งัดแพ็กเกจลดแรงกดดันบาทแข็ง ธปท.เล็งปล่อยมาตรการเพิ่ม/คลังรื้อโครงสร้างภาษีกระตุ้นนำเข้า

งัดแพ็กเกจลดแรงกดดันบาทแข็ง ธปท.เล็งปล่อยมาตรการเพิ่ม/คลังรื้อโครงสร้างภาษีกระตุ้นนำเข้า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คลัง-แบงก์ชาติ ประสานใจอัดมาตรการลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่า รองผู้ว่าการธปท.''อัจนา'' เผยเตรียมพร้อมรับมือดอลลาร์ไหลเข้า หากสถานการณ์เศรษฐกิจครึ่งปีหลังดีขึ้น ชี้มาตรการผ่อนระเบียบลงทุนนอกช่วยรักษาสมดุลเงินไหลเข้า-ออก ด้านรมว.คลัง ''กรณ์'' เผยเตรียมปรับโครงสร้างภาษีเอื้อภาคธุรกิจนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ขณะที่ครม.ไฟเขียวตามที่กระทรวงการคลังเสนอชะลอกู้เงินจากเอดีบี 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯนั้น มีผลให้ทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทยอยออกมาตรการเพื่อบรรเทาแรงกดดันจากเงินบาทที่แข็งค่า เห็นได้จากมาตรการล่าสุด 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งธปท.ผ่อนคลายระเบียบการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและตราสารอนุพันธ์

ดร.อัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ ฐานเศรษฐกิจ ว่า ธปท.ไม่ได้หวังหลังจากที่ประกาศมาตรการดังกล่าวไปแล้ว จะเกิดผลในทันที เพราะการที่นักลงทุนจะออกไปลงทุนต่างประเทศนั้นเป็นเรื่องใหญ่ และต้องใช้เวลา แต่ถือเป็นก้าวหนึ่งในความพยายามที่จะทำ 2 - 3 อย่าง เพื่อสร้างความต้องการเงินตราต่างประเทศ และเป็นช่องทางที่คิดว่าควรจะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากที่ผ่านมาได้พูดถึงแนวโน้มของค่าเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่ามาโดยตลอดซึ่งส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังดี ตลาดหุ้นดี การเมืองนิ่ง ก็จะยิ่งมีเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ไหลเข้ามา ซึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปีนี้จะดีกว่าไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 4 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจาก 1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ 2. การเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาลที่ต้องเป็นไปตามเป้าหมาย

แหล่งข่าวจากธปท.กล่าวว่า ขณะนี้รอประเมินผลของการผ่อนคลายระเบียบที่ออกไปแล้ว โดยจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน จึงจะพิจารณาว่าจะมีมาตรการใหม่ออกมา เพราะขณะนี้มาตรการที่ออกไปแล้ว ยังมีนักลงทุนที่ไม่เข้าใจในรายละเอียด อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่ธปท.ได้ผ่อนคลายมาตรการลงทุนในต่างประเทศ เป็นที่สังเกตว่ามีนักลงทุนที่ออกไปลงทุนนอกมากขึ้น (ดูรายละเอียดจากตารางประกอบ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ว่า กระทรวงการคลังได้ถอดวาระเรื่องการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี (ADB) วงเงิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการกู้เงินต่างประเทศ (Program Loan) ออกจากวาระการประชุมครม. หลังจากที่ประเมินความจำเป็นในการกู้เงินแล้ว เห็นว่าสภาพคล่องในประเทศมีมากเพียงพอ และความสามารถของกระทรวงการคลังที่จะดำเนินการในแง่ของการสนับสนุนเงินทุนให้กับกระทรวงต่างๆด้วยการกู้ยืมเงินจากภายในประเทศก็ถือว่าดีมาก และการกู้เงินจากแหล่งเงินภายในประเทศนั้น ช่วยลดแรงกดดันที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย ซึ่งการถอนวาระดังกล่าวเป็นการชะลอการกู้ออกไปเพื่อรอช่วงจังหวะที่เหมาะสม

ก่อนหน้านี้ ครม.อนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินจากต่างประเทศภายใต้โครงการ Program Loan วงเงินรวม 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยเป็นการกู้จากธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอีก 2 แห่งจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) จะหารือถึงการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อช่วยลดต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุนจากต่างประเทศ ของภาคธุรกิจเป็นแนวทางที่จะช่วยให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นและลดแรงกดดันเงินบาทที่แข็งค่าได้

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯนั้น ในช่วง 2 -3 วันก่อนหน้านี้ ค่าเงินบาทอยู่ที่ 34.95-34.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และอ่อนค่าลงเมื่อวันที่ 11 ส.ค. โดยอยู่ที่ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งไม่ได้เกิดจากมาตรการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ของธปท. แต่เป็นผลจากดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้น ขณะที่ตลาดเงินยังคาดการณ์ว่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯภายในสิ้นปีนี้จะเห็นที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook