''สารทเดือนสิบ'' งานบุญยิ่งใหญ่ของปักษ์ใต้

''สารทเดือนสิบ'' งานบุญยิ่งใหญ่ของปักษ์ใต้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ประเพณีบุญเดือนสิบ หรือที่คนใต้เรียก งานสารทเดือนสิบ เกิดขึ้นจากความเชื่อในขนบธรรมเนียมประเพณีนิยม สืบทอดแนวคิดจาก อินเดีย ที่ว่า บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ยังต้องใช้เวรกรรมอยู่ในยมโลก และจะกลับมาเยี่ยมญาติหรือครอบครัวของตนในช่วงแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ถึง แรม 15 ค่ำ ซึ่งทำให้เกิดมีการทำบุญทำทานอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

ประเพณีบุญเดือนสิบ นี้ไม่ได้มีขึ้นเฉพาะใน จ.นครศรีธรรมราช จังหวัดทางภาคใต้เท่านั้น แต่ยังมีทำกันในจังหวัดทางภาคเหนือ และภาคอีสานอีกด้วย และจะมีชื่อเรียกต่างกัน ในภาคอีสานจะเรียกว่า งานบุญข้าวสาก และ งานบุญตานก๋วยสลาก

ด้าน พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ นายกสมาคมชาวปักษ์ใต้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ประเพณีงาน สารทเดือนสิบ เป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของชาวปักษ์ใต้ เป็นงานบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วที่ยังมีกรรม และต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในอบายภูมิ ซึ่งในวันสารทเดือนสิบของทุกปี บรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย ต่างมีความเชื่อมาตั้งแต่เก่าก่อนว่า ยมบาลจะปลดปล่อยให้เหล่าวิญญาณออกมาเยี่ยมลูกหลาน เพื่อมารับส่วนบุญส่วนกุศลที่บรรดาลูกหลาน ญาติพี่น้องทำบุญให้ มีเพียงปีละครั้งเท่านั้น ในวันแรม 14 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งจะอยู่ช่วงประมาณปลายเดือนกันยายน หรือ ต้นเดือนตุลาคม และเมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 เหล่าวิญญาณนี้ก็ต้องกลับไปชดใช้กรรมตามเดิม จนกว่าจะหมดเวรหมดกรรมต่อไป

เทศกาลงานบุญสารทเดือนสิบ จะเริ่มตั้งแต่วันแรม 13 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า วันจ่าย พ่อค้าแม่ค้าจะนำของมาขายที่ตลาดทุกหนแห่ง และจะคลาคล่ำไปด้วยฝูงชนผู้ใจบุญออกมาจับจ่ายซื้อของ เพื่อเอาไปจัด หมรับ โดยจะต้องใส่พืชผักผลไม้ และที่สำคัญที่สุดและเป็นหัวใจหลัก คือ ต้องมีขนมเดือนสิบคือ ขนมพอง ขนมบ้า ขนมดีซัม ขนมลา และ ขนมกง ซึ่งขนมทั้ง 5 ชนิดนี้จะมีความหมายแตกต่างกัน คือ

ขนมลา เปรียบเสมือนเสื้อผ้าเพื่อให้ผู้ตายสวมใส่ในนรกภูมิ

ขนมพอง เปรียบเสมือนแพให้ผู้ตายใช้เป็นพาหนะข้ามห้วยแห่งทุกข์และบาปหรือเวรกรรมต่าง ๆ

ขนมบ้า เปรียบเสมือนการละเล่นที่ให้ผู้ตายเล่น เช่น สะบ้า

ขนมดีซัม เปรียบเสมือนเบี้ยหรือเงินที่ให้ผู้ตายใช้ในระหว่างใช้เวรกรรมในนรกภูมิ

ขนมกง เปรียบเสมือนเครื่องทรงหรือเครื่องประดับเพื่อให้ดูภูมิฐานและสวยงาม

ขณะที่ วันแรม 14 ค่ำ เป็นวัน ยกหมรับ ไปถวายวัด มีการตกแต่งกันอย่างสวยงามตามฐานะของแต่ละคน หรือหมู่คณะ มีขบวนแห่กันครึกครื้น สวยงาม มีการประกวดหมรับ เพื่อชิงรางวัล ถือเป็นงานประเพณีประจำปีอันยิ่งใหญ่ทีเดียวในประเทศไทย

ส่วนวันแรม 15 ค่ำ วันทำบุญวันสุดท้าย เมื่อถวายเพลพระและบังสุกุลเสร็จแล้ว ก็จะเอาขนมเดือนสิบไปวางไว้ตามต้นไม้ หรือกำแพงวัด แต่บางวัดได้จัดที่วางไว้ให้โดยเฉพาะ เรียกว่าการตั้้พวกผีไม่มีญาติได้กิน หลังจากการตั้งเปรตและอุทิศส่วนกุศลแล้ว บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปแย่งชิงขนมเหล่านั้นได้ เรียกว่า ชิงเปรต ซึ่งเป็นไฮไลต์ของงานประเพณีอันยาวนานของคนใต้

สำหรับ สมาคมชาวปักษ์ใต้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังมุ่งมั่นจัดงานสืบสานประเพณีบรรพบุรุษคนใต้ ให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงประวัติอันยาวนานของรากเหง้า วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ด้วยการรังสรรค์ จัดงานสารทเดือนสิบ ในระหว่าง วันที่ 16-20 กันยายนนี้ ที่สมาคมชาวปักษ์ใต้ ถนนกาญจนาภิเษก ย่านตลิ่งชัน โดยจะมีพิธีทำบุญถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 100 รูป เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ ภายในงานยังมีการอนุโมทนาปัจจัยพุ่ม ผ้าป่าจาก 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อนำปัจจัยไปบริจาคช่วยสาธารณกุศลในภาคใต้ และมีพิธีแห่หมรับ ชิงเปรต

ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีภูมิลำเนาในภาคใต้ แต่ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านเพื่อไปทำบุญ ได้มาร่วมกับบุญยิ่งใหญ่ของคนใต้ใน กรุงเทพมหานคร ที่มีวัฒนธรรมคล้ายกับพื้นบ้านเดิม นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองภาคใต้ สินค้าโอทอป และลิ้มลองอาหารปักษ์ใต้รสชาติ หร้อยจังหู้ ชมการแสดงมหรสพ หนังตะลุง มโนราห์ และศิลปินลูกหลานคนใต้

ข้อมูล งานเดือนสิบ เริ่มจัดครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2466 ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ภายหลังจึงถือปฏิบัติสืบเนื่องมาเป็นประจำทุกปี จนปัจจุบัน ประกอบด้วยวันสำคัญหลัก ๆ 3 วัน คือ

1. วันจ่าย แรม 13 ค่ำ เป็นวันที่ชาวนครฯจะจัดหาและซื้อสิ่งของต่าง ๆ เพื่อการจัด หฺมฺรับ (อ่านว่า หมับ มาจาก สำรับ) ของที่ ซื้อมาใส่จะมีอาหารคาว หวาน ผัก ผลไม้ ส่วนใหญ่เป็นของแห้งเก็บไว้ได้นาน ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมัน ไม้ขีดไฟ ธูป เทียน ยาสามัญประจำบ้าน รวมถึงหมาก พลู ปูน ยาเส้น ฯลฯ

2. วันหมรับ เล็กหรือวันยกหมรับ แรม 14 ค่ำ เป็นวันที่ผู้คนจะนำหมรับและอาหาร ไปวัดถวายแด่พระสงฆ์ มีการจัดขบวนแห่ มีดนตรีนำหน้าขบวน นอกจากนี้มีการนำอาหารและขนมเดือนสิบ ตามประเพณีโบราณ รวมทั้งเงินหรือเหรียญสตางค์ไปวางตามที่ต่าง ๆ เช่น ริมกำแพงวัด โคนต้นไม้ เพื่อแผ่ส่วนกุศลอุทิศแก่ผู้ล่วงลับที่ปราศจากญาติ หรือญาติที่ไม่ได้มาร่วมทำบุญในวันนี้ เรียกว่า ตั้งเปรต หรือ หลาเปรต (ศาลาเปรต) หลังจากตั้งเปรตแล้ว เริ่มพิธีกรรมสงฆ์ พระสงฆ์จะสวดบังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ที่ล่วงลับ จากนั้นชาวบ้านที่ยากจนหรือเด็ก ๆ จะวิ่งเข้าไปแย่งขนม อาหาร ที่ตั้งเปรตบ้างก็ถือว่าได้บุญ บ้างถือเป็นเรื่องสนุก เรียกว่า การชิงเปรต

3. วันสารท แรม 15 ค่ำ เป็นวันที่ประชาชนจะนำอาหารไปถวายพระสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำบุญฉลอง หฺมฺรับ ที่จัดไป วันนี้เรียกว่า วันหลองหมรับ (วันฉลองหมรับ) ถือว่าเป็นวันหมรับใหญ่

กิจกรรมที่กระทำในวันนี้ มีการทำบุญเลี้ยงพระและบังสุกุล เพื่ออุทิศสุศลให้แก่ญาติพี่น้องและผู้อื่นที่ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญวันนี้ ถือเป็นการทำบุญที่สำคัญ เพราะถือว่าเป็นวันส่งญาติพี่น้อง และผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว กลับสู่เมืองนรก ชาวบ้านเรียกวันนี้ว่า วันส่งตายาย การทำบุญวันนี้เพื่อบรรพบุรุษจะได้ไม่ อดอยากหิวโหยเมื่อกลับสู่นรก ถ้าลูกหลานไม่ทำบุญในวันส่งตายายนี้ จะถูกถือว่าเป็นคนอกตัญญู

การจัดหมรับไปทำบุญที่วัดนั้น จะประกอบไปด้วยขนมที่มีลักษณะพิเศษ 5 อย่าง ได้แก่ ขนมลา เปรียบเสมือนแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม ขนมพอง เปรียบเสมือนเป็นยานพาหนะให้ผู้ล่วงลับได้ใช้เป็นแพข้ามสู่ภพภูมิใหม่ ขนมกง อุทิศเป็นเครื่องประดับ ขนมดีซัม อุทิศเป็นเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย ขนมบ้าสำหรับวิญญาณผู้ล่วงลับจะได้ใช้เล่นสะบ้าในวันสงกรานต์.

ประเพณีชิงเปรต

ชิงเปรต เป็นประเพณีของภาคใต้ที่กระทำกันในวันสารท เดือน 10 เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว การชิงเปรตที่ปฏิบัติกันในประเพณีสารทเดือน 10 นี้ มีลักษณะคล้ายกับการทิ้งกระจาดของจีน กล่าวคือการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี (เปรต) ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเอง และที่ไม่มีญาติด้วย นอกจากนี้วิธีการปฏิบัติในการทิ้งกระจาดและการชิงเปรตก็แตกต่างกันด้วย

ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้ยืนยันว่าการชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการทำบุญด้วยซ้ำไป เพราะเชื่อว่าบุตรหลานของเปรตตนใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนนั้น เพียงแต่ว่าผู้ชิงต้องระมัดระวังในการที่อาหารหรือขนมที่ตั้งเปรตอาจตกหล่นลงพื้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสกปรกและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น การทำบุญวันสารท เดือน 10 กำหนดทำ 2 ครั้ง คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 โดยเชื่อว่า วันแรม 1 ค่ำ เป็นวันที่ยมบาลปล่อยให้เปรต หรือเปรตชนขึ้นมาเยี่ยมลูกหลาน ลูกหลาน ก็จะทำบุญเลี้ยงต้อนรับ เมื่อถึงวันแรม 15 ค่ำ ก็ถือว่าเป็นวันที่ปู่ย่าตายายต้องกลับยมโลก ลูกหลานก็ทำบุญเลี้ยงส่งอีกครั้งหนึ่ง.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook