อย.ประสานตร.-ไอซีทีล่าขายยาต้านหวัด09 ปลอมวิทยา88-วิทยา68ผ่านเว็บ สธ.เล็งปรับแผนกระจายยาอีกรอบ

อย.ประสานตร.-ไอซีทีล่าขายยาต้านหวัด09 ปลอมวิทยา88-วิทยา68ผ่านเว็บ สธ.เล็งปรับแผนกระจายยาอีกรอบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อย.เตรียมประสานตำรวจ-ไอซีทีล่าขบวนการขายยาต้านหวัด 09 ปลอมชื่อ วิทยา 88-วิทยา 68 ผ่านเว็บไซต์ สธ.ประเมินกระจายยาไม่สมบูรณ์ เล็งปรับแผนอีกรอบ หวังรับมือระบาดหนัก ช่วงสิงหาฯ-กันยาฯ พร้อมถกหลังพบเชื้อดื้อยา ขณะที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีการโฆษณาขายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ปลอม ผ่านทางเว็บไซต์ภายใต้ชื่อ วิทยา 88 และวิทยา 68 ที่ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบ ตามที่รายงานข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อ วันที่ 8 สิงหาคม นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (เลขาธิการ อย.) กล่าวว่า ยาที่มีชื่อว่า วิทยา 88 และวิทยา 68 คาดว่าจะเป็นยาปลอม เบื้องต้นได้ประสานงานเจ้าหน้าที่ตำรวจล่อซื้อแล้ว ขณะเดียวกันยังประสานกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ติดตามเว็บไซต์ที่เข้าข่ายขายยาลักษณะดังกล่าว

ด้านนายวิทยา กล่าวว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคมนี้ สธ.จะระดมพลังอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ 987,019 คน ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์สุขอนามัยต้านภัยหวัดใหญ่ ถวายแด่พระแม่แห่งแผ่นดิน เน้นในเขตชุมชนเมืองที่มีประชากรหนาแน่น กิจกรรมที่จะจัดรณรงค์ครั้งนี้ เช่น การเดิน การวิ่งออกกำลังกาย การทำความสะอาดอาคารสถานที่ การให้ความรู้เรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และการคัดกรองค้นหากลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง โดยกิจกรรมจะดำเนินการในที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้ดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้ได้ให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมไว้แล้ว

ด้านนพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในการซ้อมแผนรับมือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ของชุมชนทั่วประเทศ ได้จัดสาธิตการซ้อมแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ในชุมชน นำร่องเป็นต้นแบบภาคละ 1 ชุมชน ภาคใต้ ที่ จ.สงขลา เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ภาคกลาง ที่ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ภาคเหนือ จ.ลำพูน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ยโสธร โดยให้เจ้าหน้าที่ทุกจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ในแต่ละภูมิภาคร่วมชมและนำไปขยายผลต่อในชุมชน

ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันการส่งมอบวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ล็อตแรก จะสามารถทำได้ในเดือนกันยายนนี้แน่นอน ซึ่งขณะนี้บริษัทผู้ผลิตหลายรายได้ร่วมกันทดสอบวัคซีนกับมนุษย์แล้ว และยืนยันผลความปลอดภัยขั้นต้น

วันเดียวกัน นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เพื่อติดตามช่องทางพิเศษในการรตรวจรักษาผู้ป่วยไข้หวัดทุกชนิด ว่า ได้ติดตามการใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ และระบบการส่งข้อมูลการใช้ยาของโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ที่ส่งข้อมูลการใช้ยาผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) พบว่า ขณะนี้ระบบยังไม่สมบูรณ์ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและปรับข้อมูล เพื่อให้ทราบว่าในรอบ 1 วัน ทั่วประเทศมีการจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์กี่เม็ด เพื่อใช้ในการคำนวณการสำรองยาให้เพียงพอ หากเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เนื่องจากเมื่อเข้าสู่เดือนสิงหาคม- กันยายน ซึ่งเป็นช่วงปกติที่ไข้หวัดใหญ่จะระบาดมากที่สุด คาดว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น

สิ่งสำคัญต้องปรับปรุงระบบการแจ้งข้อมูลการใช้ยาโอเซลทามิเวียร์ เนื่องจากขณะนี้ อภ.จะรู้แต่ยอดคงเหลือ ไม่มีลงข้อมูลยอดการใช้ยาแต่ละวัน ซึ่งยาที่เข้ามาของระบบโรงพยาบาลบางแห่ง ไม่ได้มาจากแหล่งของ อภ.เพียงแห่งเดียว ทำให้ยอดไม่นิ่ง ต้องปรับยอดให้นิ่ง ส่วนการจ่ายยาให้ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศรีสัชนาลัย ไม่มีปัญหา เพราะมีผู้ป่วยจำนวนน้อย และผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่จ่ายยาโอเซลทามิเวียร์เป็นผู้ป่วยในเท่านั้น ก็ได้มอบนโยบายว่า เมื่อตรวจพบผู้ป่วยเข้าข่าย ตามแนวทางปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ หรืออาจติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ของ สธ. สามารถให้ยาโอเซลทามิเวียร์ทันที หากอาการไม่หนักให้จ่ายยาและกลับไปพักที่บ้าน พร้อมทั้งให้สังเกตสมาชิกในครอบครัว หากป่วยมีไข้ให้รีบไปรักษาในโรงพยาบาลทันที นายมานิต กล่าว

นายมานิต กล่าวถึงกรณีที่โรงพยาบาลรามาธิบดีพบเชื้อดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า จากการสุ่มตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังไม่พบเชื้อดื้อยา แต่เมื่อพบในห้องทดลองของ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ จะนำข้อมูลทั้งหมดเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข โรคไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นประธาน เพื่อให้นักวิชาการร่วมกันพิจารณาว่า เชื้อดื้อยาที่พบในแล็บของโรงพยาบาลรามาฯมีปริมาณเท่าใด แนวทางการรักษาอย่างไร และพิจารณาว่าจำเป็นต้องสำรองยาซานามิเวียร์ ซึ่งเป็นยาป้องกันการดื้อยาเพิ่มหรือไม่

กรณีพบเชื้อดื้อยาทางการแพทย์ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ประชาชนจึงไม่ต้องตื่นตระหนก สำหรับการกระจายยาโอเซลทามิเวียร์ได้กำชับสถานพยาบาลและคลีนิคระมัดระวังการใช้ยาอย่างเคร่งครัด ส่วนยาโอเซลทามิเวียร์สำหรับเด็กชนิดแค็ปซูลจะแจกได้ในสัปดาห์หน้า แต่ยาโอเซลทามิเวียร์ชนิดน้ำต้องใช้เวลาผลิตอีกระยะหนึ่ง เพราะต้องพิถีพิถัน เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการตกตะกอนของตัวยา นายมานิต กล่าว

ขณะที่ รศ.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยาและจุลชีววิทยาโมเลกุล คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงโอกาสดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ของคนไทยว่า หากใช้ยาก็ต้องมีการดื้อยาเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งโรงพยาบาลรามาฯ ได้ศึกษาโดยการถอดรหัสพันธุกรรมพบความเปลี่ยนแปลงของยีนตำแหน่ง H274Y ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย โดยพบยีนดังกล่าวในผู้ป่วยเพียง 1 คน จาก 50 คนที่ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยผู้ป่วยรายนี้หายป่วยได้เอง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม กรณีพบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังไม่ถือว่าประเทศไทยเข้าขั้นวิกฤตในการพบเชื้อดื้อยา เพราะยังไม่สามารถระบุได้ว่าคนไทยดื้อยาจริงหรือไม่ เนื่องจากจำนวนที่พบน้อยมาก ต้องศึกษาและเฝ้าระวังต่อไป

ที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการพัฒนาชุดตรวจเชื้อดื้อยาทราบผลเพียง 24-48 ชั่วโมง จากการถอดรหัสพันธุกรรม ปัจจุบันได้นำมาใช้จริงในโรงพยาบาลแล้ว โดยพบการเปลี่ยนแปลงของยีนในผู้ป่วยเพียง 1 คนเท่านั้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างมากขึ้น พร้อมทั้งจะมีการตรวจหาเชื้อไวรัสชนิดอื่นอีก 18 ตัว อาทิ เชื้ออะดิโน ไวรัส ที่พบร่วมกับไวรัสชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดปอดอักเสบ และส่งผลต่ออาการรุนแรง หากพบเชื้อไวรัสพวกนี้ก่อน จะทำให้การรักษาง่ายขึ้น ลดความรุนแรงของโรคได้ รศ.วสันต์กล่าว

รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้นักวิจัยไบโอเทค รวมทั้ง รศ.วสันต์ทำการพัฒนาชุดตรวจเชื้อดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ โดยต้องการให้มีความไวและรวดเร็ว ให้สามารถตรวจพบเชื้อได้ภายในครึ่งวันเท่านั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook