ธปท.ปลดแอกเอกชนลงทุนนอก แก้บาทโป๊กทนงอัดรัฐแผ่วแก้ศก.

ธปท.ปลดแอกเอกชนลงทุนนอก แก้บาทโป๊กทนงอัดรัฐแผ่วแก้ศก.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ได้ผ่อนคลายระเบียบการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ และการทำธุรกรรมอนุพันธ์ของผู้ลงทุนและบุคคลในประเทศ โดยการเพิ่มประเภทผู้ลงทุนสถาบันที่ได้รับอนุญาตให้ไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศจาก 7 ประเภท เป็น 8 ประเภท โดยอนุญาตให้นิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทยที่มีสินทรัพย์ตามงบดุลตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป และมีธุรกิจหลักเป็นผู้ผลิตหรือประกอบธุรกิจการค้าหรือบริการ ซึ่งมีจำนวน 503 ราย สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ราย โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก ธปท. เพียงแต่แจ้งให้ทราบเท่านั้น

การผ่อนคลายระเบียบดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้เงินทุนไหลเข้าออกสมดุลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากที่ก่อนหน้านี้มีเงินทุนไหลเข้ามามากจากการที่ไทยเกินดุลการค้า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในระยะสั้นย่อมมีผลต่อจิตวิทยานักลงทุนให้มีการป้องกันความเสี่ยง ช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาท ส่วนในระยะยาวต้องใช้เวลา แต่หากไทยมีการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น อาจทำให้ไทยมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ได้ในอนาคต นางสุชาดา กล่าว

นายทนง พิทยะ อดีตรมว.คลัง เปิดเผยในงานยุทธศาสตร์ฟื้นเศรษฐกิจชาติ ว่า ปัญหาที่รุมเร้าเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นได้รับผลกระทบหลักจากเศรษฐกิจโลก ถ้าหากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นก็ต้องทำใจ และน่าเห็นใจรัฐบาลชุดนี้ ระหว่างนี้จึงต้องสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ ดูแลความเสียหายผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอส เอ็มอี) ป้องกันผลกระทบที่จะลามไปถึงภาคธนาคาร ขณะนี้ภาคการลงทุนไม่สามารถเติบโตได้ เห็นได้จากดัชนีกำลังการผลิตอยู่ในระดับต่ำไม่ถึง 60% เกือบเท่าปี40 ซึ่งดัชนีนี้สำคัญมากหากไม่ถึง 60% แสดงว่าผู้ประกอบการไม่มีรายได้เพียงพอจะดูแลให้การผลิตมีกำไร แต่เท่าที่เห็นผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกคนให้กำลังใจรัฐบาลเพราะต่างเข้าใจว่าเป็นผลจากเศรษฐกิจโลก แต่หากมองให้ลึกจะพบว่าสิ่งที่รัฐบาลได้ทำ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น หรือ เอสพี 1 ไม่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก หมดแรงเร็วมาก ไม่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อมาก รัฐบาลต้องเร่งหามาตรการใหม่เพื่อรอเวลาให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกฟื้น ส่วนเอสพี 2 ที่รัฐบาลนำมาใช้ต่อเนื่องแม้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่ไม่เห็นผลระยะสั้น กว่าจะเริ่มโครงการได้ต้องครึ่งปีถึง 1 ปี และกว่าจะเห็นผลก็ใช้เวลา 3-10 ปี

ส่วนการขอลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ของภาคเอกชน ต้องระมัดระวังเพราะลดแล้วเพิ่มขึ้นยาก ต้องช่วยเป็นครั้งคราว หรือหากจะปรับโครงสร้างภาษีต้องมุ่งเป้าหมายเพิ่มความเข้มแข็งในระยะยาวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับโลกภายนอก ส่วนการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนตนเชื่อลึกๆ ว่า ธปท. ได้เข้าแทรกแซงค่าเงินบาทพอสมควร แต่คงไม่เปิดเผย เพื่อป้องกันการเก็งกำไร แต่จากทิศทางที่เห็นในขณะนี้ ค่าเงินบาทอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศคู่ค้า ซึ่งไม่ใช่แค่เงินเหรียญสหรัฐ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook