รัฐตรึงค่าไฟ-ก๊าซ-น้ำมัน วงเงินครึ่งแสนล้าน

รัฐตรึงค่าไฟ-ก๊าซ-น้ำมัน วงเงินครึ่งแสนล้าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (10 ส.ค.) นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดของตัวเลขที่จะเข้ามาดูแลพลังงานแต่ละประเภทว่า เป็นอย่างไร แต่จะเป็นแพ็กเกจดูแลทั้งหมด เป้าหมายหลัก คือ จะช่วยลดค่าครองชีพประชาชน โดยค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือเอฟทีงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.52) ที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้น จะตรึงราคาเดิมไปก่อน ส่วนราคาก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี และก๊าซเอ็นจีวี จะตรึงไปจนถึงเดือน ส.ค.ปีหน้า ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลจะดูแลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ นพ.วรรณรัตน์ ได้แถลงข่าวหลังร่วมเปิดตัว ''โครงการรณรงค์ถอดปลั๊ก พักเที่ยง'' จะลดการใช้ไฟฟ้าสูญเปล่า ด้วยการถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดช่วงพักเที่ยง ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะมีการรณรงค์ในย่านธุรกิจ เช่น สีลม สถานีรถไฟฟ้า โดยโครงการนี้ใช้กระทรวงพลังงานเป็นต้นแบบนำร่อง จะมีการถอดปลั๊กทั้งในส่วนชุดคอมพิวเตอร์ และเครื่องถ่ายเอกสาร คาดว่า จะลดกรใช้พลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 208,000 หน่วยต่อปี ลดค่าใช้จ่ายได้ 624,000 บาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 106 ตันต่อปี

ด้าน นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้างวดใหม่มีโอกาสปรับขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมัน ตลาดโลกปรับไปถึง 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สูงเกินคาดการณ์เดิมที่คาดว่า ปีนี้จะมีราคาไม่เกิน 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ต้นทุนเชื้อเพลิงโดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งผันแปรตามราคาน้ำมันเตา ขยับขึ้นไปด้วย อย่างไรก็ตาม กฟผ.พร้อมปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ตรึงค่าไฟฟ้า คาดว่า จะไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องของ กฟผ. แม้ว่าที่ผ่านมา กฟผ.จะเข้าไปร่วมรับภาระค่าเอฟที และประชาชนยังติดค้างค่าเอฟทีค้างจ่ายตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมกว่า 20,000 ล้านบาท เดิมภาระนี้จะหมดในปลายปี 2553 เลื่อนไปกลางปี 2554 ซึ่งสาเหตุที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจาก ต้นปีที่ผ่านมา ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ออกพันธบัตรเสริมสภาพคล่องมาแล้ว 20,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแผนการตรึงราคาแอลพีจีนั้น กระทรวงพลังงานได้ประเมินว่า จะไม่กระทบต่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมากนัก เพราะจะอยู่บนพื้นฐานการนำเข้าประมาณ 80,000-100,000 ตันต่อเดือน ขณะที่เงินกองทุนน้ำมันฯ ปัจจุบันมีประมาณ 16,000 ล้านบาท ส่วนหลังประชุม กพช.แล้ว หากมีมติลดราคาน้ำมัน หลังลดเงินกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและกองทุนน้ำมันฯ คาดว่า จะมีผลได้วันพุธที่ 12 ส.ค.นี้ เพราะหลังประชุม กพช.จะให้อำนาจที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งจะประชุมวันพรุ่งนี้ (11 ส.ค.) พิจารณาลดเงินกองทุน คาดว่า เบนซินจะลด 1 บาทต่อลิตร และดีเซล 2 บาทต่อลิตร.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook