เจรจาไทย-กัมพูชา

เจรจาไทย-กัมพูชา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ตัวแทนของกระทรวงการต่างประเทศไทยและกัมพูชาร่วมหารือปัญหาชายแดนและพื้นที่ทับซ้อนของทั้ง 2 ประเทศในวันที่ 4-5 สิงหาคมที่ผ่านมา

เป็นการหารือครั้งสำคัญ เพราะมีประเด็นข้อถกเถียงเรื่องผลประโยชน์มหาศาลรวมอยู่ด้วย

นั่นคือการตกลงปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในทะเลเขตที่ 3 แปลงที่ 10 และ 11 ซึ่งคาดว่าจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติสำคัญอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

และก่อนหน้าทั้งไทยและกัมพูชาอนุมัติให้บริษัทพลังงานระดับโลกเข้าดำเนินการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

โดยขณะที่ไทยให้สัมปทานการสำรวจไปกับเชฟรอนของสหรัฐ และมิตซุยจากญี่ปุ่น

กัมพูชาก็ให้สัมปทานการสำรวจไปกับโทเทลของฝรั่งเศส

ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ลงนามในสัญญาสัมปทานการสำรวจ 10 ปีกับบริษัทจากฝรั่งเศสนั้น ตัวแทนเจรจาของฝ่ายกัมพูชาเคยให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า พื้นที่ในทะเลดังกล่าวเป็นของกัมพูชาอย่างแน่นอน

ขณะที่แม้ฝ่ายไทยจะไม่มีการประกาศแสดงจุดยืนอะไร แต่การอนุมัติให้สองบริษัทจากสหรัฐและญี่ปุ่นรับสัมปทานเข้าไปดำเนินการสำรวจ ก็เป็นการแสดงออกกลายๆ ถึงความมั่นใจว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของไทย

การเจรจาที่ต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์จำนวนมหาศาลของชาติเป็นเดิมพัน จึงหวังได้ยากว่าจะดำเนินไปอย่างราบรื่น

แต่การปล่อยให้ข้อขัดแย้งหรือความไม่แน่นอนดำรงอยู่ต่อไป จะยิ่งส่งผลเสียหายต่อทั้งสองประเทศมากกว่า

แม้จะไม่สามารถหาข้อตกลงได้ในทันทีทันควัน แต่การนำประเด็นซึ่งเป็นปัญหาขึ้นมาพูดกันอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา

เพื่อที่จะรับรู้ว่าทั้งสองฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกันตรงไหน หรือมีประเด็นใดที่ขัดแย้งยังไม่สามารถตกลงกันได้

ย่อมเป็นประโยชน์กว่าความอึมครึมที่มีโอกาสจะนำไปสู่บรรยากาศของการเผชิญหน้า

และถ้าสามารถตกลงกันในสิ่งที่เป็นประเด็นใหญ่ เป็นความคาดหวังของทั้งสองฝ่าย การเจรจาปัญหาต่อๆ ไปที่มีความยุ่งยากซับซ้อน หรือผลประโยชน์เกี่ยวพันน้อยกว่านี้ ก็ย่อมจะมีแนวโน้มดีขึ้นด้วย

มาร่วมกันเอาใจช่วยให้การเจรจาครั้งนี้ฟื้นฟูความรักและปรารถนาดีของทั้งสองประเทศคืนมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook