เอฟทีเออาเซียน-จีน โอกาสขยายธุรกิจบริการของไทย

เอฟทีเออาเซียน-จีน โอกาสขยายธุรกิจบริการของไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
การเปิดเสรีด้านการค้าบริการระหว่างอาเซียนและจีนกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาการเปิดตลาดรอบที่สอง โดยคาดว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาได้ก่อนเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนกับจีนในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งการเปิดเสรีภาคบริการระหว่างอาเซียนกับจีนภายใต้กรอบข้อตกลงการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Area) เป็นปัจจัยสำคัญในการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนในประเทศสมาชิกต่างๆ ในอาเซียน รวมถึงประเทศไทยเข้าไปขยายการลงทุนในภาคบริการของจีนได้มากขึ้นจากการผ่อนคลายกฎระเบียบและเงื่อนไขด้านการลงทุนในด้านธุรกิจบริการให้แก่กัน ขณะเดียวกันนักลงทุนจีนก็มีโอกาสขยายการลงทุนภาคบริการในอาเซียนและไทยมากขึ้นเช่นกัน

ปัจจุบันจีนถือเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคเอเชียท่ามกลางภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 สามารถขยายตัวได้ดีขึ้นเป็นร้อยละ 7.9 จากไตรมาสแรกที่ชะลอลงในระดับต่ำสุดที่ร้อยละ 6.1 โดยรายงาน Consensus Forecast เดือนกรกฎาคม คาดการณ์ว่า ในปี 2552 เศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตได้ที่ร้อยละ 7.5 แม้จะชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 9 ในปีก่อนหน้า และคาดว่าในปี 2553 ทิศทางเศรษฐกิจจีนจะปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 8.5 ซึ่งน่าจะช่วยขับเคลื่อนภาคบริการของจีนให้ขยายตัวได้ดีขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ภายใต้กรอบความตกลง FTA อาเซียน-จีนด้านภาคบริการนี้ได้ช่วยเพิ่มความทัดเทียมด้านการแข่งขันในตลาดจีนระหว่างประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในอาเซียน กับประเทศเอเชียอื่นๆ ที่ค่อนข้างเข้าไปมีบทบาทในภาคบริการหลายสาขาในจีนจากการจัดทำความตกลงความร่วมมือหรือการเปิดเสรีภาคบริการกับจีนได้แก่ ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน อีกทั้ง ผู้ประกอบการไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากกรอบข้อตกลงฯ ในการขยายการลงทุนด้านการค้าบริการในประเทศจีน ซึ่งการค้าบริการของจีนเป็นธุรกิจที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547-2550 จากนโยบายพัฒนาธุรกิจบริการที่กำหนดไว้ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (2549-2553) และการปฏิรูปและเปิดการค้าเสรีของภาคธุรกิจบริการในประเทศจีนมากขึ้น โดยธุรกิจบริการสำคัญของจีน ได้แก่ ธุรกิจภาคการเงินและการธนาคาร ธุรกิจประกันภัย โทรคมนาคม โลจิสติกส์ โรงพยาบาล ท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร ค้าปลีกและค้าส่ง และการศึกษา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจโลกในปีที่ผ่านมา จีนต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจภายในและภาคส่งออกของจีนชะลอตัวลง ทำให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมภาคบริการของจีนในปี 2551 ที่ผ่านมา ชะลอตัวเหลือร้อยละ 9.5 โดยมีมูลค่า 1,204.87 หมื่นล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.1 ของจีดีพี อีกทั้ง ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 การเติบโตของธุรกิจภาคบริการจีนมีมูลค่าเป็น 290.7 หมื่นล้านหยวน ขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 7.4 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจบริการในประเทศจีนในปี 2552 มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2551 ตามภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แม้ว่ามีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในภาวะซบเซาแม้จะมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้ทยอยออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศให้กลับฟื้นทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาซึ่งคาดว่าน่าจะส่งผลให้ทิศทางธุรกิจบริการของจีนปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ กอปรกับการขยายตัวทางรายได้ของประชากรชาวจีนทั้งในเขตเมืองและชนบทที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ธุรกิจบริการขยายตัวได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาประเทศของทางการจีนได้ตั้งเป้าขยายสัดส่วนของธุรกิจภาคบริการเพิ่มเป็นกว่าร้อยละ 50 ของจีดีพี ภายในปี 2563 จากปัจจุบันที่ภาคบริการมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของจีดีพี

สำหรับแนวโน้มธุรกิจบริการของผู้ประกอบการไทยในตลาดจีนคาดว่า ภายใต้ข้อตกลง FTA อาเซียน-จีน ด้านการค้าบริการที่มีกำหนดเปิดตลาดมากขึ้นเป็นลำดับ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาเปิดตลาดรอบที่สองนั้นน่าจะทำให้ไทยและประเทศอาเซียนอื่นๆ มีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นในตลาดจีนเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ได้แก่ ฮ่องกง มาเก๊าและไต้หวัน รวมทั้งเพิ่มโอกาสขยายธุรกิจไปยังประเทศจีน ทั้งนี้ การเจรจาเปิดตลาด FTA อาเซียน-จีนรอบที่สองที่ครอบคลุมการเปิดสาขาธุรกิจบริการทั้งหมด 12 สาขาเพิ่มเติมจากที่จีนเปิดตลาดให้ไทยก่อนหน้านี้ในรอบแรก คาดว่าธุรกิจภาคบริการของไทยที่จะได้รับประโยชน์ภายใต้ความข้อตกลง FTA อาเซียน-จีน เพิ่มเติมในภาคการค้าบริการได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจสปา ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจด้านการศึกษา เป็นต้น การเข้าสู่ตลาดภาคบริการในจีนได้มากขึ้นในสาขาต่าง ๆ ข้างต้นจากข้อตกลง FTA ดังกล่าวน่าจะทำให้ธุรกิจบริการไทยได้รับผลดีจากการเติบโตของภาคการบริโภคภายในจีนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องตามนโยบายสนับสนุนของทางการจีนที่ตั้งเป้าหมายให้ภาคบริการมีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อเศรษฐกิจจีน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบริการไทยต้องตั้งรับกับกฎระเบียบ/ข้อกำหนดในสาขาบริการในจีนที่ถือเป็นอุปสรรคหนึ่งในการดำเนินธุรกิจภาคบริการในจีน เช่น มาตรฐานการให้บริการและมาตรฐานแรงงานในภาคบริการ นอกจากนี้ ธุรกิจไทยยังน่าจะได้รับผลดีจากแนวโน้มการขยายตัวของภาคบริการในจีนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ความต้องการบริการสาขาต่างๆ น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจให้บริการด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งที่ทางการจีนสนับสนุนแผนปฏิรูประบบการดูแลสุขภาพโดยตั้งเป้าหมายขยายระบบการประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานให้ครอบคลุมประชาชนอย่างน้อยร้อยละ 90 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศกว่า 1,300 ล้านคน ภายในปี 2554

สำหรับโอกาสการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนชาวจีนในไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ภายใต้ข้อตกลง FTA อาเซียน-จีน ด้านการค้าบริการไม่เพียงเอื้อหนุนโอกาสการดำเนินธุรกิจภาคบริการสำหรับผู้ประกอบการไทยให้เข้าไปลงทุนในจีนเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันยังช่วยสร้างโอกาสในการเพิ่มการจ้างงานในประเทศและช่วยพัฒนาประเทศจากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนชาวจีน โดยกิจกรรมในสาขาบริการหลายด้านที่ไทยมีแนวโน้มเปิดให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนได้มากขึ้นภายใต้การเจรจาเปิดตลาดภาคบริการรอบที่ 2 อาทิ ภาคก่อสร้างและธุรกิจขนส่งสินค้า น่าจะส่งผลให้ธุรกิจภาคบริการของจีนขยายตัวมากขึ้นในไทยเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook