อ่านการ์ตูนผ่านโทร.มือถือ ตลาดยังไม่โตแต่มีอนาคต

อ่านการ์ตูนผ่านโทร.มือถือ ตลาดยังไม่โตแต่มีอนาคต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
การอ่านการ์ตูนผ่านหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ว่าตลาดในเวลานี้ยังไม่ใหญ่โตมากนัก ในญี่ปุ่นเองซึ่งเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมการอ่านการ์ตูนมายาวนาน มูลค่าตลาดการ์ตูนบนโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ประมาณ 32,900 ล้านเยน (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552) แม้จะเทียบไม่ติดกับตลาดการ์ตูนในรูปหนังสือ (4.48 แสนล้านเยน) แต่ถ้าดูอัตราการเติบโตก็พอจะอุ่นใจได้ว่า นี่คือตลาดที่มีอนาคต เพราะอัตราการขยายตัวของมูลค่าตลาดเมื่อเทียบกับปี 2546 หรือประมาณ 6 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีบริการอ่านการ์ตูนผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือในประเทศญี่ปุ่นนั้น ก็จะพบว่า ตลาดโตขึ้นถึง 43%

ข้อมูลดังกล่าวได้รับการเปิดเผยโดยบริษัทวิจัย อิมเพรส อาร์แอนด์ดีฯ ภายในงานเทศกาลหนังสือนานาชาติแห่งกรุงโตเกียว หรือ Tokyo International Book Fair ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเดือนกรกฎาคม การเติบโตของตลาดการ์ตูนบนโทรศัพท์มือถือนั้นสวนทิศทางกับตลาดการ์ตูนในรูปหนังสือซึ่งมียอดขายลดลงในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้นักวิเคราะห์ในวงการการ์ตูนญี่ปุ่นบางคนเรียกการ์ตูนในรูปแบบใหม่นี้ว่า เป็นอัศวินม้าขาวที่จะมาช่วยพลิกฟื้นคืนชีพให้กับวงการหนังสือการ์ตูนที่กำลังซบเซาลง การ์ตูนบนโทรศัพท์มือถือเป็นเพียงรูปแบบเดียว (ของการ์ตูน) ที่ทำยอดขายสูงขึ้นอย่างคึกคักในขณะนี้ นายชินอิจิ โยชิซาวะ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสื่อดิจิตอลของบริษัท โคดันฉะฯ ผู้ให้กำเนิดการ์ตูนชุด เซเลอร์ มูน ที่โด่งดังจากญี่ปุ่นออกไปถึงตลาดต่างประเทศ และเป็นบริษัทผู้ผลิตหนังสือการ์ตูนรายใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น กล่าว

ลองไปถามผู้อ่านอาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนหนึ่งก็มองว่า การอ่านการ์ตูนบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือมีข้อดีตรงที่ไม่ต้องเก็บการ์ตูนไว้ให้รกห้อง โดยเฉพาะในบ้านแบบญี่ปุ่นที่มีพื้นที่ในห้องค่อนข้างจำกัด เอโกะ โมโอริ สาวทำงานวัย 24 ปีที่ยังชอบอ่านการ์ตูน ให้ความเห็นว่า เธอยินดีจ่ายเงิน 1,600 เยน หรือประมาณ 570 กว่าบาท เพื่ออ่านการ์ตูนชุดทางโทรศัพท์ เพราะราคานี้อ่านได้ตั้งแต่ต้นจนจบ หรือกว่า 70 ตอน ความจริงการ์ตูนเรื่องนี้เอโกะเคยเก็บสะสมในรูปหนังสือเมื่อนานมาแล้ว แต่ปัจจุบันไม่มีให้อ่านอีก เพราะต้องโละทิ้งออกจากห้องที่คับแคบและล้นไปด้วยหนังสือการ์ตูน รูปแบบใหม่ของการอ่านผ่านโทรศัพท์มือถือนี้ ทำให้เธอสามารถอ่านการ์ตูนชุดดังกล่าวได้อีกครั้ง เพียงกดปุ่มโทรศัพท์เพียงไม่กี่ปุ่ม

ด้านนายยุตากะ ทาชิโระ ผู้อำนวยการฝ่ายลิขสิทธิ์ของบริษัท ชูเอฉะฯ เจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูนดราก้อนบอล ซึ่งเป็นผู้ผลิตหนังสือการ์ตูนรายใหญ่อีกรายหนึ่งของญี่ปุ่น ให้ความเห็นว่า โทรศัพท์มือถือเป็นสื่อที่ให้ความเป็นส่วนตัวมากๆ ผิดกับหนังสือการ์ตูน ดังนั้น โทรศัพท์มือถือจึงน่าจะเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมในหมู่นักอ่านการ์ตูนที่เป็นผู้หญิงวัย 20-29 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชอบอ่านการ์ตูนแนวรักๆใคร่ๆ ที่มีฉากเซ็กซ์ ทาชิโระยังให้ข้อมูลว่า อันที่จริงในปัจจุบัน ราว 70% ของผู้ที่ชอบอ่านการ์ตูนผ่านโทรศัพท์มือถือก็คือ นักอ่านผู้หญิง อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม บรรดาสำนักพิมพ์หนังสือการ์ตูนยังไม่ค่อยยอมเปิดเผยตัวเลขรายได้จากการจำหน่ายการ์ตูนผ่านโทรศัพท์มือถือมากนัก แต่ก็มีการประเมินคร่าวๆ ว่า ยอดรายได้จากสื่อใหม่นี้น่าจะมีสัดส่วนราวๆ 10% ของรายได้รวม และน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วกว่านี้ท่ามกลางภาวะที่ยอดจำหน่ายการ์ตูนในรูปหนังสือกำลังลดลง เพียงแต่ว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากช่องทางใหม่ อาจจะยังไม่สามารถชดเชยรายได้ที่หายไปจากช่องทางเก่าในระยะเวลาอันใกล้ ทว่าอย่างน้อยความหวังก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบรับของผู้อ่านนั้น นับว่าสำคัญมาก หลายคนระบุว่า การ์ตูนหน้าจอโทรศัพท์มือถืออ่านง่ายแม้ถือด้วยมือเพียงข้างเดียว ภาพก็ชัดเจนดี และดูคมชัดบนหน้าจอ เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายในญี่ปุ่นก็มีพร้อมรองรับอยู่แล้ว นอกจากนี้รูปแบบการชำระเงินยังสะดวกง่ายดายเพราะสามารถชำระผ่านบริการบนโทรศัพท์มือถืออีกนั่นแหละ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook