ปัตตานี...มีความหลัง

ปัตตานี...มีความหลัง

ปัตตานี...มีความหลัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : เกลี้ยงเกลา, นาซือเราะ เจะฮะ ศูนย์ข่าวอิศรา

นั่งไทม์แมชชีนสู่ปัตตานีเมื่อเกือบสองร้อยปีก่อน ชีวิตความเป็นอยู่ ผู้คนและความสงบสุข ณ ตอนนั้นคือ ดินแดนในฝัน ของวันนี้

เสียง อาซาน (การเรียกร้องของอิสลามเพื่อทำการละหมาด) ดังระเรื่อยคลอมากับสายลมพัดเอื่อยที่ริมโค้งแม่น้ำปัตตานีในยามที่ดวง อาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้า...

ผู้คนมากหน้าหลายตาทั้งพุทธ มุสลิม นั่งล้อมวงรอบโต๊ะญี่ปุ่นเตี้ยๆ บนฟุตบาทขอบตลิ่ง มือก็ตักส้มตำใส่ปากพลางจิ้มไก่ย่างจากรสมือของสาวสวมฮิญาบที่รัวสากเป็น ระวิงอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย กับแม่ค้าวัยกลางคนข้างๆ ที่ยืนย่างไก่หน้ามันอยู่ใกล้เตา

เป็นอาหารมื้อค่ำเคล้าบรรยากาศอันน่าอภิรมย์และผสมผสานวัฒนธรรมอย่างน่า อัศจรรย์ใจ และคงแทบไม่มีใครเชื่อว่าภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้านี้คือปัตตานี...ดินแดนที่ ถูกแต้มสีแดงในการรับรู้ของคนไทยเกือบทั้งประเทศจากข่าวสารที่รายงานแต่ เสียงปืนและระเบิดไม่เว้นแต่ละวัน

ดอกไม้หลากสี

เคยมีคนบอกว่าถ้าปัตตานีไม่มีความรุนแรง จะเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเมืองหนึ่งเลยทีเดียว เพราะถัดจากถนนเลียบแม่น้ำสายนี้ไปอีกไม่ไกล ข้ามสะพานลึกเข้าไปจะเป็นย่าน "จะบังติกอ" วังเก่าของเจ้าเมืองมุสลิม

แต่หากถอยหลังมาแถวชุมชนริมแม่น้ำ จะเป็นย่านของชาวจีน มีศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นศูนย์กลาง

เมื่อเลี้ยวรถพ้นจากเขตเมืองไปเล็กน้อยก็จะได้เห็นมัสยิดกรือเซะ...ศาสน สถานเก่าแก่ทรงคุณค่าของอิสลามตั้งตระหง่านอยู่ใกล้ๆ กับสุสานเจ้าแม่ที่มีตำนานเล่าขานสืบกันมา

และถ้าหมุนพวงมาลัยกลับรถตรงหน้ามัสยิดแล้วขับรถย้อนไปแค่ไม่ทันรู้สึก ว่าไกล ก็จะได้นมัสการ "หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" แห่งวัดช้างให้

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เคยพูดถึงจุดเด่นของปัตตานีเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เป็นเมืองที่มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพสักการะและเป็นสัญลักษณ์ ของผู้คนต่างความเชื่อถึง 3 สิ่งด้วยกัน คือมัสยิดกรือเซะ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และวัดช้างให้ ซึ่งหาได้ยากนักที่จะมีดินแดนแห่งใดมีประวัติศาสตร์และดำรงความหลากหลายทาง วัฒนธรรมได้เช่นนี้

และนั่นนำมาสู่ทฤษฎี "ดอกไม้หลากสี" เพื่อดับไฟใต้สไตล์ "บิ๊กจิ๋ว"

ขณะที่ นภดล ทิพยรัตน์ แห่งสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เคยอธิบายเอาไว้ว่า การขยายตัวของเมืองปัตตานีจะมีอยู่ 2 โซน คือฝั่งที่ตั้งของ ม.อ.จะอยู่โซนเดียวกับโรงพยาบาล ศาลากลางจังหวัด เป็นเมืองที่ขยายใหม่ ขณะที่เมืองเก่าจะอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ

ย่านเมืองเก่าจะมีถนนที่มีความสำคัญ 2 สาย คือ "ถนนฤดี" กับ "ถนนอาเนาะรู" อันเป็นย่านชุมชนเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยอดีต เป็นแหล่งรวมของธุรกิจการค้ามาแต่โบราณ จุดได้เปรียบของทำเลคือจะมีปากทางของถนนอยู่ติดแม่น้ำปัตตานีทั้ง 2 สาย ซึ่งแต่ก่อนเป็นที่ตั้งของท่าเรือขนถ่ายสินค้า และท่าเรือประมง ถือเป็นย่านการค้าที่สำคัญมาก

ถนนอาเนาะรูปัจจุบันยังมี "บ้านเลขที่ 1" ของปัตตานี รวมทั้งบ้านทรงจีนโบราณให้คนต่างถิ่นได้เรียนรู้ ซึมซับวิถีชีวิตชาวจีนในปัตตานี และยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวซึ่งมีความผูกพันกับประวัติ ศาสตร์เมืองปัตตานีอีกด้วย

บรรพบุรุษชาวจีน

ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของปัตตานี ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีสาเหตุหลักมาจากการเป็น "เมืองท่า" ที่สำคัญมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล ดินแดนแห่งนี้จึงกลายเป็นแหล่งรวมของผู้คนต่างภาษา ศาสนา และชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมาเนิ่นนาน

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่กี่ปีหลังนี้หรอก ที่ทำให้ภาพของปัตตานีแปรเปลี่ยนไป...

เมื่อพูดถึงเมืองท่า ก็ต้องนึกถึงการค้าขาย เมื่อพูดถึงการค้าขาย ก็ต้องนึกถึง "ชาวจีน" ที่ล่องเรือสำเภาไปทั่วทุกดินแดน

และปัตตานีก็คือปลายทางหนึ่งของพ่อค้าชาวจีนในยุคนั้น เพราะนอกจากจะเป็นเมืองท่าแล้ว อ่าวปัตตานียังเป็นสถานที่หลบลมมรสุมชั้นดีอีกด้วย

ประยูรเดช คณานุรักษ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปัตตานี คือหนึ่งในลูกหลานชาวจีนที่บรรพบุรุษของเขามาลงหลักปักฐานที่เมืองท่าแห่ง นี้ตั้งแต่สมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 และทำมาหากินมีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมืองมาจนถึงปัจจุบัน

"เมื่อปี พ.ศ.2364 ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 3 บรรพบุรุษของผมคือ ตันจงสิ่น ต้นตระกูลแซ่ตัน ซึ่งเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน เดินทางด้วยเรือสำเภามาจากเมืองจีน เมื่อทราบว่าเจ้าเมืองสงขลาเป็นจีนฮกเกี้ยนเหมือนกัน จึงล่องสำเภามาที่สงขลา และได้ทำงานจนเป็นที่ไว้วางใจของเจ้าเมืองสงขลา กระทั่งได้เป็นนายด่านภาษีที่ปัตตานี ดูแลและเก็บภาษีคนจีนในตลาดจีนที่อาเนาะรู (ตำบลหนึ่งของอำเภอเมืองปัตตานีปัจจุบัน) จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นหลวงสำเร็จกิจกร จางวางเมืองปัตตานี" ประยูรเดช ย้อนอดีตให้ฟัง

เขาเล่าต่อว่า เมื่อตันจงสิ่นมีลูก ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์อีกหลายคน และคนที่ดูแลคนจีนในพื้นที่มาตลอดคือ "พระจีนคณานุรักษ์" ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์จาก "หลวงจีน" ขึ้นเป็น "พระจีน" หรือ "กัปตันจีน"

งานที่พระจีนคณานุรักษ์รับผิดชอบคือเก็บภาษีจากคนจีนส่งไปยังเมืองหลวง และเป็นผู้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนจีนกับมุสลิมในพื้นที่ รวมถึงรัฐบาลกลาง

"ปัตตานีสมัยนั้น คนไทยมีจำนวนน้อย เมืองยังเล็กอยู่ มีประชากรที่เป็นอิสลามราว 2,000 คน พุทธ 200 คน และคนจีน 600 คน เนื่องจากอิสลามมีมากจึงทำให้คนจีนและคนไทยเป็นคนส่วนน้อย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่าง กลับมีความกลมกลืนทั้งสามเชื้อสาย ได้ทำมาค้าขายร่วมกัน มีอะไรก็แบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอด

"คนจีนชอบทำการค้า จึงสามารถเก็บภาษีไปช่วยรัฐได้มาก มีบันทึกเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ 5 ระบุว่า กัปตันจีนได้เฝ้ารับเสด็จฯ พร้อมเจ้าเมืองปัตตานี หลังจากนั้นลูกหลานได้สืบตระกูลมาเป็นขุนและเป็นหลวงอีกหลายคน ได้รับพระราชทานสิทธิสัมปทานทำเหมืองแร่ดีบุกที่ตำบลถ้ำทะลุ อ.บันนังสตา จ.ยะลา จำนวนหลายพันไร่ด้วย และดำเนินกิจการสืบทอดมาหลายชั่วอายุคนจนถึงหลาน เพิ่งเลิกทำไปสมัยปู่ของผมซึ่งเป็นลูกของพระจีนคือ ขุนจำเริญภักดี"

การทำเหมืองในสมัยนั้นมีทั้งแร่ทองคำและดีบุก สายแร่ทองคำจะพบมากที่เมืองระแงะ และโต๊ะโม๊ะ ปัจจุบันคือจังหวัดนราธิวาส ส่วนสายแร่ดีบุกจะอยู่แถวยะหริ่ง สายบุรี (จังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน) ไปจนถึงบันนังสตา แถวถ้ำทะลุ (จังหวัดยะลา) เหมืองแร่ดีบุกที่ทำกันสมัยนั้นมีทั้งหมด 6 แห่ง มีชื่อว่าเหมืองปิดะ เหมืองลาบู เหมืองใหม่ เหมืองบายอ (บายอบน และบายอล่าง) เหมืองบาแระ และเหมืองบูลัน

ผสมผสานวัฒนธรรม

ในสมัยของ "พระจีน" ถือว่าเป็นยุคที่คนจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนมุสลิมมากที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ "พระจีน" มีความสนิทสนมกับ "ตนกูสุไลมาน" เจ้าเมืองปัตตานีในสมัยนั้น จนได้มีส่วนร่วมสร้างวังที่จะบังติกอ โดยพระจีนได้นำช่างและวัสดุไปช่วยสร้างวัง

"หากสังเกตดีๆ จะเห็นกำแพงวังจะบังติกอคล้ายๆ กับกำแพงบ้านคนจีน และช่างของพระจีนยังร่วมสร้างวัดท้ายตลาด (วัดสำคัญแห่งหนึ่งในปัตตานีปัจจุบัน) ด้วย ซึ่งถ้าไปดูวันนี้ก็จะเห็นมีตุ๊กตาจีนติดกับกำแพงวัด ยังเหลือร่องรอยอยู่หลายตัวเหมือนกัน" ประยูรเดช บอก

และด้วยความที่คนจีนกับคนพุทธมีน้อย แต่คนอิสลามมีมาก การทำมาค้าขายจึงผสมผสานกันบ้าง มีหลายกิจการที่คนจีนเป็นนายจ้าง คนพุทธกับมุสลิมเป็นลูกจ้าง และก็มีอีกหลายกิจการที่คนมุสลิมเป็นนายจ้าง โดยที่มีคนจีนเป็นลูกจ้าง

"จากที่ปู่ย่าตายายเคยเล่าให้ฟัง คนทุกศาสนาจะช่วยงานกันมาตลอด ทำให้ทั้งคนพุทธ มุสลิม และจีนมีความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้น ทุกครั้งเมื่อเพื่อนที่เป็นอิสลามมีงานเลี้ยง อย่างเช่นแถวๆ มัสยิดกรือแซะ คนจีนและคนพุทธก็จะพากันไปขายของบ้าง ไปร่วมงานรื่นเริงบ้าง พอคนจีนมีงานแถวศาลเจ้าแม่ฯ คนอิสลามก็จะแห่มาร่วมงานและค้าขาย การผสมผสานทางวัฒนธรรมยังมีมาจนถึงทุกวันนี้ สังเกตได้เวลามีงาน ของที่มาขายโดยเฉพาะอาหารจะมีทั้งสามวัฒนธรรม ทั้งอาหารมุสลิม จีน และพุทธ"

สัมพันธ์ข้ามศาสนา

หากลองไปถามคนปัตตานีรุ่นปู่รุ่นย่า หรือรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่วัยเกินห้าสิบขึ้นไป จะพบว่าแต่ละคนล้วนมีเพื่อนต่างศาสนาร่วมเรียนร่วมเล่นและคบหากันมาตั้งแต่ เด็กๆ โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนที่ตั้งบ้านเรือนทำมาค้าขายอยู่ในตัวเมืองปัตตานี

"สมัยผมเด็กๆ ด้วยความซุกซน ผมก็มักจะแอบเอาผลไม้ที่ศาลเจ้าไปให้เพื่อนที่เป็นพุทธและอิสลามกิน พวกเราก็กินกันอย่างนี้ทุกวัน ไปเที่ยวค่ำมืดดึกดื่น ไปไหนก็ไปด้วยกัน หิวเมื่อไหร่เราก็กินได้ทุกที่ จนถึงตอนนี้เราก็ยังมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นไม่ต่างจากอดีต" ประยูรเดช เล่า

"ครอบครัวผมเป็นลูกหลานพระจีนสายคณานุรักษ์ ตั้งรกรากอยู่ที่ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ ทำสวนยางมานาน โดยมีพี่น้องมุสลิมมาช่วยทำงานในสวนตั้งแต่ผมเป็นเด็ก ผมมีเพื่อนมุสลิมมากกว่าเพื่อนคนจีนหรือพุทธด้วยซ้ำ"


ไม่ใช่แค่มิตรภาพที่อยู่เหนือความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรม ทว่าความรักก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้มิตรภาพ

ในบันทึกของตระกูลคณานุรักษ์ มีหลายตอนที่เขียนเล่าถึงการไปมาหาสู่กันระหว่างชาวเมืองปัตตานีที่เป็น มุสลิมกับชาวจีน ตอนนั้นคนจีนจะอยู่แถวอาเนาะรูและริมแม่น้ำ ส่วนมุสลิมจะอยู่แถวจะบังติกอ

"คนในตระกูลบางสายได้แต่งงานกับมุสลิม บางคนก็แต่งงานกับชาวคริสต์หรือพุทธด้วยกัน ปัจจุบันสืบทอดมาถึงสิบชั้น แบ่งเป็น 8 สาย ที่ชัดเจนมี 5 นามสกุลคือ คณานุรักษ์ ตันธนวัฒน์ โกวิทยา วัฒนายากร และกาญจนบุตร กระจายไปอยู่กรุงเทพฯ จังหวัดอื่นๆ ในเกือบทุกภาค รวมทั้งในต่างประเทศ รวมแล้วเป็นพันคน มีการพบปะคนในตระกูลกันเป็นประเพณีปีละครั้งที่กรุงเทพฯ" ประยูรเดช บอก

มิตรภาพเหนือความรุนแรง

แม้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะดำรงอยู่มานานร่วม 6 ปี กระทั่งทำลายสิ่งดีๆ หลายอย่างในดินแดนแห่งนี้จนแทบมลายหายสิ้นไป แต่ความรุนแรงนั้นก็มิอาจทำลายมิตรภาพของคนรุ่นเก่าๆ ให้ขาดสะบั้นลงได้

"เพื่อนๆ ผมที่เรียนหนังสือกันมา คบหาเป็นเพื่อนกันมา ก็ยังเป็นเพื่อนกันจนถึงทุกวันนี้ มีนัดทานข้าวกันทุกเดือน ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ ด้วยกัน เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน เปลี่ยนไป" ประยูรเดช ย้ำเสียงหนักแน่น

ไม่เฉพาะแค่ความรุนแรง แต่สนามการเมืองที่ ประยูรเดช ลงไปสัมผัส ก็ไม่ได้สร้างอุปสรรคให้กับมิตรภาพ

"วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ เราสัมผัสมาตั้งแต่เด็กๆ เราไปร่วมงานของมุสลิมตลอดและมีความสัมพันธ์กันด้วยดี เมื่อผมมาทำงานในสายการเมืองที่ต้องลงไปทุกพื้นที่ ก็ไปอย่างเปิดเผยและจริงใจ"

การเคารพความแตกต่าง และให้เกียรติในวิถีชีวิตของบุคคลอื่น คือจุดเริ่มต้นของสันติภาพที่จริงแท้ในความคิดของเขา

"ความแตกต่างในเรื่องวิถีชีวิต ความเชื่อ และความศรัทธา ผมมองว่าไม่ใช่เครื่องสร้างความแตกแยก ผมมองว่าวิถีชีวิตของคนในพื้นที่หากมีความเข้าใจซึ่งกันและกันจะไม่เกิด ปัญหา ไม่พูดจาด้วยความดูถูกดูแคลน และต้องให้เกียรติกัน เพราะศักดิ์ศรีและเกียรติยศเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าสิ่งของหรือเงินทอง หากทุกคนได้เรียนรู้ความต่าง และทำความเข้าใจกับมัน ก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

"อย่างคนจีนนับถือเทพเจ้า มุสลิมศรัทธาในพระเจ้า คนพุทธก็ไปวัดไหว้พระ ไม่ว่าใครจะเป็นอย่างไรก็ต้องให้เกียรติกัน ไม่ดูถูกความเชื่อและศรัทธาของผู้อื่น เรียนรู้ในความแตกต่างและมีจุดยืนของแต่ละคน ถ้าคิดได้อย่างนี้ก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้ดีเหมือนเมื่อก่อน และผมอยากให้สิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่ตลอดไป"

อย่างไรก็ดี การที่สายสัมพันธ์ของคนรุ่นหลังไม่เหนียวแน่นแบบคนรุ่นก่อน จนกลายเป็นความหวาดระแวงแตกแยกไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ประยูรเดช มองว่า ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะคนรุ่นหลังไม่ค่อยมีเพื่อนต่างศาสนิกที่เรียนหรือทำ กิจกรรมร่วมกัน จึงอาจไม่เข้าใจหรือเข้าใจผู้อื่นผิดไป

"ผมอยากให้มีกิจกรรมที่คนจากทุกศาสนาได้ทำร่วมกัน อาจเป็นกิจกรรมพื้นฐานธรรมดาๆ เช่น กินข้าว หรือดื่มน้ำชากาแฟแล้วพูดคุยกัน โดยจัดอย่างต่อเนื่องและกระจายไปทุกระดับ เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้พอสมควร" ประยูรเดช เสนอ

...............................................

ฟ้ามืดสนิทแล้ว วงอาหารริมแม่น้ำปัตตานีถึงเวลาเลิกรา แต่สายสัมพันธ์ของผู้คนต่างศาสนาไม่จำเป็นต้องเลิกตาม...หากประตูของหัวใจ ยังคงเปิดเข้าหากัน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook