แกะรอยคนถูกหวย รวยรางวัลที่ 1

แกะรอยคนถูกหวย รวยรางวัลที่ 1

แกะรอยคนถูกหวย รวยรางวัลที่ 1
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : ทีมข่าวจุดประกาย

ตามติดชีวิตคนถูกรางวัลที่ 1 พวกเขาเป็นอย่างไรในรอบหลายปี หลายคนเงินหมดเกลี้ยงในเวลาอันสั้น แต่อีกไม่น้อยจัดการเป็นจนลากยาวมาได้จนถึงวันนี้

อาจจะเพราะวัฒนธรรมการเสี่ยงโชคที่เข้มข้นกว่า ทำให้แต่ละงวดที่ออกมา รางวัลใหญ่มักไปตกอยู่ในมือชาวภูธร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและคนหาเช้ากินค่ำ บางคนค่อนขอดพวกเขาว่าใช้เงินไม่เป็น

แต่บุคคลต่อไปนี้ แม้จะไม่ติดอันดับ "นักจัดการเงินมืออาชีพ" ในโพลล์ไหนๆ แต่พวกเขากลับจัดการเงินล้านที่ได้มาอย่างเรียบง่ายและมีสติ

อยู่ดีๆ มี 20 ล้าน

2 ปีที่แล้ว บุญสนอง แก้วบ่อ กลายเป็นเศรษฐีชั่วข้ามคืนหลังถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1และรางวัลแจ็คพ็อต ได้เงินรวมถึง 20 ล้านบาท

ชายวัย 52 ปีจากบ้านโคกสี ต.โคกสี อ.เมืองขอนแก่น เดิมมีอาชีพทำการเกษตรทั้งไร่ นา สวนและค้าขายของชำภายในหมู่บ้าน ควบคู่ไปกับการเรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น

งานส่วนรวมเจริญก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ แต่งานส่วนตัวกลับขาดทุน ทยอยขายที่ไร่ที่นา เป็นหนี้สินมากมาย

แต่ในที่สุด บุญสนองก็กัดฟันเรียนจนจบ และเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปรับปริญญา ขากลับแวะไหว้พระที่ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ตบท้ายด้วยการเสี่ยงเซียมซี ได้เลข 75-76

เมื่อมีคนตาบอดเดินมาขายลอตเตอรี่ บุญสนองบอกแค่เลขท้ายไป คนขายก็ยื่นมาให้สองคู่ 414875, 414876 ซึ่งใบแรกคือ รางวัลที่ 1 ในงวดถัดมา เท่านั้นยังไม่พอ ลอตเตอรี่ใบอื่นที่ซื้อมาก็ยังไปคว้ารางวัลแจกพอตอีก 16 ล้านบาท รวมๆ กันแล้ว 20 ล้านบาทขาดตัว

วันนั้น เพื่อนแห่กันมาทั้งหมู่บ้าน ข้าวของเครื่องใช้ที่ซื้อมาไว้ขายกว่า 3 แสนบาท ถูกขอไปจนหมดเกลี้ยง

"จากนั้นก็มีญาติพี่น้องและคนแปลกหน้าเข้ามาหาขอยืมเงินจำนวนมาก แจกให้ญาติไปก็เยอะ ให้คนยืมไปลงทุนก็มีบ้าง แต่ผมก็เอาเงินไปใช้หนี้สินที่กู้ยืมมาจนหมด กับเก็บฝากธนาคารเอาไว้กินดอกเบี้ย บางส่วนก็นำมาลงทุนกับการเกษตร และช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส"

ขณะนี้ ครอบครัวแก้วบ่อสบายขึ้นมาก บุญสนองก็ได้เรียนต่อปริญญาโท และใกล้จะจบแล้ว และเมื่อ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา เขาก็ลงสมัครรับเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสี ก็ได้รับชัยชนะ ลูกบ้านเทคะแนนให้อย่างท่วมท้น แม้บางเสียงจะบอกว่า ถูกเลือกเพราะความรวยและคนรวยไม่น่าจะทุจริต

"จากกุศลผลบุญที่ทำดีเพื่อชุมชนมาโดยตลอดทำให้เชื่อว่า ทำดีต้องได้ดีขอเพียงชีวิตเราอย่าท้อ สู้เข้าไว้" เศรษฐีล็อตเตอรี่ บอก

ทุกข์มาเพราะความดัง

เพราะซื้อสลากกินแบ่งไว้สองใบตามเลขทะเบียนรถของพ่อ จากข้าราชการธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ถูกหนี้มะรุมมะตุ้ม ก็หายกลุ้มเป็นปลิดทิ้ง

เป็นชีวิตจริงของ อัจฉรา พลสิทธิ์ เจ้าพนักงานศาล ยุติธรรมประจำศาลจังหวัดเดชอุดม อุบลราชธานี อายุ 32 ปี ที่ 3 ปีที่แล้ว ถูกรางวัลที่ 1 จำนวน 1 ใบ ได้เงินรางวัลจำนวน 4,000,000 บาท

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น อัจฉราบอกว่ามีทั้งสุขและทุกข์ สุขคือคนแห่แสดงความยินดี ส่วนทุกข์คือ "ความดัง" ที่มาพร้อมกับการขอความช่วยเหลือทุกรูปแบบ เธอก็สงเคราะห์ไปบ้าง

"มีอยู่รายหนึ่งเป็นนักโทษชายอยู่ที่เรือนจำทางภาคเหนือทราบข่าวจาก หนังสือพิมพ์ได้เขียนจดหมายมาขอความช่วยเหลือว่าญาติ พี่น้องฐานะยากจนขอเงินมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในเรือนจำก็ได้ส่งธนาณัติไปให้"

กับตัวเองและครอบครัว สิ่งแรกที่ทำคือ ใช้หนี้ที่มีอยู่จนหมด จากนั้นเอาเงินมาสร้างบ้าน จัดสรรเงินส่วนหนึ่งให้กับญาติพี่น้องกับบุคคลที่เคยช่วยเหลือ ทำบุญ และเปิดบัญชีเงินฝากประจำให้ลูก 2 คน

ชีวิตทั่วไป อัจฉราบอกว่าเป็นไปอย่างเรียบง่ายเหมือนปกติ และไม่ฟุ่มเฟือย

"ทุกวันนี้มีความสุขแล้ว ไม่เป็นหนี้เป็นสินใคร ครอบครัวอบอุ่น ทำงานอย่างมีความสุข"

ชีวิตคนเราคงไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านี้แล้ว

ทำงานหนัก ปลูกผักกิน

หลังจากคู่ทุกข์คู่ยากล้มป่วยด้วยโรคหัวใจ พ่อค้าขายผักในตลาดสดบ้านทุ่ง ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ สามีอย่าง อนันต์ จำปาหอม จึงขาดคนช่วยปลูกและช่วยมัดจัดหีบห่อ จำต้องหันเหชีวิตไปเป็นคนรับจ้างขนของในตลาดแทน

กับล้อเข็น 1 คัน เริ่มงานตั้งแต่ตี 1 แลกกับค่าแรงวันละ 200-300 บาท อาจจะพอเลี้ยงครอบครัวได้ไปวันๆ และอาจเป็นเช่นนั้นไปตลอดชีวิต ถ้าวันนั้น 16 เมษายน พ.ศ.2548 เขาไม่เสี่ยงดวงซื้อหวยเลข 119327 และได้เงินรางวัลที่ 1 มา 4 ล้านบาท

"ผมเอาไปฝากธนาคารเอาไว้ก่อน แล้วค่อยถอนออกมาไปซื้อรถปิกอัพคันใหม่ หกแสนกว่าบาท แทนคันเก่าที่เก่าเต็มที" อนันต์ วัย49 แจกแจงรายรับรายจ่าย

ไม่ต้องพูดถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ภรรยาที่ป่วยด้วยโรคหัวใจได้รับการรักษาจนกลับมาช่วยงานได้อีกครั้ง แต่คราวนี้เปลี่ยนมาเป็นงานเบาๆ อย่างขายขนม ขายเส้นก๋วยเตี๋ยว ในตลาดแห่งเดิม เริ่มงานตีสอง กว่าจะได้กลับไปนอนก็ 9 โมงเช้า เป็นอย่างนี้ทุกวัน

ถึงจะมีเงินล้านไว้กอดอุ่นๆ แต่อนันต์และภรรยาก็ยังไปต้องไปทำงาน และ ปลูกผักไว้กินเอง

"ชีวิตเหมือนเดิม เปลี่ยนแปลงน้อยมาก แค่เปลี่ยนรถคันใหม่ ผมก็ยังตื่นเข้า ขับรถไปส่งของ เสร็จก็กลับบ้านนอน เงินเก็บไว้บางส่วนสำหรับใช้ในช่วงที่ทำงานไม่ไหว แล้วก็เก็บไว้ให้ลูกชายคนเดียว ใช้เงินทีก็ระมัดระวัง ปลูกผักในบ้านไม่ต้องซื้อเขากิน"

ถามถึงการลงทุนเพิ่มเติม ทำให้เงินงอกเงย?

เจ้าตัวส่ายหน้า ก่อนจะอธิบายว่า เกินความสามารถของตัวเอง และที่สำคัญ...

"ผมคิดว่าครอบครัวมีทุกอย่าง ไม่ต้องการสิ่งไหนอีกแล้ว"

ชาวนาเนื้อหอม

ในปี 2547 ยุคที่หวยบนดินกำลังเฟื่องฟู ปัน ศรีจอมแจ้ง ชาวนา วัย 59 ปี ใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในคนไทยที่เจียดรายได้อันน้อยนิดซื้อหวยเป็นประจำทุกงวด ไม่เคยขาดตกบกพร่อง หวังว่าสักวันจะโชคดีกับเขาบ้าง


แต่ไม่รู้ว่าทำ บุญมาด้วยอะไร วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 ลุงปันพกดวงมาเต็มกระเป๋า ถูกรางวัลแจ็กพอตจากหวยบนดินใบละ 20 บาท คว้าเงินรางวัล 25 ล้านบาท ไปนอนกอดสบายใจ

หลังชีวิตพลิกผันเพียงข้ามคืน จากชาวนายากจนกลายเป็นเศรษฐี เรื่องราว มากมายประดังเข้าหาลุงปันอย่างที่ตัวเองไม่เคยคาดคิด แต่ละวันบ้านหลังน้อยที่เคยเงียบเหงากลับคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ทั้งที่รู้จักและแปลกหน้า ต่างแวะเวียนมาแสดงความยินดีแฝงด้วยความหวังอย่างลึกๆ

ส่วนบุรุษไปรษณีย์ที่แทบไม่รู้จักบ้านของลุงปัน กลับต้องแวะเวียนนำจดหมายจากทั่วสารทิศมาส่งให้ลุงปันวันละหลายรอบ และจดหมายเหล่านี้ เขียนมาพรรณนาถึงความทุกข์ยาก อยากให้ช่วยปลดหนี้ ช่วยค่ารักษาพยาบาล ขอทุนตั้งตัว ขอค่าเทอม ฯลฯ

แต่ที่เด็ดที่สุดคือจดหมายจากสาวน้อยสาวใหญ่ รวมถึงสาวแก่แม่หม้ายจากทั่วประเทศ ที่เขียนมาบรรยายสรรพคุณพร้อมแนบภาพถ่าย ขอสมัครเป็น "แม่บ้าน" รวมแล้วไม่น้อยกว่าร้อยฉบับ

...ที่สุดแล้วจดหมายทั้งหมดไม่ถูกตอบกลับแม้แต่ฉบับเดียว

ล่วงเลยมาแล้วกว่า 5 ปี ลุงปันพิสูจน์ให้คนอื่นๆ เห็นแล้วว่า คำว่า "สามล้อถูกหวย" ใช้ไม่ได้กับเขา เพราะเขายืนยันว่าถึงจะร่ำรวย แต่ก็ใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่ามาโดยตลอด

ลุงปัน แจงการบริหารการเงินตามแบบฉบับชาวนาว่า เงิน 25 ล้านบาท ถูกนำไปใช้หนี้ ธกส. 30,000 บาท ซื้อที่ดินและสร้างบ้านหลังใหม่ทดแทนหลังเก่า 2,000,000 บาท แบ่งให้ลูก 3 คน คนละ 5,000,000 บาท ให้ไปทำทุนค้าขายและเป็นทุนการศึกษาให้หลาน

นอกจากนี้ ลุงปันยังแปลงสินทรัพย์เป็นทุนด้วยการซื้อที่นา 4 ไร่ สวนอีกกว่า 20 ไร่ ในหมู่บ้าน พร้อมควักเงินอีก 600,000 บาท ซื้อรถกระบะใช้ขนผลิตผลทางการเกษตรไปขาย ที่เหลือฝากธนาคารเก็บกินดอกเบี้ย

ด้วยวัยและฐานะที่เอื้อต่อการนอนตีพุงสบายๆ แต่ลุงปันยังคงยึดอาชีพกระดูกสันหลังของชาติเหมือนเดิม ต่างก็แต่เขามีความสุขกับการใช้ชีวิตชาวนามากขึ้น เพราะได้ทำนาทำไร่ในที่ของตัวเอง จากเดิมที่ต้องรับจ้างทำนาในที่ดินของคนอื่น

"กิเลสเป็นสิ่งที่มนุษย์น้อยคนจะหลีกเลี่ยงได้ หลายคนมีมากก็ใช้มาก ใช้กันเพลินจนไม่เหลือ ผมเองก็มีกิเลส แต่โชคดีที่เป็นความอยากได้อยากมีในสิ่งที่จำเป็นกับการดำรงชีวิต ไม่ใช่อยากได้ในความฟุ่มเฟือย ความสุขที่แท้จริงของผมคือความพอเพียง"

แม้จะร่ำรวยเงินทอง แต่ภารกิจประจำวันของเศรษฐีแจ็กพอตรายนี้ยังเหมือนเดิม ทุกเช้าถึงบ่ายลุงปันจะขลุกตัวในท้องนาท้องไร่ ก่อนที่จะกลับมาพักผ่อนและสนทนากับเพื่อนบ้านในช่วงบ่าย ก่อนจะปั่นจักรยานคู่ใจไปตามถนนในหมู่บ้านตอนแดดร่มลมตก

"มีความสุขทุกครั้งที่มองเห็นทุ่งนา มันเป็นความรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก"

แม้จะเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งที่ต้องการ แต่ลุงปันยอมรับว่า ทุกวันนี้ยังต้องเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์อยู่เป็นประจำ เพราะยังคงมีโทรมาขอความช่วยเหลือบ่อยครั้ง

เมื่อถามว่าวันนี้เงิน 25 ล้านบาท เหลืออยู่เท่าไหร่ กลับมีเพียงรอยยิ้มบนใบหน้ากร้านแดดของชาวนาคนนี้เป็นคำตอบ

'ความลับ' หลักล้าน

เป็นคนหนึ่งซึ่งนานๆ ทีจะเสี่ยงโชคสักครั้ง และซื้อทีก็ไม่มากมาย แค่ "ครึ่งใบ" ในราคาแค่ 20 บาทเพราะทุนทรัพย์ไม่เอื้อ

แต่ สุพัตรา (สงวนนามสกุล) ก็ยังอุตส่าห์ถูก ได้เงินมา 3 ล้านบาท เมื่อ 7 ปีก่อน

คุณแม่ลูกสองเป็นแม่ค้าขายผลไม้ในจังหวัดเชียงราย ขณะนั้นสามีเสียไปนานแล้ว ตัวเธอเองก็ติดเชื้อเอดส์มาจากสามี ค้าขายผลไม้ก็ไม่ได้เงินมากมายอะไร แค่พอเลี้ยงตัว ไม่เหลือพอสำหรับการรักษาตัวเอง

"ท้อใจ ชีวิตมันแย่มาก แต่พอได้เงินก้อนนี้มาก ถือว่าโชคดีมาก เหมือนได้ชีวิตใหม่ มีกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ขึ้นมาอีกครั้ง"

ต่างจากคนอื่น พอรู้ว่าตัวเองถูกรางวัล สุพัตรากลับเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ ไม่บอกใครนอกจากลูกและคนสนิทจริงๆ เพราะไม่รู้ว่าถ้าบอกไปจะมีอะไรตามมาบ้าง

หลังจากขึ้นเงิน เธอแบ่งฝากธนาคารประจำให้ลูกคนละ 1 ล้านในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เหลือมาเอาไปซ่อมบ้านอีกประมาณ 4 แสนบาท แล้วเอาไปเปิดร้านขายของชำเล็กๆ อีกแสนกว่าบาท แต่เปิดได้เพียงปีกว่าๆ ก็ต้องปิดตัวลง เพราะขายไม่ดี ประกอบกับลูกย้ายที่ไปเรียนอีกจังหวัด แม่ก็เลยแพคกระเป๋าตามไปด้วย

"เงินฝากของลูก เขาต้องอายุครบ 25 ปีก่อนถึงจะเบิกได้ ถึงตอนนั้นคิดว่าตัวเองคงไม่มีชีวิตอยู่แล้ว บอกเขาเสมอว่า เงินก็เหมือนชีวิตแม่ ถ้าเงินหมด ชีวิตแม่ก็หมด"

สุพัตราคิดเสมอว่าเงินที่ได้มาคือวาสนา และไม่ควรใช้ของมีค่าโดยประมาท

ทุกวันนี้สุพัตรายังทำงานหาเช้ากินค่ำด้วยการไปเป็นแม่บ้านในบริษัทเอกชน รับเงินเดือนประมาณ 6,000 บาท

"กินใช้ก้อนนี้ค่ะ มีเหลือเก็บด้วย เพราะไม่ฟุ่มเฟือย อยู่แบบที่เราเคยอยู่ ไม่ค่อยซื้อไม่ค่อยเที่ยว ลูกๆ เองเวลาอยากได้อะไรเขาก็หาของเขา เราสอนเสมอว่า อยากได้อะไรต้องทำมาหากินเอง อย่ายืมจมูกคนอื่นหายใจ" นานๆ ที แม่ลูกถึงจะออกไปหาของอร่อยนอกบ้านทานกัน ส่วนการรักษาตัวเอง สุพัตราใช้สิทธิประกันสังคม ที่พักบริษัทจัดให้

ทุกวันนี้สุพัตรามีเงินฝากส่วนตัวไว้ให้อุ่นใจประมาณ 4 แสนซึ่งเธอไม่พยายามไปยุ่งกับเงินก้อนนี้

"ต้องทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น ถ้าเราใช้ ลูกก็ใช้" น้ำเสียงที่ยังสดใสของสุพัตรา

6 ล้าน 'ทุกขลาภ'

ในบรรดาคนที่ได้ลาภ แล้วเป็นทุกข์ คงไม่มีรายไหนหนักหนาสาหัสเท่ากับรายของ ศิษย์ กิจพฤกษ์ วัย 71 ปี ชาวบ้านหัน ต.กุดเค้า อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น

16 พฤษภาคม พ.ศ.2547 เขาถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 และรางวัลข้างเคียงได้เงินมา 6,138,000 บาท แต่เมื่อนำลอตเตอรี่ไปขึ้นเงิน กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับ เนื่องจาก น.ส.รสรินทร์ ศักดิ์ดาราโรจน์ อายุ 22 ปี เจ้าของร้านขายล็อตเตอรี่ในตำบล ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีในข้อหาวิ่งราวสลากกินแบ่งรัฐบาล จนเป็นเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล

ระยะเวลาผ่านมา 5 ปีแล้ว เงิน 6.1 ล้านบาทเศษยังนอนนิ่งอยู่ในธนาคาร ไม่มีใครได้ใช้

และแม้ว่าที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นจะยกฟ้องในคดีที่ น.ส.รสรินทร์ แจ้งความดำเนินคดีกับนายศิษย์ แต่ทางโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์อีก และนัดตัดสินคดีในวันที่ 8 กันยายน 2552 นี้ และครั้งนี้น่าจะเป็นวันชี้ขาดคดีว่า เงินที่มีอยู่นั้นจะมีใครได้ใช้หรือไม่ หรือจะต้องสู้กันถึงศาลฎีกา เนื่องจากฝ่ายโจทก์เองมองว่าตัวเองน่าจะเป็นเจ้าของเงินอย่างแท้จริง

ที่ผ่านมาหลายฝ่ายยังสงสัยอยู่ว่า ทำไมเจ้าของร้านจึงไม่โวยวายและแจ้งตำรวจให้จับตั้งแต่วันแรกที่ล็อตเตอรี่ หายไป แต่ทำไมเพิ่งมาโวยวายในวันที่รู้ว่าล็อตเตอรี่ถูกรางวัลที่ 1

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook