สพฉ.ย้ำหน่วยกู้ชีพพร้อมรับมือหวัดใหญ่ 2009

สพฉ.ย้ำหน่วยกู้ชีพพร้อมรับมือหวัดใหญ่ 2009

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หน่วยกู้ชีพฉุกเฉินย้ำพร้อมรับมือหวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ 2009 ไข้สูง อาการรุนแรง โทรเรียก 1669 ได้ทันที มาถึงภายใน 10-20 นาที เลขาฯสพฉ.ยันประชาชนไม่ต้องห่วงค่าใช้จ่าย ป่วยฉุกเฉินเรียกรถฟรี พร้อมสั่งทำความสะอาดรถ อุปกรณ์ทุกเที่ยวป้องกันหวัดใหญ่ทั้งผู้ป่วย-เจ้าหน้าที่ติดหวัด

นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) กล่าวว่า ได้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมในการรับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยแจ้งไปยังหน่วยปฏิบัติการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งภาครัฐและเอกชนเฝ้าระวังการระบาดของโรค โดยให้สำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินทุกจังหวัด และพยาบาลหัวหน้าศูนย์ดำเนินการเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบทุกจังหวัด แนะนำการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องในการป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัส เช่น การกินร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง และใช้หน้ากากหรือผ้าปิดจมูกกรณีเป็นหวัด เป็นต้นไว้ รวมทั้งให้ทราบแนวทางการให้คำปรึกษาเบื้องต้นได้รู้จักการป้องกันตนเองตามคู่มือที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จัดทำขึ้น

นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า สพฉ.พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีการอาการวิกฤติ ฉุกเฉินจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วนและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล ให้เข้าถึงบริรอย่างปลอดภัยและรวดเร็ว โดยสามารถโทรเรียกใช้เบอร์ 1669 ได้ทันที ตามสถานการณ์ซึ่งบริการดังกล่าวเป็นการให้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินฟรี รวมทั้งโทรฟรีด้วย รวมทั้งประสานหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (ALS) สถานพยาบาลในการเตรียมพร้อม หรือส่งรถพยาบาลไปรับผู้ป่วยที่สงสัยด้วย

"กรณีที่มีผู้ป่วยที่จ.ปทุมธานี ซึ่งมีฐานะยากจน ไม่มีรถที่จะไปโรงพยาบาล สามารถโทรเรียก 16691 ได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางมาถึงจุดเกิดเหตุหรือบ้านของผู้ป่วย 10-20 นาที ขณะนี้มีบริการรถพยาบาลฉุกเฉินในกว่า 4,000 พื้นที่ทั่วประเทศ นพ.ชาตรีกล่าว

นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน ถ้าแพทย์ผู้ให้การดูแลวินิจฉัยว่าควรได้รับการการเคลื่อนย้ายเพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วนจากสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า ทีมแพทย์จะมีการประสาน สพฉ. ให้ประสานนำเฮลิคอปเตอร์ ไปรับผู้ป่วยฉุกเฉิน เช่น กรณีผู้ป่วยที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ 7 เดือนและติดเชื้อหวัด2009 เมื่อพบว่าอาการหนักมีการติดเชื้ออย่างรุนแรง ได้นำส่ง รพ.จุฬาลงกรณ์ โดยการประสานงานแจ้ง ไปยังรพ.กรุงเทพ ซึ่งเป็นคู่สัญญาของ สพฉ. ให้นำเฮลิคอปเตอร์มารับผู้ป่วยจากราชบุรี ไปส่งที่ รพ.จุฬา ใช้เวลา 45 นาที โดยระหว่างเดินทางมีทีมแพทย์ พยาบาล พร้อมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยจนถึง รพ.จุาฯ

นพ.ชาตรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้กำชับมาตรการการป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วย และการดูแลทำความสะอาดรถและเครื่องมืออุปกรณ์ประจำรถเพื่อมิให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัด 2009 ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น มีการจัดเตรียมหน้ากากอนามัยสำหรับบุคลากรที่ทำหน้าที่ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินไม่ให้รับเชื้อจากผู้ป่วยที่ใช้บริการในรถ รวมทั้งป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยที่ใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินรับเชื้อจากทีมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้วย ซึ่งขณะนี้การให้บริการผู้ป่วยมีความปลอดภัยไม่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จากการให้และรับบริการอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีการซักซ้อมแนวทางการตอบคำถามที่คิดว่าประชาชนต้องการคำแนะนำตามแนวทางที่สธ.ได้จัดทำไว้ กรณีประชาชนสอบถามแนวทางปฏิบัติเบื้องต้นเข้ามาทางหมายเลข 1669 จะมีการให้ข้อมูล แต่หากเกินความสามารถที่ศูนย์สื่อสารและสั่งการจะให้คำปรึกษาได้ก็แจ้งหมายเลขโทรศัพท์สายตรงไปที่หมายเลข 02 -590 3333

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook