คุณแม่ (ไม่) ดีเด่นแห่งชาติ

คุณแม่ (ไม่) ดีเด่นแห่งชาติ

คุณแม่ (ไม่) ดีเด่นแห่งชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม่ตัวจริงที่ไม่เคยได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติสาขาใดๆ แต่ใครที่ได้ฟังเรื่องราวของเธอต้องรีบยกนิ้วให้ เพราะการทุ่มเทให้กับลูกที่ พิเศษ

วันแม่ปีนี้ ยังมี "คุณแม่" อีกหลายคนที่อาจไม่ได้รับยกย่องเป็นแม่ดีเด่น ไม่เคยได้รางวัลเชิดชูเกียรติสาขาใดๆ แต่วีรกรรมเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ทำให้เราต้องยกนิ้วให้กับ "เดอะเทรนเนอร์ตัวจริง" พี่เลี้ยงนอกเวทีที่คอยเคียงข้างชีวิตหนึ่งซึ่งเกิดมา "พิเศษ" กว่าเด็กอื่นๆ ให้สามารถอยู่ร่วมในสังคม บนความหวังสูงสุดของแม่ ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่เกินกว่า.."ไม่มีเรา เขาต้องอยู่ได้"

โชคดีที่ลูกเป็น "เด็กพิเศษ"

ปีนี้ แอนนิต้า อายุ 34 ปีแล้ว ส่วนคุณแม่ของเธอ ภรณี ลุยโน อายุ 70 ปี แต่แม่ลูกคู่นี้ยังตัวติดกันเป็นปาท่องโก๋ ไปไหนไปด้วยกันแบบแพคคู่ ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแทบจะ 24 ชั่วโมง ในบ้านหลังเล็กๆ ที่ตอนนี้มีกันอยู่สองคน หลังจากผู้เป็นพ่อจากไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน

วันหยุดเสาร์อาทิตย์คุณแม่จะขับรถส่งลูกไปเรียนปิงปอง ซึ่งแอนนิต้าสามารถทำได้ดีถึงขนาดเป็นตัวแทนนักกีฬาคนพิเศษทีมชาติไทยไปแข่ง ขันกีฬาสเปเชียลโอลิมปิกระดับโลกที่ต่างประเทศมาแล้ว

"ตั้งแต่เด็กๆ เลี้ยงเขามาอย่างคนปกติ พาเขาไปที่ต่างๆ เข้าสังคมภายนอกโดยไม่อายใคร ตอนอยู่เมืองนอกคนที่โน่นจะชอบเข้ามาคุยด้วย บอกกับเราว่าคุณนี่โชคดีนะที่มีลูกแบบนี้ เพราะเขาจะอยู่กับคุณไปตลอดชีวิต..." ภรณี เล่าแบบยิ้มๆ

ชีวิตเธอจึงโชคดีอย่างนี้มาสามสิบกว่าปีแล้วเพราะมีลูกสาวเป็นส่วนหนึ่ง ของกันและกัน แน่นอน แรกๆ ร้องไห้เสียใจที่รู้ว่าลูกสาวเพียงคนเดียวเกิดมาเป็นดาวน์ซินโดรม แต่ก็นั่งเสียใจอยู่ได้ไม่นาน เพราะในใจคิดว่าจะต้องหาวิธีเลี้ยงดูลูกอย่างไรให้ใช้ชีวิตร่วมกับสังคมคน ปกติได้มากที่สุด

แอนนิต้าเรียนหนังสือในโรงเรียนจนถึงอายุ 19 และทุกวันนี้ เธอยังมีแม่คอยเป็นครูที่บ้าน ฝึกฝนทบทวนสม่ำเสมอ เพราะความรู้ถ้าไม่ได้ใช้ก็จะถดถอยลงไปเรื่อยๆ ล่าสุด เธอกำลังหัดทักษะใหม่ทำงานฝีมือเย็บปักถักร้อย แถมยังทำได้สวยจนต้องยกนิ้วให้

นอกเหนือจากนี้ เธอยังมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบช่วยงานบ้านทั่วๆไป และมีโลกส่วนตัวอยู่กับการอ่านและเขียนหนังสือ

"คิดว่าโตขนาดนี้ น่าจะทำอะไรได้บ้าง ก็จะเอามาลองทำลองฝึกกับลูก ลองแล้วลองอีก สอนจากสเต็ปง่ายๆ แล้วมายากขึ้น พูดคุยกับเขา ถึงถามแล้วเขาไม่ตอบ เราก็จะพูดกับเขาฝ่ายเดียวก่อน ค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ พยายามสอนทุกอย่าง แม้แต่การตีปิงปองบนโต๊ะ"

เธอ เล่าว่า หลายอย่าง ก็ไม่รู้ว่าลูกจะทำได้หรือทำไม่ได้ แต่สังคมและพ่อแม่ก็ไม่ควรประทับตราว่าเด็กพิเศษ ทำอะไรไม่ได้

"แม้แต่คุณพ่อเขาเห็นดิฉันพยายามสอนลูกเหมือนเด็กปกติ ยังถามว่าดิฉันสติดีหรือเปล่า เด็กพวกนี้จะทำอะไรได้ แต่เราต้องให้โอกาสเขา ดิฉันพยายามสอนเขาพูด พอเขาไปหัดว่ายน้ำ สอนอ่านหนังสือ ไปยืมหนังสือจากห้องสมุดมาให้ลูกอ่าน เล่าเรื่องในหนังสือให้เขาฟัง"

ครั้งแรกที่ได้ยินลูกพยายามเรียก "แม่" คำแรกตอนอายุเกือบ 3 ขวบ คงไม่ต้องบอกว่าคุณแม่คนนี้จะดีใจขนาดไหน ทุกวันนี้ระหว่างแม่กับลูก ต้องถือว่าสื่อสารกันได้รู้เรื่อง เช่น บอกให้ทำโน่นนี่ ก็สามารถเข้าใจและทำตามได้ เพียงแต่พูดไม่ได้เหมือนคนทั่วไปเท่านั้น

"พยายามพัฒนาลูกให้ใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด ให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นภาระให้คนอื่นน้อยที่สุด ความหวังของแม่ทุกคนอยากให้ลูกมีความสุข แต่ไม่ใช่ตามใจทุกอย่าง ต้องสอนเหตุผล ทำอย่างนี้ดีไม่ดี อะไรทำได้อะไรไม่ควรทำ จนป่านนี้เขาอายุ 34 แล้วก็ยังต้องพูดต้องสอนอยู่"

ตอนแอนนิต้าเกิดได้ 2 ขวบ ช่วงนั้นสงครามเวียดนามกำลังคุกรุ่น พ่อซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส จึงตัดสินใจอพยพครอบครัวจากเมืองไทยไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด จนลูกสาวอายุ 14 ปี จึงย้ายกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง เพราะภรณีป่วยหนักด้วยโรคไต หมอแนะนำว่าให้ย้ายกลับมาอยู่บ้านใกล้ชิดครอบครัวที่เมืองไทยจะดีกว่า

ตอนนั้น หัวอกคนเป็นแม่ถึงขนาดวางแผนล่วงหน้า ดิ้นรนเอาลูกสาวไปฝากฝังไว้กับคณะนักบวชหญิงศาสนาคริสต์ที่เธอนับถือ พร้อมบริจาคยกบ้านและที่ดินให้เป็นการกุศล เผื่อวันหน้าหากเธอเสียชีวิต ลูกสาวจะมีค่าเลี้ยงดูจากสถานทูตส่งมาให้ เพราะซื้อประกันสังคมไว้ตั้งแต่อยู่ฝรั่งเศส

ส่วนใหญ่โดยทั่วไปเด็กดาวน์ซินโดรม มักจะมีปัญหาโรคหัวใจและอายุสั้น แต่สำหรับแอนนิต้า กลับไม่มีทั้งปัญหาโรคหัวใจหรือโรคประจำตัว สุขภาพร่างกายแข็งแรงมาก นั่นอาจเพราะแม่พาไปออกกำลังกายเล่นกีฬามาตั้งแต่เล็ก

ภรณีเล่าว่า ญาติๆ บอกเหมือนกันว่าเขาช่วยดูแลลูกให้ได้ แต่เธอรู้ดีว่า การดูแลเด็กพิเศษไม่ ใช่เรื่องง่ายๆ นอกจากจะเป็นภาระที่หนักหน่วงแล้ว มากไปกว่าแค่มีที่กินที่นอน เด็กเหล่านี้ยังมีชีวิตจิตใจ พวกเขาจะอยู่อย่างไรหลังจากพ่อแม่เสียชีวิตแล้ว

ความตั้งใจอย่างหนึ่งของภรณี ด้วยแรงบันดาลใจจากลูกสาว บนที่ดินขนาด 8 ไร่ย่านรังสิตที่มีอยู่ในมือ ซึ่งคุณแม่คนแกร่งอยากแปลงให้เป็นโรงเรียนศูนย์ฝึกอาชีพให้กับเด็กพิเศษบนที่ผืนนี้ เพื่อเป็นสถานที่รองรับหลังจากพ่อแม่เสียชีวิตไปแล้วและไม่มีใครดูแล

คงดีไม่น้อยถ้าไม่ใช่แค่ช่วยสร้างความหวังกับลูกเธอคนเดียว แต่ยังสร้างความหวังต่อไปในระยะยาวให้กับลูกของคนอื่นๆ ได้ด้วย...ความฝันนี้เคยพยายามมาหลายปีแต่ยังไม่สำเร็จ แต่เธอยังไม่ยอมแพ้หมดหวังง่ายๆ

"อาชีพที่ทำตอนนี้ คงยังเป็นล่ำเป็นสันไม่ได้ อย่างเช่นงานฝีมือ เพราะเขาทำได้ช้า อาจจะพอได้เงินเล็กๆ น้อยๆ แต่ในต่างประเทศ อย่าง ญี่ปุ่น จะเห็นว่าเขาเปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่ที่เป็นดาวน์ซินโดรมทำงานรวมกับคนปกติ เช่น ทำงานเป็นพนักงานในร้านขายขนมเค้กขนมปัง ก็อยากเห็นเมืองไทยเปิดโอกาสให้กับคนพิเศษมากขึ้นเช่นกัน"

ทุกวันนี้ ภรณีบอกว่า เธอกลับรู้สึกขอบคุณพระเจ้าที่ให้แอนนิต้ามาเป็นลูกสาว เธอรู้ว่าชีวิตยังโชคดี และได้มีโอกาสเรียนรู้ที่จะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่คนอื่นๆ มากขึ้น

ชีวิตจริงยิ่งกว่าในหนัง (โฆษณา)

ยังพอจำโฆษณาแม่กับลูกหูหนวกที่เรียนจบแล้วตระเวนหางานทำ จนสุดท้ายได้เป็นเจ้าหน้าที่ Call Center ของเอไอเอสได้ไหม?

หนังโฆษณาเรื่องนี้สร้างขึ้นจากชีวิตจริงของ ดุ๊ก-กฤษฎา กันทาเปี้ย และแม่-ลำไย กันทาเปี้ย ทั้งสองคนแม่ลูกยังเป็นคนเดียวกับนักแสดงจริงที่เล่นในหนังโฆษณาชุดนี้ด้วย

"เดินไปไหนคนรู้จักเยอะขึ้น ทักทั้งซอยว่าใช่แม่ลูกที่ถ่ายโฆษณาหรือเปล่า" ลำไย กันทาเปี้ย คุณแม่ของดุ๊กอมยิ้มเล่าแบบปลื้มๆ แม้เหตุการณ์ในหนังโฆษณา จะผ่านมาถึง 2 ปีแล้วแต่เธอยังจำได้แม่นว่าวันที่ได้รับโทรศัพท์แจ้งข่าวว่าลูกชายได้งานทำ คนเป็นแม่ไชโยโห่ฮิ้วดีใจยิ่งกว่าลูกชายหลายเท่า

หลังจากเป็นบัณฑิตเตะฝุ่นหางานเกือบปี ยื่นใบสมัครมาหลายสิบแห่ง แต่ไร้วี่แววจนเริ่มถอดใจว่าคงไม่มีใครยอมรับคนหูหนวก แต่ร่ำเรียนจนจบครุศาสตร์บัณฑิต หลักสูตรการศึกษาพิเศษ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

ลำไย เล่าว่า ตอนนั้นถอดใจถึงขนาดเตรียมถอยข้าวของอุปกรณ์ ให้ลูกชายมาฝึกทำเบเกอรี่ ทำน้ำผลไม้ไปขายตามตลาดนัดแล้ว เพราะหางานทำไม่ได้อย่างไรก็ต้องมีอาชีพไว้เลี้ยงตัว

ครอบครัวของดุ๊กมีฐานะปานกลาง แม่ทำงานเป็นพนักงานพิมพ์ดีดในโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีลูกชายสองคน อีกคนหนึ่งปกติ มาพบความผิดปกติว่าดุ๊กลูกคนโตพิการทางการได้ยิน ตอนอายุได้ 2-3 ขวบ

ระหว่างงานกับลูก แม่ตัดสินใจเลือกลูก ลาออกจากงานมาเลี้ยงลูกอย่างใกล้ชิด 3 ปี เพราะอยากฝึกให้ลูกโตมาอยู่ร่วมกับสังคมเหมือนเด็กปกติทั่วไป ตั้งแต่เล็กๆ แม่คนนี้จึงสอนลูกอย่างเด็กปกติ สอนคู่กันทั้งพี่น้อง ฝึกให้ลูกพูด อ่านออกเขียนได้ และสื่อสารด้วยการฝึกอ่านปากจดจำคำพูดและความหมายได้

"เด็กพวกนี้มีความสามารถแต่ขึ้นอยู่กับผู้ปกครอง บางคนเห็นลูกเป็นอย่างนี้ก็ปล่อย ก็อยากจะบอกแม่ๆ ว่า ต้องฝึกลูกและเอาใจใส่เขา อย่าคิดว่าเขาพิการ ให้คิดว่าเขาเป็นเด็กปกติ ฝึกไปเขาต้องทำได้ แม่คนอื่นคิดว่าลูกทำไม่ได้ คิดว่าไม่มีความสามารถ แต่ถ้าเราสอนเขา เขาก็ทำได้"

แทนที่จะส่งเข้าเรียนโรงเรียนเฉพาะสำหรับเด็กพิการหูหนวก เธอกลับเลือกส่งลูกเรียนในโรงเรียนทั่วไปร่วมกับเด็กปกติ เพราะอยากให้ลูกได้มีสังคม ได้สื่อสารกับคนอื่นๆ หากเรียนในโรงเรียนเฉพาะ กลัวว่าต่อไปลูกจะพูดคุยแต่ภาษามือและปิดตัวอยู่ในสังคมเพื่อนที่พิการด้วย กัน

ดุ๊กจึงเป็นเด็กพิการหูหนวกที่เรียนร่วมหลักสูตรกับเด็กปกติตั้งแต่ชั้น อนุบาลจนจบปริญญาตรี และมีกลุ่มเพื่อนที่เป็นทั้งคนปกติ และคนพิการหูหนวก

"บางคนพูดว่าลำบากนะ ลูกเป็นอย่างนี้เข้ากับคนอื่นก็ไม่ได้ พูดกับใครก็ไม่ได้ แต่เราคิดว่าเราต้องฝึกลูกเราให้ทำให้ได้ เรียนหนังสือได้ อยู่ร่วมกับคนอื่นให้ได้สิ เราจะฝึกลูกว่า หนึ่ง..เวลาอยู่กับคนอื่นให้ฝึกโดยใช้สายตาดูปากว่าเขาพูดอะไร สอง..เวลาเรียนสอนให้ลูกนั่งแถวหน้า จะได้เห็นเวลาครูสอนชัดๆ สาม..สอนให้ลูกขึ้นรถเมล์ไปโรงเรียนเอง จะได้ฝึกช่วยตัวเองตั้งแต่เด็กๆ สอนลูกว่าเวลาไปไหน ถ้าไม่รู้อะไรให้กล้าถามเลย ไม่ต้องอาย พูดไปเลยเขาฟังไม่รู้เรื่องก็ไม่เป็นไร"

ลำไยเล่าว่า เวลาอยู่บ้าน จะฝึกให้ลูกอ่านหนังสือ ช่วยติวบทเรียน แรกๆ ใช้การสื่อสารแบบธรรมชาติ พูดให้ลูกอ่านปาก และยกไม้ยกมือเป็นภาษาใบ้แบบง่ายๆ ที่เข้าใจกันเอง ส่วนภาษามือแบบทางการที่ใช้กันเป็นสากล ดุ๊กเพิ่งมาหัดเรียนภายหลังเมื่อโตเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว

เราจึงเห็นภาพของแม่ที่พยายามสื่อสารกับลูก โดยพูดช้าๆ ทำปากชัดๆ และทำท่าประกอบบ้างโต้ตอบกันตลอดชั่วโมงการสนทนา

ตอนส่งลูกเรียนหนังสือจนจบปริญญา ในใจแม่คนนี้ เผื่อความหวังไว้แค่ 50:50 ว่าลูกจะมีโอกาสทำงานมีอาชีพเหมือนคนปกติ แต่ถึงอย่างไรแม่ก็ขอเป็นกำลังใจให้ลูกเกินร้อย เพราะกว่าจะเรียนจนจบเหมือนคนปกติ ไม่ใช่ง่ายๆ แม่จึงมีบทบาทมากในการเป็นโค้ชที่อยู่เคียงข้าง

"เช่น ถ้าเขาต้องทำรายงานดึกถึงตี 4 เราก็ตี 4 ด้วย ดึกแค่ไหนก็จะอยู่กับลูก เป็นกำลังใจให้เขา ให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษา"

รวมทั้งตระเวนไปเป็นเพื่อนลูกสมัครตามที่ต่างๆ อย่างที่เห็นในโฆษณา รวมทั้งสวมบท "เจ๊ดัน" ช่วยเป็นกระบอกเสียงแทนลูกว่า พาลูกมาสมัครงานพร้อมบรรยายเสร็จสรรพว่าเขามีความสามารถอะไรบ้าง

"บางแห่งที่ไปสมัครเขาบอกว่า รับเข้าทำงานได้แต่ไม่มีเงินเดือนให้นะมีแต่ค่าข้าว บางที่เดินเข้าไปสมัครเขาก็บอกปฏิเสธเลยว่า รับเข้าทำงานไม่ได้ เพราะกลัวจะสื่อสารกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง แรกๆ ก็หมดกำลังใจแต่ยังสู้ต่อ เพราะมั่นใจว่าลูกเรามีความสามารถ"

จนในที่สุด โอกาสที่รอคอยมานานก็มาถึง วันนั้นนอกจากจะได้รับโทรศัพท์แจ้งข่าวดีจากเอไอเอสแล้ว ยังมีขสมก.ที่โทรศัพท์มาแจ้งให้ไปรายงานตัว แต่สุดท้ายตัดสินใจเลือกทำงานที่แรกเพราะเดินทางสะดวกใกล้บ้าน

"ตอนนี้สำหรับแม่ถือว่าหายห่วง เพราะเขามีงานทำสามารถเลี้ยงตัวเอง ทุกวันนี้เขาให้เงินแม่เดือนละ 5 พัน ในใจเคยห่วงลึกๆ ว่าจะมีบริษัทไหนรับลูกเราทำงานไหม เพราะถ้าพิการทางหูจะสื่อสารกับคนในสังคมได้ยาก"

ดุ๊กเป็น 1 ใน 8 ของผู้พิการหูหนวกที่ผ่านการคัดเลือกได้เข้าทำงานเป็นพนักงาน Call Center รุ่นแรกของเอไอเอส โดยให้บริการตอบคำถามข้อมูลต่างๆ ผ่านเว็บแคมจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งลูกค้าที่พิการทางการได้ยินจะออนไลน์เข้ามาสอบถามใช้บริการ ถึงวันนี้ดุ๊กทำงานเป็นพนักงานที่นี่ได้ 2 ปีเต็มแล้ว พร้อมกับความฝันว่าอยากเก็บเงินซื้อบ้านหลังใหม่ให้แม่

ถามเขาว่า ตั้งแต่เล็กจนโตประทับใจอะไรในตัวแม่คนนี้บ้าง ดุ๊กยิ้มเขินอยู่นาน ก่อนจะพยายามพูดว่า ประทับใจที่คุณแม่คอยช่วยเขาตลอดเวลามาตั้งแต่เด็ก และทุกครั้งแม่จะพยายามพูดช้าๆ เพื่อคุยกับเขาเสมอ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook