ทุบ100 ตึกขยายบรรทัดทอง ทุบทิ้งอาคารพาณิชย์ให้เช่า/กทม.ขยายถนน 8เลน/เกาะกลางผุด''โมโนเรล''

ทุบ100 ตึกขยายบรรทัดทอง ทุบทิ้งอาคารพาณิชย์ให้เช่า/กทม.ขยายถนน 8เลน/เกาะกลางผุด''โมโนเรล''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กทม.ผนึกทรัพย์สินจุฬาฯ เล็งพัฒนาที่ดินให้มีศักยภาพ ทุบทิ้งกว่า 100 อาคารพาณิชย์ให้เช่า เดินหน้าขยายถนนบรรทัดทองตลอดแนว ให้มีเขตทางกว้าง 30 เมตร 6-8 เลน พร้อมทำเกาะกลางผุดรถไฟฟ้าโมโนเรล เชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดินย่านถนนพระราม 1 และพระราม 4 รองรับแผนพัฒนาที่ดินเพิ่มมูลค่า

ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยฐานเศรษฐกิจว่า ขณะนี้ กทม.มีแผนร่วมกับสำนักทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินการก่อสร้างและขยายถนน บรรทัดทอง ตลอดแนว ให้มีเขตทางกว้าง 30 เมตร หรือประมาณ 6-8 ช่องจราจร เนื่องจากปัจจุบัน มีปัญหาถนนเล็กและคับแคบเพียง 4 ช่องจราจร ไม่สามารถรองรับปริมาณจราจรที่คับคั่งบริเวณดังกล่าวได้

นอกจากนี้ ยังจะพิจารณาทำเกาะกลางถนนเพื่อลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้ารูปแบบโมโนเรล ซึ่งเป็นรูปแบบรางเดี่ยวขนาดเล็ก ลงทุนไม่มาก งบประมาณอยู่ระหว่างพิจารณา ทั้งนี้ เพื่อเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าบีทีเอส ของกทม. บริเวณ ถนน พระราม 1 และรถไฟฟ้าใต้ดิน บริเวณถนนพระราม 4 ให้สะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะรองรับแผนพัฒนาที่ดินของจุฬาฯให้มีศักยภาพมากขึ้น ทำให้มีมูลค่าและสะดวกต่อการสัญจรไปมา แต่การลงทุนขยายถนนบรรทัดทอง และรถไฟฟ้าโมโนเรล ครั้งนี้ จะต้องมีการรื้ออาคารพาณิชย์ให้เช่าของสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ บริเวณด้านทิศตะวันตกของถนนออกไม่ต่ำกว่า 100 อาคาร เนื่องจากจะต้องขยายเขตทางค่อนข้างมาก ซึ่ง ทางจุฬาฯเห็นด้วยกับเรื่องนี้แล้ว

ได้หารือในเบื้องต้นกับ รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการทรัพย์สินจุฬาฯ ซึ่งเขาได้ตกลงตามนี้แล้ว

อย่างไรก็ดีในส่วนของรูปแบบการดำเนินการจะต้องมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง เนื่องจากเป็นแผนพัฒนาร่วมกัน และมองว่าจะเป็นผลดีในอนาคต เมื่อเทียบกับการรื้ออาคารบางส่วนออกเพื่อรองรับการขยายถนน และรถไฟฟ้าที่จะช่วยนำพาความเจริญเข้ามาสู่พื้นที่

ด้าน รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ หนึ่งในคณะกรรมการ สำนักงานทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานกรรมการบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด กล่าวว่า กทม. มีแนวคิดที่จะ ขยายถนนบรรทัดทอง เขตปทุมวัน ซึ่งเป็นที่ดินของทรัพย์สินจุฬาฯ ให้มีเขตทางที่กว้างขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการเดินทางและ พัฒนาโครงการโมโนเรลให้เข้าพื้นที่ เชื่อมโครงข่ายรถไฟฟ้าบีทีเอสและใต้ดิน

อย่างไรก็ดีทางจุฬาฯยินดีที่จะดำเนินการ และหากมีการขยายถนนดังกล่าว จุฬาฯยอมที่จะรื้ออาคารพาณิชย์ทั้งสองฟากถนน กว่า 100 อาคารออกไป ซึ่งคิดเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านบาท แต่ระยะยาวมองว่ามีความคุ้มค่าและกลับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่ดังกล่าว

ถนนบรรทัดทองจะขยายซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างนัด รองผู้ว่าฯกทม. ดร.ธีระชน ซึ่งผมให้จุฬาฯนัดในนามของผมโดยจุฬาฯร่วมกทม. ซึ่งหากจะทำ ต้องทุบตึกแถว 100 กว่าห้อง ส่วนผู้เช่าก็ต้องยอมรับ เพราะต้องมีการปรับ เนื่องจาก บริเวณนั้นมีทั้งสำนักงานเขต สำนักอนามัย และแฟลตต่างๆ

ปัจจุบันบรรทัดทองขยายใหญ่มากเนื่องจากมีความเจริญเข้ามา ซึ่งก่อนหน้านี้ พื้นที่มีขนาดเล็ก ซึ่งที่ดินของจุฬาฯมีทั้งสองฝั่งถนนบรรทัดทอง โดยบริเวณนั้นเรียกว่าสวนหลวง ซึ่งเป็นเวิ้งใหญ่ โดยแผนขยายถนนจะยาวไปถึง ติดคลองหัวลำโพงด้านหลัง

รศ.ประพันธ์พงศ์กล่าวอีกว่า ความจริงแล้วการแก้ปัญหาจราจร ควรดำเนินการระบบราง ไปพร้อมๆกับโครงข่ายถนนอื่นๆ เหมือนต่างประเทศ แต่เมื่อเมืองขยายมากขึ้นและลงมือก่อสร้างหรือขยายถนน ก็จะมีปัญหาตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรื้อย้ายอาคาร กระแสต่อต้านว่าจะทำให้เกิดปัญหามลพิษ อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา บริเวณที่ตั้งของห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง จะเป็นสลัม แต่ปัจจุบันมีการพัฒนามีระบบรถไฟฟ้าโครงข่ายถนน กลับกลายเป็นพื้นที่มาบุญครองมีค่าเช่าพื้นที่ต่อตารางเมตรแพงที่สุดในประเทศไทย รวมถึงสยามสแควร์ด้วยเช่นกัน

จากสลัมตรงบริเวณบุญครอง มีการขับไล่ขึ้นศาลกันมาตลอด จนมีการพัฒนาได้สำเร็จ และโครงการต่อมา ก็เป็นจามจุรีสแควร์ และตอนนี้ ก็เชิญผมไปช่วย พัฒนาบริเวณสวนหลวง บรรทัดทอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook