เกษตรฯเร่งรัด สวนยาง ซื้อขายคาร์บอนเครดิต

เกษตรฯเร่งรัด สวนยาง ซื้อขายคาร์บอนเครดิต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เกษตรฯเร่งรัดจัดทำโครงการซื้อขาย "คาร์บอนเครดิต มุ่งสร้างรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น ชี้ไทยมีโอกาสสูง พร้อมเจรจาขอให้พื้นที่ปลูกแทนเข้าร่วมโครงการฯ เตรียมดันสวนยาง อสย. นำร่อง 3.4 หมื่นไร่ ขณะที่เวียดนามได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNFCCC แล้ว

นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งประสานองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการนำสวนยางพาราของไทยเข้าสู่ระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิต(Carbon Credit) โดยให้นำเสนอโครงการต่อที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯภายใน 1 เดือนนี้

"ยางพาราเป็นไม้ปลูกที่มีประสิทธิภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่น้อยกว่าระบบของไม้ป่าเขตร้อน ซึ่งสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้ จากผลการศึกษาวิจัยของศูนย์วิฉะเชิงเทรา กรมวิชาการเกษตร พบว่า สวนยางพาราอายุ 25 ปี ให้มวลชีวภาพได้ประมาณ 49 เมตริกตัน/ไร่ และช่วยเก็บสารคาร์บอนได้ 43 เมตริกตัน/ไร่ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะผลักดันเข้าสู่ระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ไม่เฉพาะผู้ปลูกยางพาราเท่านั้น ยังอาจขยายผลไปสู่ไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ อีกด้วย รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ด้านนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า หากไทยจะเสนอโครงการปลูกป่าโดยใช้พืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูง เช่น ยางพารา ให้สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้นั้น ถือว่ามีโอกาสสูงเพราะการปลูกสร้างสวนยางใหม่ของไทย เข้าข่ายการปลูกฟื้นฟูป่า(Reforestation)ทดแทนพื้นที่ที่ถูกทำลาย หรือเข้าข่ายการปลูกป่าใหม่(Afforestation) เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(UNFCCC)

"กรณีสวนยางที่ปลูกไปแล้วนั้น กรมวิชาการเกษตรจะพยายามเจรจาให้เข้าข่ายการลดการทำลายป่า(Deforestation) โดยใช้เหตุผลว่า การปลูกแทนยางพาด้วยยางพารา เป็นการต่ออายุสภาพป่า หากปลูกทดแทนด้วยพืชไร่อื่นๆ เช่น ข้าวโพด และอ้อย จะเสมือนเป็นการลดพื้นที่ป่า ดังนั้น สวนยางที่ปลูกแทนควรได้รับผลประโยชน์นี้ โดยกระทรวงเกษตรฯจะใช้พื้นที่สวนยางขององค์การสวนยาง(อสย.) จำนวน 34,000 ไร่ เป็นพื้นที่นำร่องเสนอโครงการฯกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(อบก.)ก่อน อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งผลักดันเรื่องนี้ให้รูปธรรมโดยเร็ว เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มมากขึ้น และให้ทันคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนามซึ่งมีโครงการฟื้นฟูป่าขนาดเล็กที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนจาก UNFCCC แล้วเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook