อ.จุฬาฯทำจม.เปิดผนึกจี้ ทักษิณ สั่งยุติยื่นถวายฎีกา

อ.จุฬาฯทำจม.เปิดผนึกจี้ ทักษิณ สั่งยุติยื่นถวายฎีกา

อ.จุฬาฯทำจม.เปิดผนึกจี้ ทักษิณ สั่งยุติยื่นถวายฎีกา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาจารย์จุฬาฯกว่า 100 คน เข้าชื่อทำจดหมายเปิดผนึก คัดค้านลงชื่อถวายฎีกา ช่วยทักษิณ ระบุชัด ทำผิดจารีตประเพณี และไม่ใช่ฎีการ้องทุกข์ที่ถูกต้อง แต่มีเป้าหมายทางการเมืองให้กระทบความเคารพศรัทธาที่ประชาชนมีต่อสถาบันโดยตรง จี้ทักษิณปฏิบัติตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ สั่งลิ่วล้อยุติการทำผิดกฎหมาย

วันที่ 4 ส.ค. คณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประมาณ 100 กว่าคนได้ทำจดหมายเปิดผนึกเรื่อง "ฎีกาตามกฎหมายและประเพณี และฎีกาการเมือง : อันตรายและผลกระทบ" เพื่อคัดค้านการล่ารายชื่อของกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยและนักโทษคดีทุจริตที่อยู่ระหว่างหลบหนี เนื่องจากเห็นว่า การล่าชื่อถวายฎีกาครั้งนี้เป็นการฝ่าฝืนประเพณีที่มีมาช้านาน มีปัญหาความไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้องในการถวายฎีกา

เนื้อความในจดหมายเปิดผนึก ระบุโดยสรุปว่า การถวายฎีกาครั้งนี้ไม่ใช่ฎีการ้องทุกข์ตามปกติ แต่เป็นฎีกาที่มีเป้าหมายในทางการเมืองเพื่อให้กระทบความเคารพศรัทธาที่ประชาชนมีต่อสถาบันฯโดยตรง จึงเรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ปฏิบัติตามคำสัตย์ปฏิญาณ รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมาย ประเพณี และระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้อง และขอให้กลุ่มผู้นำการเมืองซึ่งสนับสนุนตัวเขา ที่ดำเนินการโฆษณาล่ารายชื่ออยู่ในขณะนี้หยุดยั้งกระทำการผิดกฎหมาย ประเพณี และระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการฎีกาเสีย และขอให้ประชาชนผู้จงรักภักดีต่อสถาบันฯไม่หลงเชื่อคำโฆษณาที่มิได้เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องของกฎหมาย ประเพณี และระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการถวายฎีกา

จดหมายเปิดผนึกของคณาจารย์จุฬาฯ ยังขอให้สภามหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัย นักวิชาการที่เป็นผู้นำความคิด และปัญญาในสังคม เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชน นักธุรกิจ ประชาชนพิจารณาดำเนินการให้จดหมายเปิดผนึกนี้ไปสู่การพิจารณาของรัฐบาล ราชเลขาธิการ และประชาชนทั้งประเทศ เพื่อให้การเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย ประเพณี ระเบียบ และความเหมาะสมดีงามตามที่ถูกที่ควร พร้อมขอเรียกร้องให้สำนักราชเลขาธิการ ซึ่งมีอำนาจในการกลั่นกรองเรื่องฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ใช้อำนาจตามกฎหมายและประเพณีที่มีอยู่ พิจารณาฎีกาดังกล่าวให้รอบคอบก่อนตัดสินใจดำเนินการใดๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook