อ้างเป็นสพช.-นักการเมือง-คนเขต-ตัวแทนบริษัทชี้นำชุมชนซื้อสินค้าขู่ไม่ทำอดงบพอเพียง

อ้างเป็นสพช.-นักการเมือง-คนเขต-ตัวแทนบริษัทชี้นำชุมชนซื้อสินค้าขู่ไม่ทำอดงบพอเพียง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
มติชนสำรวจชุมชนพอเพียงในเขตบึงกุ่ม-บางกะปิ ปธ.หลายแห่งยืนยัน มีกลุ่มคนอ้างเป็นจนท.สพช.-นักการเมือง-คนเขต-ตัวแทนบริษัท ชี้นำซื้อสินค้าพลังแสงอาทิตย์ ถ้าไม่เลือกอาจไม่ได้งบประมาณพอเพียง เพื่อไทยแถลงผลทีมงานติดตามการใช้งบฯ 1 ส.ค. ผู้สื่อข่าว มติชน ลงพื้นที่เขตบึงกุ่ม และบางกะปิ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อหาข้อเท็จจริงกรณีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.) ยืนยันการจัดซื้อสินค้าของชุมชนต่างๆ ตามโครงการชุมชนพอเพียงเป็นเรื่องที่ประชาคมตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่มีเจ้าหน้าที่ สพช. นักการเมือง หรือข้าราชการในพื้นที่เข้าไปชี้นำ จากการตระเวนตรวจสอบชุมชน 8-9 แห่ง พบการจัดซื้อสินค้าพลังงานแสงอาทิตย์ของกลุ่มบริษัทเอกชนกลุ่มเดิมซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน และถูกตั้งข้อสังเกตว่าราคาแพงเกินความเป็นจริง เมื่อสอบถามข้อมูลจากประธานชุมชนหลายแห่งได้รับการยืนยันว่า การจัดซื้อสินค้าดังกล่าวเกิดขึ้นตามคำแนะนำของคน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มคนที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ สพช. 2.กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น 3.เจ้าหน้าที่เขต และ 4.เจ้าหน้าที่บริษัทผู้จำหน่ายสินค้า โดยกลุ่มคนเหล่านี้ระบุว่าสินค้าพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดต่างๆ ผ่านการตรวจสอบหลักเกณฑ์ซึ่งได้รับอนุมัติงบประมาณจาก สพช.แล้ว หากชุมชนต้องการทำโครงการเอง จะได้รับอนุมัติล่าช้า หรือไม่ได้รับอนุมัติก็ได้

นายปกรณ์ ภูนนท์ ประธานคณะกรรมการหมู่บ้านสราญรมย์ เขตบึงกุ่ม (ชุมชนหมู่บ้านสราญรมย์) ในฐานะกรรมการ ป.ป.ง.ภาคประชาชน กล่าวว่า ชุมชนเลือกซื้อสินค้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 ชนิด คือ 1.ตู้น้ำหยอดเหรียญ 2 ตู้ ตู้ละ 3 แสนบาท 2.เตาเผาขยะประสิทธิภาพสูง 1 เตา ราคา 1 แสนบาท เหตุผลที่เลือกซื้อเพราะได้รับคำแนะนำจากคนกลุ่มหนึ่งซึ่งอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ สพช. สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) พรรคการเมืองใหญ่ เจ้าหน้าที่เขต และตัวแทนบริษัทเอกชนผู้ขายเครื่องมือดังกล่าว ซึ่งเดินทางมาชี้แจงโครงการในระหว่างประชุมตัวแทนชุมชนต่างๆ ในเขตบึงกุ่ม และบางกะปิ ที่สำนักงานหมู่บ้านสราญรมย์ เมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีตัวแทนชุมชนที่ได้อนุมัติจากเขตเข้าร่วม 19 ชุมชน และตัวแทนชุมชนที่ยังไม่ได้รับรองการจัดตั้งชุมชนเข้าร่วม

นายปกรณ์กล่าวต่อไปว่า ระหว่างการประชุม กลุ่มคนที่อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ สพช.ได้อธิบายขั้นตอนการขอโครงการชุมชนพอเพียง พร้อมแจกแบบสอบถามในกระดาษ เอ 4 กรอกรายละเอียดโครงการเรียบร้อย เหลือเพียงช่องว่างให้กรอกเพิ่มเติม อาทิ ข้อมูลชุมชน, ชื่อผู้เสนอโครงการ, ตำแหน่งในชุมชน เท่านั้น นอกจากนี้ยังแจกแบบฟอร์มการเสนอโครงการตามหลักเกณฑ์ของ สพช.ทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ได้แก่ เอกสารขอโครงการ (ศพช. ๐๑) เอกสารบันทึกรายงานการประชุมประชาคมเพื่อคัดเลือกโครงการ (ศพช. ๐๒) เอกสารรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมประชาคม (ศพช. ๐๓) เอกสารขอเบิกเงินชุมชน (ศพช. ๐๔) เอกสารโครงการ (ศพช. ๐๕) เอกสารใบสืบ-เสนอราคา (ศพช. ๐๖) เอกสารขอเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร (ศพช. ๒๒) ซึ่งเอกสารทุกชิ้นพิมพ์รายละเอียดเรียบร้อย เหลือเพียงช่องว่างให้กรอกเพิ่มเติมเหมือนเดิม เอกสารชุดที่นำมาให้ยังแนบโบรชัวร์ หรือแผ่นพับโฆษณาขายเครื่องมือพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทเอกชน 6-7 ราย (กลุ่มบริษัทเดียวกันกับที่ มติชน ตรวจพบก่อนหน้านี้) พร้อมใบเสนอราคาขาย ซึ่งพิมพ์รายละเอียดและช่องว่างให้กรอกเพิ่มเติมเช่นกัน

นายปกรณ์กล่าวอีกว่า ผู้อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ สพช.อธิบายให้ผู้ชุมชนทราบอย่างละเอียด พร้อมระบุด้วยว่า โบรชัวร์สินค้าผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยแล้วว่าเข้าหลักเกณฑ์โครงการชุมชนพอเพียง ชุมชนต่างๆ สามารถเลือกทำได้ชุมชนละไม่เกิน 2 โครงการ หากสนใจและทำประชาคมในชุมชนเรียบร้อยแล้ว สามารถเสนอโครงการได้ทันที พร้อมระบุว่าหากชุมชนต้องการทำโครงการอื่นก็เสนอมาได้ แต่ไม่รับรองว่าจะได้รับอนุมัติหรือไม่ เนื่องจากโครงการมีระยะเวลาดำเนินงานที่สั้นมาก และการอนุมัติจะสิ้นสุดภายในเดือนกันยายน 2552 เท่านั้น ส่วนตัวแทนบริษัทจะอธิบายคุณสมบัติของสินค้าแต่ละชนิดตามข้อซักถามของผู้นำชุมชน ขณะที่ ส.ข.และเจ้าหน้าที่เขตคอยแนะนำให้ผู้นำชุมชนฟังข้อมูลเป็นระยะ

เดิมทีชุมชนของเราตั้งใจจะทำโครงการส่งเสริมการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน แต่เมื่อเขาบอกว่าหากจะเสนอโครงการใหม่ไปอาจได้รับการอนุมัติล่าช้า หรืออาจไม่ได้อนุมัติเลย ดังนั้น เพื่อไม่ให้ล่าช้า จึงเลือกทำโครงการตามที่ได้รับคำแนะนำ จากนั้นทำประชาคมเลือกตู้น้ำ และเตาเผาขยะเสนอไปที่เขต ไม่นานนักบริษัทก็มาติดตั้งให้ นายปกรณ์กล่าว

นายปกรณ์กล่าวต่อไปว่า หลังจากมีข่าวสินค้าราคาแพงกว่าความเป็นจริง คนในชุมชนหลายคนเริ่มไม่พอใจ และต้องการทราบข้อมูลที่แท้จริง จึงระงับการจ่ายเงินบริษัทไว้ก่อน หากบริษัทไม่ให้คำตอบชัดเจน จะไม่จ่ายเงินให้ และให้นำสินค้ากลับคืนไป ในสัปดาห์หน้า ตนและผู้นำชุมชนอื่นๆ จะรวมตัวกันไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอพบนายกรัฐมนตรีให้ชี้แจงเรื่องนี้ ส่วนกรณีผู้บริหาร สพช.ระบุว่า ในขั้นตอนการเสนอโครงการ สพช.ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ทั้งหมดเป็นเรื่องของคนชุมชนตัดสินใจเลือกเองนั้น ถือเป็นการพูดแบบไม่รับผิดชอบ และจงใจโยนความผิดให้ชุมชนฝ่ายเดียว

เขาพูดถูกที่ว่าชุมชนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าเอง แต่ถามหน่อยว่าถ้าเขาไม่มามัดมือชกเรา ไม่เข้ามาแนะนำสินค้าให้เราซื้อ พร้อมให้เหตุผลว่าถ้าทำโครงการอื่นจะได้รับอนุมัติช้าหรือไม่ได้รับอนุมัติแบบนี้ เราจะเลือกซื้อสินค้าเหล่านี้หรือไม่ ประธานชุมชนหมู่บ้านสราญรมย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวได้รับมอบหลักฐานภาพถ่ายจากกรรมการชุมชนผู้หนึ่งซึ่งเข้าร่วมประชุม ที่สำนักงานหมู่บ้านสราญรมย์ เมื่อ 2 เดือนก่อน เป็นภาพผู้อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ สพช. เจ้าหน้าที่เขต นักการเมือง และบริษัทเอกชน นั่งชี้แจงโครงการและคุณสมบัติสินค้าให้ตัวแทนชุมชนฟัง ในภาพปรากฏโบรชัวร์สินค้าหลายชนิดวางอยู่บนโต๊ะ

ทางด้านนายอนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ทีมงานติดตามการใช้งบฯโครงการเศรษฐกิจพอเพียงจะแถลงข่าวความคืบหน้าในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ โดยจะนำเนื้อหาการถอดเทปคำพูดของบุคคลซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีนักการเมืองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาโครงการของชุมชนจริง นอกจากนี้จะเปิดเผยเงื่อนงำไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับวันเวลาอนุมัติโครงการซึ่งไม่สอดคล้องกับการโอนเงินผ่านบัญชีคณะกรรมการชุมชน ล่าสุด ยังได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บางชุมชนมีคนไปเปิดบัญชีธนาคารในนามกรรมการชุมชน โดยกรรมการที่มีชื่ออยู่นั้นไม่ทราบเรื่อง ทางทีมงานส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบแล้ว

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีทุจริตโครงการชุมชนพอเพียง กล่าวว่า คาดว่าจะตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 3 สัปดาห์ ก่อนส่งให้กรรมการบริหารพิจารณาว่า สมาชิกที่ถูกพาดพิงถึงขาดคุณสมบัติหรือไม่ ไม่อยากให้มองว่าเป็นการตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือกันเอง

นายสุมิท แช่มประสิทธิ์ ผู้อำนวยการ สพช. กล่าวถึงกรณีชุมชนนำภาพหลักฐานมายืนยันมีผู้อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ สพช.ไปแนะนำชุมชนในเขตบางกะปิและบึงกุ่มให้เลือกโครงการตามที่กำหนดว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนไม่มีหน้าที่เข้าไปเสนอขายสินค้าให้แก่ชุมชน เป็นเรื่องที่ชุมชนจะต้องตัดสินใจเอง สพช.มีหน้าที่เพียงแค่พิจารณาโครงการที่เสนอมาว่าอยู่ในกรอบที่อนุมัติได้หรือไม่เท่านั้น หากชุมชนไหนมีหลักฐานชัดเจนว่ามีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ไปเกี่ยวข้อง ขอให้ส่งข้อมูลเข้ามาให้ จะตรวจสอบทันที หากพบว่าเป็นคนใน สพช.จะดำเนินการลงโทษทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook