เด็กถิ่นบัวหลวงยกนิ้ว บัวไทย สร้างประโยชน์ไร้ขีดจำกัด

เด็กถิ่นบัวหลวงยกนิ้ว บัวไทย สร้างประโยชน์ไร้ขีดจำกัด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
จังหวัดปทุมธานี เพียงแค่ยินชื่อก็รู้ทันทีว่าของดีถิ่นนี้คือ "บัวหลวง หากแต่ทุกวันนี้ความสำคัญของบัวต่อคนในท้องถิ่นกลับลดลงไปมาก ประกอบกับพื้นที่ปลูกบัวในธรรมชาติก็เริ่มลดน้อยลงเนื่องจากการแปรสภาพหนอง คลอง บึง ไปเป็นพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยและพื้นที่อุตสาหกรรม ดังนั้นเพื่อดึงความสนใจเด็กไทยรุ่นใหม่ให้กลับมาตระหนักถึงคุณค่าของบัว ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานจังหวัดปทุมธานี ชักชวนเยาวชนในพื้นที่กว่า 90 ชีวิตในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี มาร่วมไขความอัศจรรย์ของบัว ในค่าย "บัว มหัศจรรย์แห่งราชินีไม้น้ำ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย นางอุไรพรรณ ปรางอุดมทรัพย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กล่าวว่า ค่าย "บัว มหัศจรรย์แห่งราชินีไม้น้ำ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับบัว ซึ่งเนื้อหาการเรียนรู้จะ คลอบคลุมทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาไทย อีกทั้งในส่วนของกิจกรรมจะเน้นการปฏิบัติ ฝึกการใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการตั้งคำถาม การทดลอง และการเก็บบันทึกข้อมูล เพื่อให้เยาวชนเข้าถึงองค์ความรู้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง และตระหนักว่า บัวคือพืชพื้นเมืองที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ โดยในวันแรก เด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องบัวผ่านการบรรยาย เปิดประตูตำนานบัวกับวิวัฒนาการแห่งชีวิต ก่อนจะเข้าสู่ปฏิบัติการ ชำแหละบัว ทำความรู้จักกับทุกอณูของบัวตั้งแต่กลีบดอกบัวจนถึงโมเลกุลชีวิตที่เรียกว่าดีเอ็นเอ พร้อมสนุกกับกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์จากธรรมชาติ มหัศจรรย์น้ำกลิ้งบนใบบัว จากนั้นมาร่วมไขรหัสนานาประโยชน์จากบัว ในกิจกรรมบัวกับวิถีภูมิปัญญาไทยและศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเด็กๆจะได้สัมผัสการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากบัว ทั้ง อาหารจากบัว สบู่จากบัว ใยบัวพิศวง นอกจากนี้ เด็กๆ ยังได้เพลิดเพลินในกิจกรรม เส้นสายลายบัว และการประดิษฐ์จานดินกลิ่นบัว ส่วนกิจกรรมวันที่สองก็เข้มข้นไม่แพ้กัน เด็กๆ ได้ยกพลออกภาคสนามท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์บัว เพื่อทดสอบความรู้ที่เรียนมาด้วยการฝึกจำแนกสายพันธุ์บัว ก่อนจะกลับมาทดลองปลูกบัวด้วยตนเอง และปิดท้ายด้วยการคิดโครงงานวิทยาศาสตร์จากบัว เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม ในการใช้ประโยชน์จาก "บัว พืชที่ผูกพันกับวิถีชีวิตชาวไทยมายาวนาน "บัว เป็นพืชที่น่าอัศจรรย์มากครับ ความรู้สึกแรกของ น้อง หรือ ด.ช.ชนสิทธิ์ สุบิน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรังสิต จังหวัดปทุมธานี ที่กล่าวภายหลังการร่วมกิจกรรมและว่า เริ่มแรกรู้จักบัวแค่ว่าเป็นดอกไม้สำหรับบูชาพระ แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าบัวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อาทิ ใช้เกสรมาทำสบู่ ก้านบัวนำมาทำกระดาษใยบัว ส่วนใบบัวไม่เพียงใช้ห่ออาหารแต่ยังเป็นลายพิมพ์ทำงานศิลปะได้ด้วย และที่สำคัญคือทุกส่วนของบัวสามารถใช้ทำอาหาร เริ่มตั้งแต่เมล็ดบัว กินได้ทั้งสดและแห้ง มีโปรตีนสูงถึง 23% รากบัว นำมาเชื่อมเป็นของหวาน ไหลบัว สายบัว นำมาทำแกงส้ม แกงเลียง ผัดเผ็ด อีกทั้งกลีบดอกบัวยังนำมาชุบแป้งทอดเป็นอาหารได้เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาก็ล้วนเป็นเมนูอาหารตลอดกิจกรรม ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าบัวนำมาทำอาหารได้มากมายและอร่อยจริงๆ ด้าน "ตอ หรือ ด.ช.ธิปัตย์ ปิยะภัทรกุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรังสิต จังหวัดปทุมธานี เล่าว่า สนุกมากกับกิจกรรมมหัศจรรย์น้ำกลิ้งบนใบบัว ได้ทำการทดลองด้วยตนเองและพบว่า น้ำกลิ้งบนใบบัวได้เพราะว่าบนใบบัวมีขนขนาดเล็กขนาดนาโนเมตรจำนวนมหาศาล ทำให้ผิวใบบัวมีลักษณะขรุขระ เมื่อหยดน้ำลงบนใบบัว น้ำจะมีบริเวณที่สัมผัสบนผิวใบบัวน้อยมาก น้ำจึงกลิ้งบนใบบัวได้ แต่ก็ไม่ใช่หยดน้ำทุกชนิดที่จะกลิ้งบนใบบัวได้เพราะจากการทดลองทำให้ทราบว่า น้ำมันพืช น้ำยาล้างจาน และแอลกอฮอล์ ไม่สามารถกลิ้งบนใบบัวได้ เนื่องจากมีสารบางอย่างที่เข้าไปทำลายขนเล็กๆ บนพื้นผิวของใบบัว ซึ่งปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์สามารถนำความรู้เรื่องนี้มาพัฒนาเป็นผ้าไม่เปียกน้ำได้สำเร็จ เป็นความรู้จากใบบัวที่ผมจะนำไปใช้ในการออกแบบโครงงานวิทยาศาสตร์ต่อไป และอาจจะเป็นประโยชน์ต่อคนในท้องถิ่นของผมในอนาคต

ขณะที่ "จัสมิน หรือ ด.ญ.พิมพ์ทิพย์ พสุธา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวงวิทยาคม จังหวัดปทุมธานี เล่าว่า การได้ไปพิพิธภัณฑ์บัวคือสิ่งที่ประทับใจมาก เพราะทำให้เห็นบัวสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อีกทั้งยั้งชอบกิจกรรมการชำแหละบัว ที่ทำให้เห็นส่วนประกอบภายในของบัว เห็นเกสรตัวผู้ เกสรตัวเมีย เห็นรังไข่ ที่สำคัญยังได้รู้ว่าเกสรเพศผู้ของดอกบัวสามารถเปลี่ยนไปเป็นกลีบดอก และสามารถเปลี่ยนกลับมาเป็นเกสรได้อีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมากนอกจากนี้ยังได้ทดลองทำกระดาษใยบัว และสบู่เกสรบัวหลวง ของใช้จากบัวที่ทำได้ง่ายและสนุกอีกด้วย

ปิดท้ายที่ มินท์ หรือ ด.ญ.รุจิรา ประวัง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี เล่าว่า กิจกรรมที่ชอบคือ การปลูกบัว ซึ่งวิธีการปลูกบัวเริ่มต้นจากการใส่ดินเหนียว 1ใน 3 ของกระถาง และใส่ปุ๋ย 1 ช้อน โรยกระจายให้ทั่ว จากนั้นใส่ดินเหนียวปิดทับลงไป นำบัวลงไปปลูกแล้วค่อย ๆ ใส่น้ำลงไปในกระถางจนถึงระดับเดียวกับขอบกระถาง โดยพันธุ์ที่ใช้ปลูกในกระถางได้แก่ บัวหลวง บัวผัน บัวเผื่อน การดูแลคือหมั่นใส่ปุ๋ยบำรุง 2 อาทิตย์/ครั้ง จะเห็นว่าการปลูกบัวไม่ยากอย่างที่คิดดังนั้นจึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆให้หันมาร่วมกันปลูกบัวกันให้มากขึ้น เพราะไม่เพียงบัวจะมีสีสันสวยงาม สมฉายาราชินีแห่งไม้น้ำแล้ว แต่หากชาวปทุมธานีร่วมใจกันอนุรักษ์และพัฒนาบัวไทย ไม่แน่ว่าในอนาคตวัชพืชอย่างบัวอาจจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญไม่แพ้ปาล์มหรือมะพร้าวก็ได้ ...หากเยาวชนในท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานีหันมาเรียนรู้ และภูมิใจกับทรัพยากรท้องถิ่นตนเอง เช่นนี้แล้ว ก็เชื่อว่าบัวไทยคง(ไม่)แล้งน้ำเป็นแน่!!...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook