โอฬารสอนมวยรบ.-ธปท. นโยบายบาทอ่อนเพิ่มรายได้ ได้ประโยชน์กว่าเช็คช่วยชาติ นายกฯย้ำศก.ฟื้น

โอฬารสอนมวยรบ.-ธปท. นโยบายบาทอ่อนเพิ่มรายได้ ได้ประโยชน์กว่าเช็คช่วยชาติ นายกฯย้ำศก.ฟื้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
โอฬารสอนมวย รัฐบาล-ธปท. ใช้นโยบายบาทอ่อนเพิ่มรายได้ประเทศจากการส่งออก ชี้ได้ประโยชน์กว่าแจกเช็คช่วยชาติ นายกฯ ย้ำสัญญาณการฟื้นเศรษฐกิจฟื้นชัด อ้างรายงานเอกชน 3 สถาบันการันตี คลังจัดเก็บภาษีมากขึ้น สั่งร่นเวลาจัดซื้อจัดจ้างตามแผน ไทยเข้มแข็ง 1 เดือนเพื่ออัดฉีดเงินลงไปเร็วขึ้น

นายโอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และทีมเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าว เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ว่า นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ตอนนี้คิดแต่เรื่องปริมาณการส่งออก ไม่ได้คิดถึงถึงอัตราแลกเปลี่ยน หลักคือมันต้องเพิ่มรายได้ที่เป็นเงินบาท ให้คนในประเทศ เพื่อจะได้เอารายได้เป็นเงินบาทที่ได้เพิ่มขึ้นไปซื้อของอุปโภคบริโภภ ลงทุนมากขึ้น

เราต้องหานโยบายในเรื่องค่าเงินบาท ทำรายได้ให้เป็นบาทเพิ่มขึ้น แน่นอนเมื่อการสั่งซื้อลดลง ราคาสั่งสินค้าที่สั่งเป็นดอล์ลาร์ลดลง แต่เมื่อค่าเงินบาทอ่อน สามารถชดเชยได้ตามการตกลงของดอล์ลาร์ อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้รายได้ในประเทศสูงขึ้น ไม่ใช่แต่จะช่วยเรื่องเพิ่มปริมาณการส่งออกเท่านั้น นายโอฬาร กล่าว

นายโอฬาร กล่าวว่า ถ้าใช้เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน จะเพิ่มได้ทั่วถึงกว่าการแจกเช็ค 2 พันบาทให้กับคน 10 ล้านคน แล้วไม่ต้องควักเงินรัฐมาจ่ายเช็คช่วยชาติถึง 2 หมื่นล้านบาท เพียงแค่ปรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจาก 33 บาท/ดอลลาร์ มาเป็น 36 บาท/ดอลลาร์ ทำอย่างไรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเงินบาทไปซื้อดอลลาร์มากขึ้น ทำให้เงินบาทมีค่ามากขึ้น แล้วดอลลาร์ที่ซื้อมา ก็เอาไปฝากเอาดอกเบี้ยเป็นเงินบาท กำไรขาดทุนตรงนี้ขึ้นกับดอกเบี้ยเงินบาท และดอกเบี้ยต่างประเทศ แล้วถ้าช่วยด้วยการออกนโยบายลดดอกเบี้ยเงินบาทมากขึ้น จะช่วยให้เข้าสู่ 36 บาท/ดอลลาร์ง่ายขึ้น แต่มันต้องเสริมโดยการให้ธปท. ปั๊มเงินบาทผ่านระบบธนาคาร เพื่อออกไปซื้อดอลลาร์

ไม่ว่าจะปั๊มเงินด้วยการออกเช็คช่วยชาติหรือไปซื้อดอลลาร์ ก็เรียกว่า การปั๊มเงินทั้งคู่ แต่มันต้องดูว่า ปั๊มแบบแรกมันได้ 10 ล้านคน แต่ปั๊มแบบที่สอง ได้มากกว่า นายโอฬาร กล่าว และว่า อีกนโยบายที่จะทำให้คนมีเงินในประเป๋ามากขึ้น คือ เรื่องสินเชื่อ โดยรัฐบาลต้องประกาศและโฟกัสลงไปเลย ว่า สินเชื่อนั้นช่วยในเรื่องใด เช่น คนสามารถเอาไปซื้อรถยนต์ที่กำลังมียอดจำหน่ายลดลง หรือ ช่วยกระตุ้นท่องเที่ยว ไทยเที่ยวไทย

ผู้สื่อข่าวถามว่า 6 เดือนที่ผ่านมา การแก้ปัญหาของรัฐบาลเป็นไปตามหลักที่ถูกต้องหรือไม่ นายโอฬาร กล่าวว่า มีอยู่อย่างเดียวคือ การใช้จ่ายภาครัฐ แต่ขาด 2 เรื่อง คือ เรื่องสินเชื่อ ช้ามาก และ เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน แค่ยอมรับว่าอัตราแลกเปลี่ยนคือเครื่องมือ แต่วันนี้รัฐบาลยังไม่พยักหน้าหรือสั่งเลย อาจเป็นเพราะธปท.ที่รับผิดชอบโดยตรง ไม่มีมุมมองในเรื่องนี้ มองอย่างเดียวว่า อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือเพิ่มปริมาณการส่งออก ไม่ได้มองเป็นเครื่องมือเพิ่มรายได้ประเทศ

วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ ว่า ขณะนี้มีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น ดังจะเห็นได้จากรายงานการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจและผู้ประกอบการจำนวน 3 ชิ้นที่ออกมาในทิศทางเดียวกันคือ

1.รายงานของสภาหอการค้าญี่ปุ่นที่สำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของไทย โดยเปรียบเทียบความเชื่อมั่นในช่วงครึ่งปีแรก 2552 กับครึ่งปีหลัง พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่ามีสัญญาณที่ดีขึ้นในเกือบทุกอุตสาหกรรม สอดคล้องกับประมาณการณ์ของรัฐบาลที่เชื่อว่าแม้เศรษฐกิจจะยังหดตัวอยู่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 แต่น่าจะดีขึ้นโดยลำดับ และกลับมาขยายตัวในแดนบวกได้ใน 3 เดือนสุดท้าย

2.รายงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่สำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรม โดยเห็นตรงกันว่าดัชนีด้านการลงทุนเริ่มดีขึ้นในเดือนมิถุนายน ถือเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 17 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณการสั่งซื้อและยอดขายเพิ่มสูงขึ้น และ

3.รายงานของสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ที่สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมแช่แข็ง ฯลฯ ที่เห็นสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว จะทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้น โดยภาคเอกชนเริ่มได้รับประโยชน์จากมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีดัชนีตัวอื่นๆ เช่น ดัชนีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เริ่มเพิ่มมากขึ้น ดัชนีการว่างงานเริ่มลดลง อีกทั้งล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม. เศรษฐกิจ) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังยังรายงานว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐที่เคยประมาณการณ์ว่าจะติดลบ 3 แสนล้านบาท ลดลงเหลือ 2 แสนล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีอากรขาเข้า และภาษีตัวอื่นๆ ได้มากขึ้น

ผมอยากบอกว่าสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายฝ่ายกังวล นี่คือภาพรวมที่แสดงให้เห็นว่าสัญญาณทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น แต่รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามทำให้การแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจเดินไปตามแผนที่วางไว้ อย่างการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ครม. ก็ร่นเวลาการจัดซื้อจัดจ้างลงตามโครงการไทยเข้มเข็ง ลง 1 เดือน เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินให้ลงไปถึงประชาชนเร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็เดินหน้าแก้ปัญหาภาคอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กัน เช่น การลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบผลิตอัญมณี เพื่อทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตอัญมณี รวมถึงการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรทั้งเรื่องยางพารา เรื่องข้าว ที่มีความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติแล้ว นายกฯ กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook