เงินเฟ้อก.ค.ติดลบ4.4% มากสุดในรอบ10ปี พาณิชย์ยันไม่ใช่เงินฝืด อ้างฐานราคาน้ำมันปีก่อนพุ่งสูง

เงินเฟ้อก.ค.ติดลบ4.4% มากสุดในรอบ10ปี พาณิชย์ยันไม่ใช่เงินฝืด อ้างฐานราคาน้ำมันปีก่อนพุ่งสูง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
พาณิชย์แถลงเงินเฟ้อเดือนก.ค. ยังติดลบ 4.4 % ติดลบมากที่สุดในรอบ 10 ปี ปลัดพาณิชย์ยันไม่ใช่เงินฝืด แต่เป็นเพราะฐานราคาน้ำมันปีก่อนสูงมาก รวมทั้งผลมาตรการรัฐช่วยลดค่าครองชีพ แต่ปรับเป้าเงินเฟ้อใหม่ จาก 0-0.5% เป็น ติดลบ 1 ถึง 0% นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ประจำเดือนกรกฎาคม 2552 ว่า เท่ากับ 104.7 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนมิถุนายน 2552 แต่ติดลบ 4.4% เมื่อเทียบเดือนกรกฎาคม 2551 ทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือน ติดลบ 1.9% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (หักกลุ่มอาหารสดและพลังงาน) เท่ากับ 102.5 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนมิถุนายน 2551 แต่ติดลบ 1.2% เทียบเดือนกรกฎาคม 2551 ส่วนอัตราเฉลี่ย 7 เดือนสูงขึ้น 0.5%

นายศิริพลกล่าวว่า ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อยังลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และติดลบมากสุดในรอบ 10 ปี เนื่องจาก

ราคาหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ติดลบ 18%

หมวดบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ติดลบ 10%

ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ลดลง 5.1%

เครื่องแบบนักเรียน ลดลง 3.4%

อย่างไรก็ตาม

ราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มยังสูงขึ้น 3.2%

หมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มก็สูงขึ้น อาทิ ยาสูบ แอลกอฮอลล์ สูงขึ้น 13.7 /> ค่ายาและเวชภัณฑ์และของใช้ส่วนตัวเพิ่มขึ้น 1.3%

" จากตัวเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง และมีแนวโน้มลดลงตลอดไตรมาส 3 ของปีนี้ แต่จะฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม ทำให้กระทรวงพาณิชย์ปรับตัวเลขประมาณการเงินเฟ้อทั้งปี 2552 ใหม่ จากเดิม 0-0.5% เป็นติดลบ 1-0% ซึ่งเป็นการติดลบอีกครั้งนับจากปี 2542 ที่ติดลบ 1.1% บนสมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35-36 บาท/เหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และจากการขยายเวลามาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาลไปถึงเดือนธันวาคมนี้ " ปลัดกระทรวงพาณิชย์ลกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าหากเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 6 เดือน ถือว่าเป็นภาวะเงินฝืด นายศิริพลกล่าวว่า แม้เงินเฟ้อจะติดลบเป็นเดือนที่ 7 แต่ยังไม่ถือว่าเป็นภาวะเงินฝืด เพราะตัวเลขเงินเฟ้อติดลบของปีนี้เป็นผลจากฐานราคาน้ำมันที่ลดลงกว่าครึ่งจาก 130 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 เหลือ 64.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในเดือนกรกฎาคม 2552 และผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน นอกจากนี้ราคาสินค้าส่วนใหญ่ 254 รายการ จาก 300 รายการที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อยังปรับสูงขึ้น มีเพียง 85 รายการเท่านั้นที่ราคาลดลง สะท้อนถึงความต้องการและกำลังซื้อยังดีอยู่

นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานติดลบต่อเนื่องไปอีก 1-2 เดือน น่าจะเป็นวิกฤตต่อการเกิดภาวะเงินฝืด หากปล่อยให้เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อการชะลอการลงทุน เพราะที่เงินเฟ้อลดลงสะท้อนถึงความต้องการที่ลดลง รัฐบาลควรเร่งดูแลเพื่อไม่ให้เกิดเงินฝืดอย่างแท้จริง ควรเร่งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ผ่านมาตรการคลังและการเงิน โดยเฉพาะลดปัญหาการขาดสภาพคล่องและการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งรัฐควรมีเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อทั้งภาคธุรกิจและประชาชน โดยไม่ต้องวิตกต่อการเพิ่มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) และเร่งรัดการใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจตามระยะเวลาโครงการที่รัฐกำหนดไว้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook