''สิทธิมนุษยชน''

''สิทธิมนุษยชน''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สิ่งที่ต้องเรียนรู้เพื่อสันติสุข

ถูกละเมิดสิทธิ ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับความเป็นธรรม สิ่งที่น่ารังเกียจเหล่านี้ดูเหมือนจะยังคงเกิดขึ้นอยู่ในหลาย ๆ พื้นที่บนโลกที่แสนจะวุ่นวายใบนี้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่รักยิ่งของเราทุกคนด้วย ยิ่งถ้ามองลงไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ก็ดูเหมือนว่าภาพของสิ่งเหล่านี้จะยังคงชัด และถูกหยิบยกมาพูดให้เป็นประเด็นได้อยู่เสมอ

เมื่อคนหนึ่งถูกละเมิดสิทธิ โดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในชีวิตและร่างกาย สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิทางการ ศึกษา สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ แต่คนคนนั้นไม่สามารถเรียกร้องหาความเป็นธรรมจากการที่ถูกละเมิดสิทธินั้นได้ เมื่อไม่มีทางออก ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ความคับแค้น คับข้องใจก็เกิดขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งความคับแค้นที่สะสมอยู่ก็ต้องระเบิดออกมา ซึ่งความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่ยังระอุอยู่ทุกวันนี้ก็เชื่อว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากแรงระเบิดของความคับแค้นที่สุมอยู่ในหัวอกของคนเรานี่เอง

การชี้แนะทางออกเพื่อปลดปล่อยแรงกดดันที่อัดแน่นอยู่ในใจจึงเป็นแนวทางที่มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง จังหวัดยะลา เห็นว่าน่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาให้แก่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ลงได้บ้าง จึงกลายเป็นที่มาของการจัดโครงการ พัฒนาผู้นำชุมชนเพื่อสันติสุข 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่โรงแรมอิมพีเรียล จังหวัดนราธิวาส ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนแคนาดา โดยมีตัวแทนจากหลายส่วนเข้ามาร่วมเป็นเครือข่าย อาทิ โต๊ะอิหม่าม นายก อบต. ผู้นำเยาวชน ข้าราชการฝ่ายปกครอง ข้าราชการทหาร ครู กศน. สื่อมวลชน รวมถึงตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย

วัตถุประสงค์สำคัญของโครงการก็เพื่อส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายของการสร้างเสริมสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทุกฝ่ายมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักในเรื่องของสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง และสามารถนำหลักสิทธิมนุษยชนไปใช้แก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่

ดร.รุ่ง แก้วแดง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง บอกว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด ซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจทั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งประชาชนเองด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรณรงค์ให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งทางมูลนิธิตั้งเป้าหมายว่า หลังจากนี้จะมีการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนขึ้นในระดับตำบลอย่างน้อย 10 แหระเมินพบว่าได้ผลดีก็จะขยายการจัดตั้งให้กว้างขวางขึ้นต่อไป

ข้อดีของการมีความรู้ความเข้าใจเรื่องของสิทธิมนุษยชนก็คือ เมื่อทุกคนรู้ก็จะไม่รุกรานสิทธิของคนอื่น ก็จะไม่เกิดความคับแค้น และไม่หาทาง ออกโดยการใช้ความรุนแรง และถ้าหากมีการรุกรานสิทธิ ทุกคนก็จะรู้ถึงสิทธิของตน และรู้ว่าจะสามารถไปร้องเรียนเพื่อปกป้องสิทธิของตนได้อย่างไร แต่ผมอยาก ย้ำว่าสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องของการชุมนุมเรียกร้อง แต่เป็นเรื่องของการรู้จักวิธีการที่จะปกป้อง สิทธิของเราเองเป็นสำคัญ ดร.รุ่ง กล่าว

ในขณะที่ นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ก็ยอมรับว่าประชาชนจำนวนมากยังไม่เข้าใจเรื่องของสิทธิมนุษยชน เมื่อสถานการณ์มีความรุนแรง จึงทำให้ปัญหายิ่งซับซ้อนมากขึ้น เพราะผู้ก่อการจะหยิบยกปัญหาสิทธิมนุษยชนในพื้นที่มาเป็นเงื่อนไขขยายวงให้กว้างออกไป โดยอาศัยความไม่รู้เรื่องสิทธิมนุษยชนของชาวบ้าน ดังนั้นภาครัฐจึงต้องรีบเข้าไปลดเงื่อนไข และพยายามให้ความรู้เรื่องของสิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปกับเรื่องของหน้าที่ แต่การรู้มากขึ้นคงไม่ใช่จะเป็นหัวหมอ แต่จะเป็นการรู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ต้องการให้เกิดความรุนแรง

เมื่อมีปัญหา ผมอยากให้ชาวบ้านพูด ยิ่งพูดยิ่งดี แต่ถ้าเงียบเราจะไม่รู้ว่าเขาคิดอะไร อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้ชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน หากพูดในแง่กฎหมายจะเกิดช่องว่างทันที เพราะคงไม่มีชาวบ้านคนไหนมานั่งอ่านกฎหมายเป็นเล่ม ๆ ดังนั้นเราควรรณรงค์ในแง่ของอุดมการณ์และจิตสำนึก โดยเริ่มที่ผู้นำชุมชนให้เป็นผู้กระจายความคิดเรื่องนี้ออกไป นายอภินันท์ กล่าว

นายจรัล พากเพียร เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พยายามสรุปให้เห็นภาพชัดที่สุดว่า สิทธิมนุษยชนมีความสำคัญมาก เพราะเป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมี ถ้าทุกฝ่ายมีความรู้ความเข้าใจก็จะไม่ละเมิดกัน สังคมก็จะมีสันติสุข หรือหากมีการละเมิด ผู้ถูกละเมิดก็จะมีทางออก และปัญหาไม่หมักหมมจนกลายเป็นโรคกลัดหนองที่รอวันปะทุไปในทางที่ผิด ดังนั้นการรณรงค์ในเรื่องของสิทธิมนุษยชนจึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย โดยเฉพาะสื่อระดับชุมชน เช่น วิทยุชุมชนจะต้องเข้ามามีบทบาทรณรงค์เผยแพร่ความรู้เรื่องนี้ให้มาก ๆ เพราะเป็นสื่อที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ในขณะที่ประชาชนก็มีหน้าที่ที่จะต้องเรียนรู้ด้วย ซึ่งตนเชื่อว่าเมื่อทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและประชาชนมีความรู้เรื่องของสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน เราก็จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายของความสันติสุขได้ไม่ยาก แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งเข้าใจนึ่งไม่เข้าใจ ปัญหาต่าง ๆ ก็คงแก้ไขได้ยาก

ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีปัญหาสิทธิซ้อนสิทธิ เพราะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งยังเป็นการลิดรอน สิทธิอันพึงมีบางอย่างของประชาชน ดังนั้นการรณรงค์ ในพื้นที่นี้จึงมีความยากกว่าพื้นที่อื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม การที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ เพิ่มภาระหน้าที่ให้สำนักงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ สามารถฟ้องคดีแทนประชาชนได้ในทุกศาลก็เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาความคับข้องใจให้แก่ประชาชนได้มากพอสมควร โดยเฉพาะชาวบ้านทั่วไปที่มักจะมองว่าการขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นเรื่องใหญ่และยากเกินกว่าจะทำเองได้ ต่อไปก็จะมีคณะกรรมการสิทธิฯ เข้ามาช่วยดูแลตรงจุดนี้ให้ นายจรัล ชี้ทางออกให้แก่ประชาชน

หันมาดูฝ่ายทหารอย่าง พ.อ.ชาติชาย เกื้อกิจ จากค่าย สิรินธร จ.ปัตตานี บอกว่า ผู้บังคับบัญชามีนโยบายชัดเจนว่าไม่มีการทำร้ายประชาชน ถ้าทหารคนใดฝ่าฝืนต้องถูกลงโทษ พร้อมกับต้องมีการเยียวยาให้แก่ผู้ถูกละเมิด เพราะทหารก็ตระหนักดีว่า หากเจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดสิทธิของประชาชนก็จะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลาย ส่วนที่ผ่านมาถ้ามีสิ่งที่ผิดพลาด ตนในฐานะที่เป็นทหารก็ต้องขอโทษด้วย

สำหรับ มะดารี วาแมะ อายุ 21 ปี ประธานองค์กรเยาวชน อบต.ท่าน้ำ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานีเล่าว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านรวมถึงเยาวชนส่วนใหญ่ไม่เคย มีความรู้ว่าสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญกับชีวิตของทุกคน ซึ่งถ้าทุกคนเข้าใจก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างแน่นอน

ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องใกล้ตัวอย่างสิทธิมนุษยชนนั้น เราหลายคนยังมองเป็นเรื่องไกลตัว คิดว่าเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวโดยองค์กรระดับชาติ หรือระดับโลกเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของชาวบ้านหาเช้ากินค่ำที่จะต้องไปเกี่ยวข้องวุ่นวาย แต่ต่อไปนี้เราคงต้องเปลี่ยนแนวคิดกันใหม่ หันมาใส่ใจให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนกันให้มากที่สุด มาศึกษาเรียนรู้กันอย่างจริงจัง เรียนรู้ที่จะเคารพในสิทธิของผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้วิธีที่จะปกป้องสิทธิของตนเองด้วย หากทุกคนเข้าใจและตระหนักในสิ่งเหล่านี้ การละเมิดกันก็ไม่เกิดขึ้น แล้วปัญหาความขัดแย้งหรือความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร.

พลพิบูล เพ็งแจ่ม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook