รุมเชือดเอสเอ็มเอสขยะ

รุมเชือดเอสเอ็มเอสขยะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เอกชนจับมือรุกฆาตข้อความขยะ-สบท.ยื่นมาตรการคุมข้อความขยะถึง กทช.สัปดาห์หน้า

เป็นข่าวร้อนมาพักใหญ่กับข่าวเอสเอ็มเอสขยะ หรือข้อความขยะ (สแปม เอสเอ็มเอส) ที่สร้างความรำคาญใจให้กับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือราว 61.2 ล้านคน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา 3 ค่ายผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ประกาศเปิดตัว มาตรการบล็อกสแปม เอสเอ็มเอส หลังซุ่มลงขันพัฒนาซอฟต์แวร์แอนตี้-สแปม เอสเอ็มเอส กว่า 30 ล้านบาทมาร่วมปี เบื้องต้นคาดว่าจะกำจัดข้อความขยะที่ส่งมากวนใจลูกค้ามือถือได้ 80-90%

นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด เอไอเอส เปิดเผยว่า ข้อความหรือเอสเอ็มเอสที่จัดส่งกันทุกวันนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ข้อความที่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จัดส่งให้กับลูกค้าที่ใช้บริการเครือข่ายของตน อาทิ ค่าบริการ, ข้อความที่จัดส่งโดยผู้พัฒนาเนื้อหา หรือผู้ให้บริการอื่น ๆ ที่ต้องการขายสินค้าและบริการ และสุดท้ายคือข้อความที่อาจมีประโยชน์กับเฉพาะบางคน ซึ่งลูกค้าบางคนก็ไม่อยากรับ เช่น ข้อมูลบริษัทประกันภัย ดังนั้นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จึงตกลงที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์แอนตี้-สแปม เอสเอ็มเอส เพื่อสร้างระบบบล็อกการส่งข้อความขยะร่วมกัน

นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานพาณิชย์ ดีแทค กล่าวว่า ซอฟต์แวร์แอนตี้-สแปม เอสเอ็มเอส สามารถป้องกันข้อความขยะได้ประมาณ 80-90% ในส่วนที่ข้อความจัดส่งมาจากผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 3 ราย เนื่องจากผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย ได้สร้างตัวคัดกรองข้อความขึ้นมา เมื่อมีข้อความจัดส่งระบบจะสแกนข้อความก่อนจัดส่งเข้าเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ปลายทางโดยไม่ได้ทำการเปิดอ่านข้อความแต่อย่างใด

การคัดกรองข้อความขยะ จะดูว่าข้อความมา จากเลขหมายใด หากเป็นเลขหมายที่มีการจัดส่งข้อความออกไป พร้อม ๆ กันในปริมาณมากก็เข้าข่าย แต่ถ้าเป็นข้อความที่ผู้ให้บริการเครือข่ายจัดส่งให้และมีประโยชน์ต่อลูกค้าจะไม่บล็อก เช่นเดียวกับข้อมูลทางการเงิน เช่น ค่าบริการประจำเดือน วันหมดอายุ และการทำธุรกรรมทางการเงินที่ต้องการให้แจ้งผ่านเอสเอ็มเอส เป็นต้น ซึ่งข้อความส่วนนี้จัดไว้ในส่วนข้อความที่เป็นประโยชน์ ส่วนข้อความที่จัดส่งโดยบริษัทที่ซื้อแพ็กเกจส่งเอสเอ็มเอสราคาถูกเพื่อธุรกิจ เช่น โฆษณา ทางผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถบล็อกได้ เมื่อเจ้าของเลขหมายแจ้งความประสงค์ว่าจะไม่รับข้อความดังกล่าว นายธนา กล่าว

ด้าน นายสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ ทรูมูฟ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละค่ายมีบริการบล็อกข้อความขยะอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ร่วมกัน ซึ่งถ้าใช้เลขหมายโทรศัพท์ของค่ายอื่นส่งมาก็ยังส่งข้อความขยะได้ แต่การร่วมกันครั้งนี้ ทำให้ป้องกันข้อความขยะได้ครอบคลุมมากขึ้น ไม่ว่าจะส่งมาจากเลขหมายโทรศัพท์ของค่ายผู้ให้บริการไหนก็ สามารถบล็อกได้ แต่อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นขณะนี้บล็อกได้เฉพาะข้อความขยะของ 3 ค่ายที่ร่วมโครงการ ส่วนของฮัทช์ และไทยโมบาย ยังไม่สามารถบล็อกได้ ซึ่งอยู่ระหว่างตกลง

สำหรับขั้นตอนการบล็อกข้อความขยะ เจ้าของเลขหมายโทรศัพท์มือถือที่ไม่ต้องการรับข้อความขยะ ให้โทรฯแจ้งที่คอล เซ็นเตอร์ของแต่ละผู้ให้บริการ ได้แก่ เอไอเอส เลขหมาย 1175, ดีแทค 1678 และทรูมูฟ 1331 เมื่อเจ้าของเลขหมายโทรฯแจ้งความประสงค์แล้ว ผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 3 ราย จะนำเลขหมายส่งไปที่ระบบกลางเพื่อแยกข้อความที่จะจัดส่งให้ลูกค้า ซึ่งลูกค้าสามารถระบุได้ว่าไม่รับข้อความขยะทั้งหมด หรือเฉพาะที่จัดส่งจากหมายเลขใด โดยบริการดังกล่าวไม่คิดค่าบริการ แต่เสียค่าโทรศัพท์ตามค่าบริการเป็นนาทีระหว่างโทรฯเข้าคอลเซ็นเตอร์ หากเปลี่ยนใจต้องการรับข้อความก็สามารถแจ้กเลิกการบล็อกได้เช่นกัน

ปัจจุบัน เอไอเอสมีลูกค้า 27 ล้านเลขหมายมีปริมาณการส่งข้อความสั้นวันละ 3-4 ล้านข้อความ หรือเฉลี่ยเดือนละ 100 ล้านข้อความ โดยมีข้อความขยะประมาณ 1% หรือ 10,000 ข้อความ ส่วนดีแทคมีลูกค้า 19.2 ล้านเลขหมาย มีข้อความขยะที่ได้รับแจ้งประมาณ 1,000 ข้อความต่อเดือน เช่นเดียวกับทรูมูฟ ที่มีลูกค้า 15 ล้านเลขหมาย และมีข้อความขยะที่ได้รับแจ้งราว 1,000 ข้อความต่อเดือน

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า สบท.จะยื่นแนวทางมาตรการกำกับดูแลการส่งข้อความขยะไปยังโทรศัพท์มือถือ โดยอิงรูปแบบมาตรการกำกับดูแลจากต่างประเทศให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) พิจารณา โดยเบื้องต้นแบ่งมาตรการกำกับดูแลได้ 2 รูปแบบ คือ จัดทำระบบขึ้นทะเบียนแจ้งความประสงค์หากเจ้าของเลขหมายโทรศัพท์ต้องการให้ผู้ผลิตเนื้อหาและผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่งข้อความให้ พร้อมแจ้งวิธีระงับการส่งให้ด้วย เมื่อเจ้าของเลขหมายไม่ต้องการรับก็ต้องทำการระงับให้ทันที รวมทั้งนำเสนอเรื่องการจัดเรตเนื้อหาข้อความสั้น เนื่องจากมีการส่งข้อความบางข้อความที่ไม่เหมาะสมให้กับเด็ก เช่น การให้ชิงโชค หรือดาวน์โหลดรูปโป๊เปลือย ซึ่งต้องมีการกำกับดูแล

ส่วนการร่วมมือบล็อกข้อความขยะของ 3 ค่ายผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ นพ.ประวิทย์ ระบุว่า ต้องให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นผู้ตัดสินว่าการร่วมมือครั้งนี้สามารถบล็อกข้อความขยะได้ผลมากน้อยเพียงใด.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook