รายงานพิเศษ : สสช.สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการบริหารงานของรัฐบาล

รายงานพิเศษ : สสช.สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการบริหารงานของรัฐบาล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการบริหารงานของรัฐบาล พบว่าประชาชนพึงพอใจนโยบายเรียนฟรีมากที่สุด ร้อยละ 98.2 ขณะที่เห็นด้วยกับการให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมากที่สุด ร้อยละ 98.9 ตามที่รัฐบาลนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาบริหารประเทศ และแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 สำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ สสช. ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการบริหารงานของรัฐบาล ที่ได้บริหารประเทศ และกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยได้ทำการสำรวจในช่วง 3 เดือนแรก ระหว่างวันที่ 1 20 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา เพื่อติดตามการบริหารงานของรัฐบาล ความพึงพอใจ รวมทั้งสิทธิ หรือ ประโยชน์ที่ครัวเรือนได้รับจากนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล ตลอดจนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการติดตาม ประเมินผล และกำหนดแนวทางการบริหารประเทศต่อไป ในส่วนของการติดตามการบริหารงานของรัฐบาล ประชาชนร้อยละ 82.8 ระบุว่าติดตาม โดยผู้ติดตามเป็นประจำมีร้อยละ 22.5 และติดตามเป็นบางครั้งมีร้อยละ 60.3 มีเพียงร้อยละ 17.2 ที่ระบุว่าไม่ได้ติดตาม สำหรับการติดตามรายการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ ผู้ที่ติดตามรายการส่วนใหญ่ติดตามจากสื่อโทรทัศน์มากกว่าสื่ออื่น โดยภาคใต้ติดตามมากที่สุด ร้อยละ 58.7 รองลงมาคือ กรุงเทพฯ ร้อยละ 51.1 ภาคกลาง ร้อยละ 49.5 ภาคเหนือ ร้อยละ 40.8 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ติดตามรายการน้อยที่สุด ร้อยละ 37.2 ทำให้ภาพรวมทั้งประเทศมีผู้ติดตามรายการร้อยละ 45.2 ด้านนโยบายของรัฐบาลที่ประชาชนทราบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การให้เบี้ยยังชีพกับผู้สูงอายุ ร้อยละ 96.8 นมโรงเรียน ร้อยละ 92.2 การสนับสนุนการเรียนฟรี ร้อยละ 92.0 การจัดสรรเงิน 2,000 บาท ร้อยละ 91.9 และ 5 มาตรการ 6 เดือน ร้อยละ 90.9 ขณะที่นโยบายการฝึกอบรมแรงงาน มีครัวเรือนร้อยละ 7.7 ที่สมาชิกในครัวเรือนมีสิทธิ แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ สำหรับนโยบาย 5 มาตรการ 6 เดือนมีครัวเรือนร้อยละ 69.0 ระบุว่าได้รับประโยชน์ และร้อยละ 31.0 ระบุว่าไม่ได้รับประโยชน์ โดยมาตรการที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ การใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนฟรี 90 หน่วย/เดือน ส่วนนโยบายของรัฐบาลที่ประชาชนพึงพอใจมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การสนับสนุนการเรียนฟรี ร้อยละ 98.2 การให้เบี้ยยังชีพกับผู้สูงอายุ ร้อยละ 98.1 การจัดสรรค่าตอบแทนให้ อสม. ร้อยละ 97.3 นมโรงเรียน ร้อยละ 97.0 และ 5 มาตรการ 6 เดือน ร้อยละ 96.4 ขณะที่นโยบายที่ประชาชนเห็นด้วยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การให้เบี้ยยังชีพกับผู้สูงอายุ ร้อยละ 98.9 การสนับสนุนการเรียนฟรี ร้อยละ 97.9 นมโรงเรียน ร้อยละ 97.9 ชุมชนพอเพียง ร้อยละ 97.7 และการฝึกอบรมแรงงาน ร้อยละ 96.4 สำหรับภาคใต้ยังเป็นภาคที่ประชาชนพึงพอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลมากที่สุดถึงร้อยละ 98.8 ตามด้วยภาคเหนือ ร้อยละ 96.2 ภาคกลาง ร้อยละ 94.1 กรุงเทพฯ ร้อยละ 91.4 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 89.8 เช่นเดียวกับความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งภาคใต้มีความมั่นใจสูงสุด ร้อยละ 85.2 ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่มีความมั่นใจมากที่สุด ร้อยละ 33.2 อย่างไรก็ตาม ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลแก้ไข 5 อันดับแรก ได้แก่ เศรษฐกิจการเงินของประเทศ/การส่งออก ร้อยละ 57.4 ความขัดแย้งของคนในสังคมไทย ร้อยละ 36.3 การว่างงาน/การฝึกอาชีพ ร้อยละ 26.9 พืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำ ร้อยละ 17.6 และการจัดตั้งรัฐบาลที่มีความมั่นคง ร้อยละ 14.7 ส่วนข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล 5 อันดับแรก ได้แก่ควรสร้างความน่าเชื่อถือในการบริหารประเทศ ร้อยละ 48.3 ควรสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม ร้อยละ 21.1 ควรจัดทำนโยบายระยะสั้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ร้อยละ 9.3 ควรแก้ปัญหาเรื่องต่าง ๆ ด้วยความเสมอภาค ร้อยละ 7.7 และควรแก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ ร้อยละ 5.3
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook