อาเซียนรวมพลังช่วยคนใช้มือถือ

อาเซียนรวมพลังช่วยคนใช้มือถือ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ทั้งเอสเอ็มเอสขยะ-โทรฯขายตรง

ภายหลังสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ร่วมกับ สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน สหพันธ์ผู้บริโภคสากล และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดประชุมเครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมแห่งภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 1 ที่ จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 28-30 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการจัดงานคู่ขนานไปกับการประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอาเซียนครั้งที่ 15 ซึ่งปีนี้ไทยเป็นเจ้าภาพ

การประชุมดังกล่าวมีองค์กรเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการ โทรคมนาคมจาก 8 ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ ออสเตรเลีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ สเปน และไทย ร่วมแบ่งปันข้อมูลปัญหาการใช้บริการด้านโทรคมนาคมที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคในแต่ละประเทศ

องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคจากประเทศฟิลิปปินส์ ระบุว่า ฟิลิปปินส์มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือกว่า 70 ล้านคน ส่งเอสเอ็มเอสกว่า 1,000 ล้านข้อความต่อวัน โดยคนฟิลิปปินส์นิยมส่งเอสเอ็มเอส มากกว่าโทรศัพท์ เนื่องจากมีราคาถูก และผู้บริโภคก็ผจญกับปัญหาเอสเอ็มเอสขยะกวนใจ ทำให้รัฐบาลต้องออกกฎหมายควบคุมการส่งเอสเอ็มเอส แต่ก็ไม่เป็นผล จนรัฐบาลมีแนวคิดจะเก็บภาษีการส่งเอสเอ็มเอส แต่ผู้ประกอบการประกาศจะส่งต่อภาระที่รัฐบาลยื่นให้สู่ผู้บริโภค ทำให้รัฐบาลยังไม่สามารถทำอะไรได้

ขณะที่องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคจากประเทศสิงคโปร์ เผยว่า สิงคโปร์มีกฎหมายควบคุมการส่งเอสเอ็มเอสขยะตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 โดยกำหนดให้ผู้ที่จัดส่งเอสเอ็มเอส แจ้งชื่อบริษัทที่ส่งข้อความ และเบอร์ติดต่อเพื่อยกเลิกการส่งให้ชัดจน และให้ระบุว่าเป็นข้อความโฆษณา ถ้าเจ้าของเลขหมายไม่สนใจเปิดอ่านสามารถกดลบได้ทันที แต่ถ้าเป็นข้อความที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รัฐบาลสามารถส่งเข้าโทรศัพท์มือถือได้

ด้านองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคจากประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า ออสเตรเลียมีกฎหมายห้ามโทรฯรบกวนตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 เพื่อแก้ปัญหาการโทรฯเข้าโทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์มือถือเพื่อขายสินค้าและบริการ โดยจะเปิดให้เจ้าของเลขหมายแจ้งความประสงค์ไว้ที่ศูนย์กลางข้อมูลเพื่อให้ผู้ประกอบการทราบว่าเลขหมายใดยินยอมให้โทรฯเข้าเครื่องได้ แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า ผู้ประกอบการที่ต้องการโทรฯขายสินค้า-บริการ ใช้วิธีโทรศัพท์มาจากประเทศอื่น เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมาย

และปัญหาโทรฯขายตรงส่วนใหญ่ที่ผู้บริโภคออสซี่ร้องเรียน คือ การโทรฯเข้ามาขายโปรโมชั่นโทรศัพท์มือถือ!!!

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สบท. กล่าวว่า ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สบท.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมแล้วกว่า 600 เรื่องร้องเรียน โดย 70% เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องเอสเอ็มเอสขยะ ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุม ซึ่งข้อมูลที่ได้จากแต่ละประเทศสบท.จะนำมาใช้เป็นแนวทางในการออกกฎหมายควบคุมการส่งเอสเอ็มเอสขยะ และการโทรฯขายสินค้าและบริการ

ขณะนี้กำลังศึกษาว่าควรออกกฎหมายที่ครอบคลุมเอสเอ็มเอสขยะและการขายตรงให้อยู่ในเล่มเดียวกันเหมือนของอินเดีย หรือออกกฎหมายควบคุมแยกกันเหมือนออสเตรเลีย และฮ่องกง ซึ่งการออกกฎหมายให้ครอบคลุมในเล่มเดียวกันจะง่ายต่อการกำกับดูแล แต่ประเทศไทยยังไม่ชัดเจนว่าเรื่องเอสเอ็มเอสขยะจะให้ กทช. หรือกระทรวงพาณิชย์ ดูแล ซึ่งอเมริกาให้กระทรวงพาิชย์ดูแล ส่วนออสเตรเลียให้ กทช.ดูแล

ทั้งนี้ ตลอด 3 วันของการจัดประชุมเครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมอาเซียน ครั้งที่ 1 ได้ข้อสรุปว่า ให้ สบท. ร่วมกับ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคออสเตรเลีย สำรวจปัญหาของผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมในประเทศอาเซียนผ่านอีเมล เช่น เลขหมายเดียวใช้ทุก ค่าย (นัมเบอร์พอร์ตอะบิลิตี้) เทคโนโลยี 3 จี สร้างประโยชน์และส่งผลกระทบกับผู้บริโภคอย่างไร การกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงินโทรศัพท์ อีเมลขยะ และเอสเอ็มเอสขยะ เป็นต้น คาดปลายปีนี้จะสามารถเปิดเผยข้อมูลการสำรวจได้ หลังจากนั้นแต่ละประเทศจะนำข้อมูลไปพิจารณาว่าจะวางมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างไร

นอกจากนี้เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคได้ทำปฏิญญาร่วมกันว่าจะช่วยกันผลักดันให้ผู้ประกอบการทั้งในประเทศ-ต่างประเทศใช้มาตรฐานเดียวกันในการดูแลผู้บริโภค โดยจะมีการร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลกันทุกปี โดยการประชุมครั้งต่อไปจะจัดที่ประเทศเวียดนาม คู่ขนานกับการจัดประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอาเซียน

ใครมีปัญหาโทรคมนาคมกวนใจอย่าเก็บไว้คนเดียว รีบโทรฯแจ้ง 1200 สายด่วนรับเรื่องร้องเรียนด้านโทรคมนาคม หรือ www.tci.or.th ให้ สบท.เก็บข้อมูลเพื่อหาทางแก้ไข.

น้ำเพชร จันทา

namphetc@dailynews.co.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook