เปิดใจ''ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ'' ดัน''กรุงเทพธนาคม''พ้นกทม. เป็นผู้ลงทุนหารายได้เอง

เปิดใจ''ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ'' ดัน''กรุงเทพธนาคม''พ้นกทม. เป็นผู้ลงทุนหารายได้เอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นวิสาหกิจ หน่วยงานหนึ่ง ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ปัจจุบันมีบทบาทหน้าที่สำคัญหลายด้าน ทั้งการให้บริการและบริหารงานสาธารณูปโภคพื้นฐาน ในเขตกทม. เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและ เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่แสวงหากำไร

ฐานเศรษฐกิจได้สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ในฐานะ ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม ฯ ถึงแผนการดำเนินงานและทิศทางในอนาคตดังนี้

+++แผนการดำเนินงาน

แผนการดำเนินงานนั้นได้วางแผนรับบริหารงานต่อจากกทม. ได้แก่ การเดินรถเมล์ด่วน บีอาร์ที สายแรก ช่วงช่องนนทรี -ราชพฤกษ์ ปัจจุบัน กำลังมีปัญหาและเรื่องอยู่ที่ดีเอสไอ เพราะกทม. เป็น เจ้าของเรื่องที่เข้าไปทำความเข้าใจ แต่บริษัทจะรับงานต่อจากกทม. เพื่อให้ บีอาร์ทีสายนี้ เปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ โดยแนวทางจะใช้รูปแบบให้เอกชนที่มีความชำนาญเข้ามาเดินรถ ซึ่งจะไม่ใช้วิธีเช่า หรือ จัดซื้อรถเหมือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันกรุงเทพธนาคมก็ต้องลงทุนเพิ่มในส่วนของการบริหารจัดการวงเงิน 60 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปีหน้า

ส่วนโครงการรถเมล์ด่วนบีอาร์ทีอีกสายที่น่าสนใจและต้องเร่งดำเนินการคือ สายแจ้งวัฒนะ เนื่องจากขณะนี้มีศูนย์ราชการ เกิดขึ้นและเริ่มมีหน่วยงานราชการเข้าไปอยู่หลายหน่วยงานรวมถึงการเข้าติดต่อขอใช้บริการจากประชาชนจะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้จราจรถนนแจ้งวัฒนะคับคั่ง เมื่อมีศูนย์ราชการและห้างสรรพสินค้าต่างๆเกิดขึ้นตามมา ยิ่งก่อให้เกิดปัญหารถติดมากขึ้น ดังนั้นทางออกต้องดำเนินการโครงการนี้อย่างเร่งด่วน

+++23 ส.ค.เปิดBTS ฝั่งธน

นอกจากนี้ กรุงเทพธนาคมยังได้รับบริหารกิจการเดินรถส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีลมช่วง สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร ที่เพิ่งเปิดทดลองใช้ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งยอมรับว่า กรุงเทพธนาคม มีส่วนช่วยให้เกิดความคล่องตัว เนื่องจาก กทม. เป็นหน่วยงานราชการ อาจทำให้ล่าช้าเพราะมีกระบวนการขั้นตอนค่อนข้างมาก

ที่มีปัญหาล่าช้าเพราะเกิดจากเรื่องระบบ ต่างๆ มากมาย ซึ่งต้องมีการเจรจาให้ใช้ระบบเดียวกัน เพราะช่วงต่อขยายฝั่งธน 2.2 กิโลเมตรจะต้องต่อเชื่อมกับ บีทีเอส ซึ่งได้แก้ปัญหาไปแล้ว

และในวันที่ 23 สิงหาคม 2552 นี้ ได้ทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธาน ในพิธีเปิด อย่างเป็นทางการ หลังจากนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธานเปิดทดลองใช้เส้นทางไปเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

การเปิดเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอส ข้ามเจ้าพระยา ถ้าพูดในแง่ประวัติศาสตร์ ถือว่าสำคัญมาก เพราะที่ผ่านมาได้มีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาต่างๆ ซึ่งทำเสมือนให้เมืองสองเมืองเชื่อมกัน ระหว่าง กทม. กับธนบุรี ดังนั้นรถไฟฟ้าเส้นนี้ ก็มีความหมายในแง่ประวัติศาสตร์ของระบบขนส่งคมนาคม

+++แก้คอขวดสะพานตากสิน

ตามความเป็นจริงแล้ว รถไฟฟ้า ฝั่งธน 2.2 กิโลเมตร แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ แต่ก็มีปัญหาอยู่พอสมควร ซึ่งจุดใหญ่คือบริเวณสะพานตากสินไม่ควรจะมี เพราะทำให้เป็นคอขวด แต่ปัจจุบันมีปัญหาตามมามาก

สิ่งที่ทำได้ คือ 1.เพิ่มขบวนรถ อีก 4 ขบวนปลายปีนี้ จะสามารถช่วยรองรับปริมาณผู้โดยสารได้อีกเป็นจำนวนมาก 2.แก้ส่วนสะพานตากสิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างวางแผน ทั้งนี้ แผนเดิมจริงๆต้องรื้อสะพานตากสิน และขยายรางคู่ แต่ติดปัญหาดังกล่าว ซึ่งเข้าใจว่า ปัจจุบันคงทำไม่ได้ ดังนั้นทางออก จะขยายสะพาน แต่จะต้องเสียงบประมาณมาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของกทม.

+++กำจัดขยะแยกจากกทม.

นอกจากนี้กรุงเทพธนาคม ยังจะเข้าไปช่วยกทม.เรื่องปัญหาขยะติดเชื้อ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะปัจจุบันเกิดขึ้นค่อนข้างมาก และกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งจะใช้วิธีฝังกลบไม่ได้แล้ว เพราะ ขยะเริ่มมากขึ้น เมื่อไปฝังกลบที่ไหน จะมีปัญหาชาวบ้านร้องเรียน ซึ่งทางออก ควรใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และกรุงเทพธนาคมน่าจะทำได้ดี และจะเป็นผู้ลงทุน และบริหารจัดการเอง โดยบริษัทสามารถรับขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่เพียงเฉพาะของกทม.เท่านั้น

อย่างไรก็ดีหากกทม. จะดำเนินการ จะต้องลงทุนซื้อเครื่องจักร ใหม่ และถ้าดำเนินการตามระบบเดิม กทม. ต้องสร้างและให้ กรุงเทพธนาคม บริหารแต่ติดว่าถ้าจะให้กรุงเทพธนาคมเป็นแขนขาที่แท้จริง ควรให้กรุงเทพธนาคมลงทุนเอง ซึ่งเพราะถือว่าเป็นวิสาหกิจและ กทม.ถือหุ้น 90 % ดังนั้น จึงควรป้อนงานให้กรุงเทพธนาคมทำจะเหมาะสมกว่า ขณะที่กทม.มีหน้าที่เพียงควบคุม ที่สำคัญ คณะกรรมการของกรุง

เทพธนาคม (บอร์ดกรุงเทพธนาคม ) ส่วนใหญ่ จะมาจากกทม. ดังนั้น กำไรจะเข้ากทม.หมด

+++พลิกบทบาทโรงฆ่าสัตว์

อีกเรื่องที่มีปัญหา และกทม.กำลังจะมอบให้กรุงเทพธนาคม รับไปบริหารจัดการ คือ โรงฆ่าสัตว์ที่ พุทธมณฑลสาย 3 ซึ่งขณะนี้ยังมีปัญหาฟ้องร้องกับผู้รับเหมา

อย่างไรก็ดี หากยังคงดำเนินการเป็นโรงฆ่าสัตว์คงไม่เหมาะ แต่ถ้าเปลี่ยน บริเวณดังกล่าว เป็นโครงการผลิตอาหารให้กับสังคม จะเหมาะสมกว่า ที่สำคัญ โครงการนี้ของกทม. ยังสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับหน่วยงานอื่น หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆทั่วประเทศ ได้เห็นว่า เป็นแหล่งผลิตอาคารครบวงจร ที่มีคุณภาพถูกสุขอนามัย ราคาไม่แพง ถ้าเป็นแค่โรงฆ่าสัตว์ จะไม่คุ้มทุน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกทม.ควรเข้ามามีบทบาทเฉพาะผู้กำกับไม่ใช่ผู้กระทำ แต่ปัญหาปัจจุบัน กทม.กลับดำเนินการเองทั้งหมด

ถ้ากรุงเทพธนาคม เข้าไปทำ จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพราะ กทม.เป็นองค์กรส่วนท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ดังนั้น ควรทำเป็นตัวอย่างให้คนอื่นรับความรู้ และรับเป็นที่ปรึกษา หากทำได้ ก็ดี

+++ตั้งเป้าลงทุนเอง

ขณะนี้ มีแผนเรื่องการลงทุน โรงจำกัดขยะ และ ศูนย์อาหาร อยู่แล้วต่อไป จะเข้าไปรับดำเนินการ เกี่ยวกับการขนส่งมวลชน รถเมล์ด่วนบีอาร์ที ซึ่งมีประโยชน์มาก แม้ตัวรถเมล์ด่วนบีอาร์ที จะแพงกว่ารถเมล์ของขสมก. แต่จุดเด่นของบีอาร์ทีคือ ระบบอาณัติ สัญญาณ ซึ่งเป็นสมองกล ที่สามารถเทียบชานชาลา ช่วยเหลือคนชราคนพิการได้ และ ไม่มีปัญหารถติดเหมือนรถเมล์ขสมก.

นอกจากนี้ ยังมีงานด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะสานต่อ จากสมัยที่ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯกทม. ที่ได้ดำเนินโครงการแฟลตฟักข้าวโพด บริเวณซอยรามคำแหง 40 ปัจจุบัน ยังเหลือที่ดิน อยู่พอสมควร ซึ่งจะเข้าไปพัฒนาต่อเนื่องในรูปแบบของ อพาร์ตเมนต์ อาคารชุด ฯลฯ

อีกโครงการหนึ่งที่ กรุงเทพธนาคม จะดำเนินการเองคือ จะนำที่ดินที่มีอยู่อีก 27 ไร่ ที่จังหวัดอุทัยธานี นำไปพัฒนาเป็นศูนย์ให้บริการสุนัขครบวงจร เพื่อตอบสนองกับเจ้าของที่รักสุนัข ได้แก่ โรงพยาบาลสุนัข สถานที่พักฟื้นสุนัขเจ็บป่วย โรงแรมที่พักทั้งคนและสุนัข สปา ศูนย์อาหาร ฯลฯ หากพัฒนาเป็นศูนย์ใหญ่ที่อุทัยได้จะมีรายได้เข้ามามาก เพราะเป็นที่ดินว่างเปล่า

ทั้งนี้ เหตุผลที่เลือกจังหวัดอุทัยธานีเพราะเป็นที่ดินของกรุงเทพธนาคมเอง และ ปัจจุบันกทม. ในสมัยที่นายสมัครเป็นผู้ว่าฯ ได้นำที่ดินมาพัฒนาเป็นที่เลี้ยงหมาจรจัด และหาก กรุงเทพธนาคมต่อยอด ดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรต่อเนื่อง ดังกล่าวน่าจะเป็นผลดีตามมา ซึ่งจะสอดคล้องกับ นโยบายของกทม. ที่ มีแนวคิด นำพื้นที่ 5 ไร่ บริเวณ จตุจักร มาเปิดพื้นที่ให้สุนัขวิ่งออกกำลังกาย

+++ขยายงานไปต่างจังหวัด

แม้จะเป็นบริษัทลูกของกทม. แต่ในทางปฏิบัติ กรุงเทพธนาคม จะต้องหารายได้เลี้ยงตัวเอง ดังนั้น นอกจากการรับงานหลังจากกทม.แล้ว ต้องขยายงานรับทำกิจกรรมยังพื้นที่ด้านนอก โดยเฉพาะ ต่างจังหวัด ซึ่งจะช่วยให้กรุงเทพธนาคม มีรายได้ของตัวเอง และขณะนี้ ได้รับเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานอื่นๆบ้างแล้วเช่นการไปเป็นที่ปรึกษาเล็กๆ ให้กับ โรงพยาบาลชลประทาน

+++ยกฐานะกรุงเทพธนาคม

ตามที่ คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ แล้ว ทำให้กรุงเทพธนาคม สามารถดำเนินกิจการต่างๆได้ ทั้งลงทุนเองและการรับบริหาร การรับเป็นที่ปรึกษา ต่างๆทั่วไปได้ ส่งผลให้ภารกิจหน้าที่มีมากขึ้นเนื่องจากมีความคล่องตัว โดยไม่ต้องมีปัญหาติดขัดกับพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ร่วมทุน

ขณะนี้ จึงได้วางแผนปรับโครงสร้างองค์กร กำหนดแผนธุรกิจระยะยาว และการขยายงานรองรับในอนาคต รวมถึงการพิจารณาเพิ่มจำนวนบุคลากร โดยจะใช้ความชำนาญที่ได้จากกทม. รับงานจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ

นอกจากนี้ จะมีการโยกย้ายสถานที่ตั้งของหน่วยงานใหม่ จากชิดลมไปอยู่ที่ บริเวณสี่แยกอสมท ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กว้างใหญ่กว่า และ สามารถรองรับการขยายงานได้ ขณะนี้อยู่ระหว่าง วางแผนว่า จะมีรายได้ รายจ่ายอย่างไร โดยตั้งเป้าไม่เกิน 2ปี เพื่อรองรับเศรษฐกิจฟื้นกลับมา ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพธนาคมไม่ได้รับงบประมาณจากกทม. แต่ จะต้องหาเลี้ยงตัวเองจากรายได้ที่เป็นค่าจ้างจากกทม. ไม่ว่าจะเป็นการบริหารส่วนต่อขยาย บีทีเอส ฝั่งธน ระยะทาง2.2กิโลเมตร

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยอมรับว่ายังไม่พอเลี้ยงทั้งบริษัท ทางออกจะต้องไปหางานอย่างอื่น โดยไม่เป็นภาระกับกทม.

+++ดึงสายสีเขียวจากรัฐบาล

สำหรับการเดินรถไฟฟ้านั้นโดยทฤษฎีกทม.ต้องดำเนินการเอง เพื่อให้เป็นระบบเดินรถรูปแบบเดียวกัน สะดวก และประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เพราะหากให้ต่างหน่วยงานทำก็จะมีระบบตั๋ว และการต่อเชื่อมที่ไม่สัมพันธ์กัน

แต่บ้านเราทุกวันนี้ มีปัญหาทำระบบขนส่งมวลชนคนละเจ้า ซึ่ง นายสมัคร สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี ได้โอนส่วนต่อขยายสายสีเขียว 2สายให้กับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ไปทำ ซึ่งไม่ถูกต้อง ทางที่ดีต้องให้กทม.ดำเนินการ เพื่อจะได้เป็นระบบเดียวกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook