กพย.ดันศึกษายาโรคหัวใจโคลพิโดเกรล เสริมใช้สิทธิซีแอล

กพย.ดันศึกษายาโรคหัวใจโคลพิโดเกรล เสริมใช้สิทธิซีแอล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหนึ่งในงานศึกษาที่น่าสนใจคือเรื่องการประเมินประสิทธิผลของยาลดไขมันในเลือดโคลพิโดเกรล (clopidogrel) ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) ในยาตัวนี้ไปเมื่อปี 2550 เพื่อทดแทนยาลดไขมันรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด พลาวิกซ์ (plavix) โดยภญ.ปัทมา ตัณฑวิวัตน์ ผู้นำเสนองานศึกษาระบุว่าหลังจากใช้ซีแอลในยาโคลพิโดเกรล สาธารณชนรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ยังคงไม่มั่นใจว่าคุณภาพของยานี้จะเทียบเท่ายาต้นแบบอย่างพลาวิกซ์ซึ่งมีราคาแพง จึงทำการเปรียบเทียบประสิทธิผลในการใช้ยาโคลพิโดเกรลกับพลาวิกซ์ในคนไข้โรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งที่ใช้โคลพิโดเกรลอย่างเดียว และที่เคยใช้พลาวิกซ์แล้วเปลี่ยนมาใช้โคลพิโดเกรล โดยวางแผนจะทำการสำรวจผลการรักษาของคนไข้ทุก 3 เดือนตลอดระยะเวลา 1 ปีครึ่ง ในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการในจังหวัดอุบลราชธานี ระยอง นครศรีธรรมราช โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลวชิระ โดยจะมีการนำเสนอผลการศึกษาต่อไปหลังเสร็จสิ้นโครงการ

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอโครงการศึกษาระบบเรียกเก็บยาคืนของประเทศไทยสำหรับยาปลอม ยาที่มีปัญหาด้านคุณภาพ หรือยาที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ โดยข้อมูลเบื้องต้นจากการสำรวจบันทึกการเรียกเก็บยาคืนขององค์การอาหารและยา (อย.) ตั้งแต่ปี 2545-2551 พบว่ามีการเรียกคืนทั้งสิ้น 188 ครั้ง ในจำนวนนี้เรียกคืนเพราะมีการเพิกถอนทะเบียนยา 7 ครั้ง และมี 136 ครั้งที่พบปัญหาหลังสู่ตลาด

ผลการศึกษาพบอีว่า ในจำนวนทั้งหมดมี 36.1% ที่ผู้ผลิตระบุว่าเรียกเก็บไม่ได้ หรือไม่มียาหลงเหลือในตลาดแล้ว และมี 42% ที่เรียกเก็บยาคืนได้ช้ากว่าที่ อย.กำหนด ขณะที่ 47% ของผู้ผลิตที่เก็บได้ทันพบว่าไม่มียาคืนกลับมา ซึ่งชี้ว่าการเก็บทันหรือไม่ ไม่ได้สัมพันธ์กับจำนวนยาที่เก็บมาได้ จึงควรเน้นการให้ข้อมูลฝั่งผู้บริโภคดีกว่า นอกจากนี้ยังควรสนับสนุนการเรียกเก็บยาคืนโดยสมัครใจของผู้ผลิตเนื่องจากเป็นผู้ที่รู้ข้อมูลยาได้ดีที่สุด และจะทำให้การเรียกเก็บยาคืนทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม มีการนำเสนอผลการศึกษาเมื่อวานนี้ (3 ส.ค.) ทื่ยืนยันว่ายาไม่เหมาะสมหลายชนิดรวมถึงยาที่ถูกเพิกถอนทะเบียนแล้วยังมีจำหน่ายอยู่ตามร้านยาและร้านขายของชำในหลายจังหวัด

รศ.ดร.ดาราพร ถิระวัฒน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอว่ากำลังจะมีโครงการศึกษากฎหมายควบคุมการส่งเสริมการขายยาในต่างประเทศ ได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ ว่ามีแนวทางในการควบคุมการส่งเสริมการขายอย่างไร รวมทั้งจะมีการศึกษากรอบกติกาในระดับระหว่างประเทศด้วย เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางจัดกทำข้อกำหนดเรื่องนี้ในประเทศไทย เนื่องจากขณะนี้ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มีแต่เรื่องการควบคุมการโฆษณา โดยไม่มีการพูดถึงการควบคุมการส่งเสริมการขาย

ภญ.ฉัตราภรณ์ ชุ่มจิต นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นของปัญหาและการจัดการยาที่มีชื่อและรูปลักษณ์ โดยยกตัวอย่างจังหวัดลำปางที่เจ้าหน้าที่เสัชพบคู่ยาที่มีปัญหาพ้องชื่อและรูปลักษณ์กว่า 200 คู่ และจากการสอบเภสัชกรตามโรงพยาบาล 30 แห่งต่างก็ตระหนักถึงปัญหานี้เช่นเดียวกัน โดยยาที่ชื่อหรือรูปแบบคล้ายกันนั้นมีทั้งที่เป็นบริษัทเดียวกัน และต่างบริษัทกัน รวมถึงยาจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ด้วย สำหรับวิธีการจัดการนั้นส่วนใหญ่ระดับผู้บริหารยังไม่มีนโยบายแก้ปัญหาแต่เป็นการแก้ปัญหากันเองในหมู่เภสัชกร เช่น การประสานงานกันระหว่างการจัดซื้อ การขอความร่วมมือแพทย์ให้เขียนชื่อสามัญในการสั่งยา และเขียนด้วยลายมือที่ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ เป้าหมายของโครงการศึกษานี้ต้องการสำรวจว่ามีการนำระบบการจัดการยามาใช้แก้ปัญหาหรือไม่ และจะสรุปแนวทางเพื่อนำเสนอการแก้ปัญหาระดับประเทศต่อไป

ช่วงสุดท้ายมีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายด้านยา ซึ่งมีทั้งเรื่องการเสนอให้กำหนด negative list ของรายการยา โดยให้คณะกรรมการบัญชียาหลักประกาศเป็นข้อปฏิบัติกลางระดับประเทศ เพื่อความชัดเจนไม่ต้องตีความ, การกำหนดราคากลางยา, ให้ความสำคัญกับมาตรฐานคุณภาพยา,เร่งพัฒนาระบบผลิตภายในประเทศ, องค์การเภสัชกรรมควรผลิตยาซีแอลเอง, ควรสร้างฐานข้อมูลร่วมเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook