ตะลุย ''ตูลูส'' (จบ) เกาะติดฐานผลิต''แอร์บัส''

ตะลุย ''ตูลูส'' (จบ) เกาะติดฐานผลิต''แอร์บัส''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
จากรายงานตะลุย ตูลูส ฉบับที่แล้ว ฐานเศรษฐกิจได้นำเสนอสายการผลิตของ แอร์บัส ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา (ก่อตั้งเมื่อ 29 พ.ค. 2512) ที่มีถึง 4 ตระกูล ภายใต้เครื่องบินรวมกว่า 14 รุ่น นอกจากเครื่องบินในตระกูล330/340 ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในตลาดนี้แล้ว สายการผลิตเครื่องบินในตระกูลต่อมา อย่าง เอ320,เอ350 XWB, เอ380 ก็มีดีมานด์จากตลาดมากน้อยต่างกันไป

++เอ350 XWB สยายปีกปี56

โดยในส่วนเครื่องบินในรุ่นอื่นๆของแอร์บัส เช่น แอร์บัส เอ320 มีด้วยกัน 4 ขนาด ได้แก่ เอ321 จุ 185 ที่นั่ง, เอ320 จุ 150 ที่นั่ง, เอ319 จุ 124 ที่นั่ง และเอ 318 จุ 107 ที่นั่ง ถือเป็นเครื่องบินอีกรุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ในตลาดการบิน ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อ 6,368 ลำ จากลูกค้า 221 สายการบิน และมีการส่งมอบแล้ว 3,931 ลำ

ขณะที่แอร์บัส เอ350XWB มี 3 ขนาด ได้แก่ เอ350-1000, เอ350-900 และเอ350-800 ขณะนี้มียอดคำสั่งซื้อ 493 ลำ จากลูกค้า 31 สายการบิน เป็นเครื่องบินที่ใช้นวัตกรรมที่อยู่ระหว่างการผลิตยังไม่มีการส่งมอบ แต่คาดว่าจะส่งมอบได้ปี 2556 ภายใต้การให้บริการรายแรกโดยสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส ในรุ่นเอ 350-900

++เลื่อนส่งมอบเอ380 บินไทยปี55

ส่วนแอร์บัส เอ380 เครื่องบินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อเครื่องรุ่นนี้แล้ว 200 ลำ จากลูกค้า 16 สายการบิน ให้บริการแล้วใน 3 สายการบิน คือ เอมิเรตส์, สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส และแควนตัส ซึ่งเป็นการให้บริการจากสายการบินในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการบิน จากเดิมที่ยุโรปหรืออเมริกาจะเป็นผู้นำให้บริการด้วยเครื่องบินรุ่นใหม่เสมอ และกำหนดการส่งมอบเครื่องลำต่อไป คือ ให้กับสายการบินแอร์ฟรานซ์ ช่วงสิ้นปี 2552 และลุฟท์ฮันซ่าจะรับมอบปีต่อไป

สำหรับการบินไทย หนึ่งในลูกค้าที่ได้สั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ380 จำนวน 6 ลำ แต่ด้วยความล่าช้าในสายการผลิต ทำให้แอร์บัสต้องเลื่อนการส่งมอบให้กับการบินไทยออกไปอีก 2 ปีจากเดิมมีกำหนดส่งมอบในปี 2553 โดยพร้อมจะจ่ายค่าชดเชยต่างๆ ให้การบินไทย แต่ด้วยการบินไทยเองก็ได้มีการหารือในเรื่องนี้ โดยอิงกับวิกฤติเศรษฐกิจโลก ปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารที่ลดลง ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ตลอดจนสภาวะสภาพคล่องทางการเงินของการบินไทย จึงได้มีการเจรจากับทางแอร์บัสเลื่อนการส่งมอบและได้ข้อสรุปเลื่อนการส่งมอบไปเป็นเดือนสิงหาคม ปี 2555

ต่อเรื่องนี้ดร.คิราน เราว์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารการขายและการตลาด ด้านลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท แอร์บัส อินดัสตรี้ จำกัด กล่าวว่าการเจรจาเลื่อนการส่งมอบเครื่องบินแอร์บัส เอ 380 ขณะนี้ได้มีข้อตกลงเลื่อนไปเป็นเดือนสิงหาคม 2555 เป็นลำแรก และจะส่งมอบต่อเนื่อง สำหรับคำสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นอื่นๆ ของการบินไทย ทั้งที่ได้ทำเอ็มโอยูแล้วอาจจะต้องมีการทบทวน เนื่องจากทราบว่าขณะนี้การบินไทยอยู่ในช่วงวางแผนฟื้นฟูธุรกิจและปรับสภาพคล่อง

ทั้งหมดนี้เป็นสายการผลิตและความคืบหน้าทางธุรกิจของ แอร์บัส บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการผลิตเครื่องบินจากฝั่งยุโรปในขณะนี้

ทัวร์อาณาจักรโรงประกอบเครื่องบิน

อาณาจักรแอร์บัส ณ เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส ถือเป็นสถานที่ผลิตหรือประกอบเครื่องบิน หลังจากรับชิ้นส่วนต่างๆ จากฐานการผลิตในต่างประเทศทั้งยุโรปและเอเชีย เช่น ปีก จากฐานผลิตที่สหราชอาณาจักร ลำตัวจากฐานผลิตที่เยอรมนี เป็นต้น โดยการขนส่งด้วยเครื่องบินปลาวาฬลำใหญ่มหึมาชื่อว่า เอ บลูกา เพื่อนำมาประกอบเข้ากับส่วนหัวของเครื่องบินที่ผลิตในประเทศฝรั่งเศส และสายพานประกอบ ณ เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศสแห่งนี้ ซึ่งการประกอบเครื่องบินจะใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรเป็นแรงงานสำคัญ แรงงานคนก็ทำหน้าที่คอยควบคุมเครื่องจักรเท่านั้น

เจ้าหน้าที่แอร์บัสนำชมเริ่มต้นด้วยการเยี่ยมชมเครื่องบินเอ380 ขนาดจริงพร้อมการตกแต่งเรียบร้อยแล้วในทุกชั้นโดยสาร เพื่อให้ลูกค้าสายการบินได้เข้าชม ประกอบการพิจารณาสั่งซื้อ จากนั้นจึงนำชมสายการผลิตแอร์บัส เอ330/340 ในโรงงานกว้างใหญ่และระบบการรักษาความปลอดภัยชั้นเลิศ นับจากใช้ระยะเวลาผลิตชิ้นส่วน 24 เดือน จากนั้นชิ้นส่วนกว่า 95% จะถูกส่งมาประกอบเป็นตัวเครื่องบิน ณ อาณาจักร แอร์บัส ที่เมืองตูลูส แห่งนี้ และใช้เวลาประกอบเครื่องตกแต่งถึงการส่งมอบให้กับสายการบินที่สั่งซื้อใน 1-2 เดือน

ถัดจากการเยี่ยมชมสายการผลิตเครื่องรุ่น เอ 330/340 เดินทางต่อไปยังโรงงานที่ผลิตเครื่อง เอ380 ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่มากตั้งอยู่โดยแยกส่วนออกจากโรงงานผลิตรุ่นอื่นๆ ชัดเจน ทั้งนี้ การประกอบเครื่องบินรุ่นนี้แตกต่างจากรุ่นเอ 330/340 หรือรุ่นอื่นๆ ที่เล็กกว่า เนื่องจากเครื่องบินในรุ่นอื่นจะประกอบชิ้นส่วนเล็กๆ ทั้งหมดเข้ากันก่อน ก่อนจะประกอบเข้ากับลำตัว

แต่ในรุ่นเอ380 นี้จะประกอบลำตัวก่อน และจะนำปีกมาประกอบเป็นขั้นตอนสุดท้าย เพราะเป็นส่วนที่ใหญ่มาก รวมใช้เวลาประกอบเครื่องบินดังกล่าวหลังรับชิ้นส่วนต่างๆ มาแล้วประมาณ 19 เดือน

การประกอบเครื่องบินในแต่ละรุ่นก็มีความเหมือนกันที่ภายหลังการผลิต ติดตั้งระบบ หรือสายไฟควบคุมต่างๆ ในแต่ละส่วนแล้ว ก่อนจะนำส่งมายังโรงงานประกอบเครื่องแห่งนี้จะมีการทาสีกันสนิม และในแต่ละชิ้นส่วนจะทาสีแตกต่างกัน อีกส่วนหนึ่งที่มีความคล้ายกัน คือ ในเครื่องบินแต่ละรุ่น แต่ละลำที่ได้เริ่มทำการประกอบเครื่องจะมีการตกแต่งในส่วนโลโกของสายการบินไว้แล้ว เพื่อให้การทำงานมีความชัดเจนและง่ายต่อการตกแต่งเครื่องหลังประกอบเสร็จ อย่างไรก็ตาม อัตราการประกอบเครื่องบินแตกต่างกัน แต่โดยเฉลี่ยใน 2 รุ่น ที่ได้เยี่ยมชม เอ330/340 มีอัตราการผลิต 8 ลำครึ่งต่อเดือน ส่วนเอ380 มีอัตราการผลิต 4 ลำต่อเดือน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook