ส่วนที่มีการระบุว่า รัฐบาลจะสร้างรัฐกันชนในพื้นที่ใกล้ปราสาทพระวิหาร ขอยืนยันเช่นกันว่าไทยไม่เคยมีนโยบายที่จะสร้างรัฐกันชนขึ้นในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรใกล้ปราสาทพระวิหาร

น.ส.วิมล กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศได้ทำการชี้แจงและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามมาตรา 190 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการเจรจาจัดทำข้อตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความตึงเครียดและหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งในบริเวณเขาพระวิหารในระหว่างรอผลการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ซึ่งไม่ได้มีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก หรือแถลงการณ์ร่วมฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2551 แต่อย่างใด

"กระทรวงการต่างประเทศขอยืนยันว่า ในการเจรจาจัดทำข้อตกลงชั่วคราวรัฐบาลได้ดำเนินการตามมาตรา 190 อย่างเคร่งครัด ตั้งแต่การขอกรอบเจรจา การชี้แจงข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการชี้แจงต่อรัฐสภาอย่างต่อเนื่อง" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศระบุ


พธม.จี้นายกฯแถลงจุดยืน"เขมร"ยกสัมปทานให้"ฝรั่งเศส"ขุดน้ำมัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย นำโดย นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในฐานะเลขาธิการสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย และพล.ร.อ. บรรณวิทย์ เก่งเรียน ที่ปรึกษาสมัชชาประชาชนฯ ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพิทักษ์เอกราชอธิปไตย และผลประโยชน์ของชาติจากการละเมิดของทางการกัมพูชา โดยพล.ร.อ. บรรณวิทย์กล่าวว่า ได้ทางมายื่นหนังสือถึงนายกฯ เพื่อให้ดำเนินการปกป้องอธิปไตยของประเทศ จากกรณีที่สมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ให้สัมปทานบริษัท โตตาล ออยล์ ของประเทศฝรั่งเศส สำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ บริเวณอ่าวไทย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของประเทศไทย แต่รัฐบาลกลับเงียบเฉย ไม่ยอมดำเนินการใดๆ โดยมีการประเมินว่ามีน้ำมันอยู่บริเวณดังกล่าว 2 พันล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติมากกว่า 10 ล้านล้านลูกบาศ์กฟุต มีมูลค่าสูงกว่า 5 ล้านล้านบาท การที่รัฐบาลไทยนิ่งเฉย ไม่คัดค้านการกระทำของทางการกัมพูชา เท่ากับยินยอมให้กัมพูชาดำเนินการได้ จึงเกรงว่าจะซ้ำรอยการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร

ภาพ : เนชั่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook