สธ.ชี้กาฬโรคปอดอันตราย ผู้ติดเชื้อตายร้อยละ60 เตรียมเฝ้าระวังทั่วประเทศ ถ้าป่วยต้องรีบแจ้งใน24ชม.

สธ.ชี้กาฬโรคปอดอันตราย ผู้ติดเชื้อตายร้อยละ60 เตรียมเฝ้าระวังทั่วประเทศ ถ้าป่วยต้องรีบแจ้งใน24ชม.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สธ.ชี้โรคกาฬโรคปอดอันตรายกว่าไข้หวัดใหญ่2009 ผู้ติดเชื้อมีโอกาสตายสูง60เปอร์เซ็นต์ ถ้าป่วยต้องรีบแจ้งภายใน24ชม. เตรียมเฝ้าระวังทั่วประเทศ แนะดูแลบ้านให้สะอาดไม่รกรุกรัง ถ้าหนูตายมากแสดงว่าโรคเริ่มระบาด เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 สิงหาคม ที่กรมควบคุมโรค นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในงานแถลงข่าวเรื่อง โรคกาฬโรคปอดที่ระบาดในเมืองจื่อเคอทันและพื้นที่โดยรอบในมณฑลชิงไห่ ทางตะวันตกของประเทศจีน ที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน และมีการกักกันผู้ต้องสงสัยติดเชื้ออีกประมาณ 130 ราย ว่า โรคกาฬโรคเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงร้อยละ 30-60 และจัดอยู่ในโรคระบาดรุนแรง 5 โรคที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ คือ โรคอหิวาตกโรค โรคไข้ทรพิษ(ฝีดาษ) โรคไข้เหลือง โรคกาฬโรค และโรคซาร์ส ซึ่งประเทศไทยเคยมีรายงานพบผู้ป่วยมาแล้ว 4 โรค ยกเว้น โรคไข้เหลืองยังไม่พบในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม กาฬโรคมีอาการรุนแรงมากกว่าโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นพ.มล.สมชาย กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ยังไม่พบการระบาดของโรคนี้ในประเทศไทย แต่เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันโรค จึงได้สั่งให้ด่านควบคุมโรคทั่วประเทศทั้ง 64 แห่ง ทั้งทางบก เรือ และด่านในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยดำเนินการตรวจจับหนูในพื้นที่ รวมถึงหนูที่อาจจะติดมาจากการขนส่งสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อนำมาตรวจหาดัชนีหมัด เพราะหนูแหล่งรังของโรคกาฬโรคและหมัดเป็นสัตว์พาหะนำโรค โดยหากพบว่าค่าเฉลี่ยหนู 1 ตัวพบหมัดเกิน 1 ตัว ถือว่ามีความเสี่ยงพบโรคกาฬโรคสูง ซึ่งปกติสธ. ดำเนินการตรวจสอบมาทุกปี โดยค่าดัชนีหมัดล่าสุด ปี 2551 มีเพียง 0.3-0.5 ตัวเท่านั้น คือ หนู 10 ตัว มีหมัดเพียง 3 ตัว ถือว่าไม่มีความเสี่ยง ขณะนี้นานาประเทศรอดูสถานการณ์การระบาดของโรคว่าองค์การอนามัยโลก(ฮู) จะประกาศให้มณฑลชิงไห่เป็นพื้นที่โรคระบาดหรือไม่ และจะประกาศให้โรคกาฬโรคเป็นโรคระบาดระหว่างประเทศหรือไม่ เข้าใจว่าอง์การอนามัยโลก(ฮู)ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคดังกล่าวแล้ว หากฮูดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง กรมควบคุมโรคจะเสนอให้นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 เพื่อดำเนินการเข้มงวดในการป้องกันโรค โดยสามารถกักกันผู้ที่เดินทางมาจากเมืองที่มีการแพร่ระบาดของโรคตามที่ฮูประกาศได้ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กาฬโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อเยอซิเนีย เพสทิส (Yersinia pestis) ซึ่งเป็นโรคที่อยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้ง แมว หมา โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลฟันแทะ เป็นแหล่งเพาะเชื้อได้เป็นอย่างดี เช่น กระต่าย กระรอกป่า เป็นต้น และมีพาหะนำโรคเป็นหมัดหนู หากไปกัดกินเลือดหนูที่มีเชื้อแบคทีเรียกาฬโรค แล้วหมัดไปกัดคน ก็จะทำให้คนถูกกัดติดเชื้อกาฬโรคได้ ซึ่งหมัดหนูสามารถกระโดดได้ไกลถึง 1 เมตร หรือ 200 เท่าของขนาดตัว หลังจากที่คนได้รับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ จะมีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1-7 วัน จากนั้นจะเริ่มแสดงอาการด้วยการมีไข้ ตามด้วยต่อมน้ำเหลืองโต เป็นฝี และแตก เชื้อกระจายเข้าสู่กระแสเลือด โดยเฉพาะจะไปที่ปอด ทำให้เกิดปอดบวมและเสียชีวิตอย่างรวดเร็วภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งหากเชื้อลงปอดทำให้เป็นกาฬโรคปอดแล้ว จะสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ ผ่านทางการไอ จาม เสมหะ แต่ปกติเมื่อผู้ป่วยกาฬโรคปอดมักจะมีอาการรุนแรงต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้ไม่สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ ส่วนการรักษาใช้ยาปฏิชีวนะทั่วไปรักษาอาการติดเชื้อตามปกติ ผอ.สำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าว นพ.ภาสกร อัศวเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคกาฬโรคครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2495 หรือ 57 ปีที่แล้ว ที่จ.นครสวรรค์ โดยพบผู้ป่วยประมาณ 8 คน แต่เป็นกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองไม่ใช่กาฬโรคปอดที่พบในประเทศจีน ส่วนในประเทศใกล้เคียงมีรายงานพบผู้ป่วยที่ประเทศจีนและพรมแดนประเทศอินเดียและบังคลาเทศเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา จากนั้นไม่พบรายงานผู้ป่วยจากโรคนี้อีก การพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ในประเทศจีนอีกครั้งจึงถือว่ากาฬโรคเป็นโรคอุบัติซ้ำ

ผอ.สำนักระบาดวิทยา กล่าวต่อว่า การที่ทางการจีนประกาศให้พื้นที่ที่มีการระบาดของโรคกาฬโรคปอดเป็นเขตโรคติดต่อร้ายแรง ทำให้มีการกักคนไม่ให้เข้าและออกพื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว ประเทศไทยจึงไม่จำเป็นต้องประกาศเตือนไม่ให้มีการเดินทางไปยังพื้นที่มณฑลชิงไห่ เช่นเดียวกับไม่จำเป็นต้องกักบริเวณผู้ที่เดินทางมาจากเมืองดังกล่าวในรอบ 7 วันที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นระยะการฟักตัวของโรค เนื่องจากโรคนี้จะติดต่อจากคนสู่คนในระยะที่เชื้อลงปอดจนทำให้เกิดการไอ โดยปกติผู้ป่วยที่เชื้อลงปอดจะมีอาการรุนแรง เกิดภาวะปอดบวมต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ไม่สามารถมีเรี่ยวแรงออกมาเดินตามสถานที่สาธารณสุขได้เหมือนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่สามารถแพร่เชื้อได้แม้อาการไม่รุนแรง

ด้านนพ.สมชัย นิจพานิช รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กาฬโรคมีความรุนแรงสูง จัดเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงต้องแจ้งความภายใน 24 ชั่วโมง วิธีการสังเกตหากเริ่มมีการระบาดของโรคนี้ในพื้นที่ คือ มีหนูตายจำนวนมาก การป้องกันที่ดีที่สุด ประชาชนต้องดูแลสุขาภิบาลในบ้านให้สะอาดเรียบร้อย ไม่ให้รกรุงรัง จนกลายเป็นที่อยู่อาศัยของหนูที่เป็นพาหะที่สำคัญของโรคนี้และโรคอื่นๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook