มอเตอร์ไซต์ครึ่งหลังปีหดตัวน้อยลงแต่ยังเผชิญความเสี่ยง

มอเตอร์ไซต์ครึ่งหลังปีหดตัวน้อยลงแต่ยังเผชิญความเสี่ยง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2552 ที่ผ่านมาตลาดรถจักรยานยนต์ไทยต้องเผชิญกับวิกฤตจากรอบด้านไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวลงมาก รวมถึงปัญหาการเมืองภายในประเทศ กดดันตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศของไทยให้หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามทิศทางการหดตัวเป็นไปในอัตราที่ชะลอลง ทำให้ท้ายที่สุดแล้วยอดขายรถยนต์ในช่วงครึ่งแรกของปีหดตัวเพียงร้อยละ 14.2 ซึ่งถือว่าดีกว่าที่เคยประเมินไว้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 คาดว่าตลาดรถจักรยานยนต์จะเริ่มได้รับปัจจัยบวกที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น ประกอบกับการให้สินเชื่อมีแนวโน้มผ่อนคลายมากกว่าช่วงครึ่งแรก รวมถึงกิจกรรมกระตุ้นตลาดที่ค่ายรถทยอยนำเสนอออกมา ส่งผลให้ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 มีแนวโน้มที่จะหดตัวในอัตราน้อยลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงด้านราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงผันผวนอยู่มาก และฐานยอดขายที่สูงในปีที่แล้วโดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3 ยังคงเป็นปัจจัยกดดันการขยายตัวอยู่

ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าช่วงครึ่งหลังในปี 2552 นี้ยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศอาจจะหดตัวชะลอลงมาที่ประมาณร้อยละ 10 ถึง 14 คิดเป็นจำนวนรถจักรยานยนต์ประมาณ 716,000 ถึง 746,000 คัน จากที่หดตัวร้อยละ 14.2 ในช่วงครึ่งแรก แต่หากพิจารณาเฉพาะปริมาณยอดขายยังคงต่ำกว่าครึ่งแรกที่มีจำนวน 748,497 คัน

ส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยทางฤดูกาลที่ยอดขายในช่วงฤดูฝนมักจะลดต่ำลง รวมถึงยังเป็นการเทียบกับครึ่งปีแรกซึ่งมีผลของมาตรการรัฐเข้ามากระตุ้นแรงซื้อด้วย จากยอดขายช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่พุ่งขึ้นสูงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ โดยเฉพาะโครงการเช็คช่วยชาติ และการทุ่มกิจกรรมการตลาดของค่ายรถจักรยานยนต์และดีลเลอร์ โดยการประมาณการยอดขายดังกล่าวส่งผลให้คาดว่ายอดขายรถจักรยานยนต์รวมทั้งปีจะหดตัวประมาณร้อยละ 12 ถึง 14 คิดเป็นจำนวน 1,465,000 ถึง 1,495,000 คัน จาก 1,703,376 คันในปี 2551 ดีขึ้นกว่าที่เคยประมาณการไว้เดิมที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 17 ถึง 21 หรือคิดเป็นประมาณ 1,350,000 ถึง 1,410,000 คัน

อย่างไรก็ตามยอดขายในช่วงต่อจากนี้ไปจะขึ้นอยู่กับกิจกรรมการกระตุ้นยอดขายของภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะกลยุทธ์ด้านราคา เช่น การลดราคาขาย หรือการลดดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคได้มากที่สุดในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ส่วนแรงส่งเสริมจากภาครัฐที่สำคัญอาจมาจากความสามารถในการเร่งการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรด้านราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญต่างๆ ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและกำลังซื้อให้กับกลุ่มผู้บริโภคระดับล่างซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของตลาดรถจักรยานยนต์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook